กรณีศึกษา Dropbox ธุรกิจรับฝากข้อมูล ที่ขาดทุนต่อเนื่อง

กรณีศึกษา Dropbox ธุรกิจรับฝากข้อมูล ที่ขาดทุนต่อเนื่อง

7 ต.ค. 2020
หากพูดถึงธุรกิจรับฝากข้อมูลออนไลน์ หรือบริการคลาวด์
คงจะนึกถึง iCloud, Google Cloud
และหนึ่งผู้เล่นในธุรกิจนี้ ก็คือ “Dropbox”
แล้ว Dropbox คือใคร ?
Dropbox คือ บริการพื้นที่รับฝากข้อมูลออนไลน์
ผู้ใช้งานสามารถจัดเก็บ และแบ่งปันข้อมูลกับคนอื่น
ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต
รู้ไหมว่า Dropbox เคยมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 511,000 ล้านบาท
และได้รับความสนใจจากนักลงทุนไม่น้อย
แต่ในวันนี้ Dropbox กลับมีมูลค่าบริษัทเหลือเพียง 249,000 ล้านบาท หรือมูลค่าหายไปกว่า 51%
และเป็นบริษัทที่ยังคงขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ดูเหมือนว่า Dropbox จะรักษาฐานผู้ใช้งานเดิม
รวมถึงแย่งผู้ใช้งานใหม่ จากคู่แข่งรายอื่นได้ลำบาก
อะไรคือสาเหตุ ที่ทำให้ผู้ให้บริการพื้นที่เก็บข้อมูลรายนี้
ไม่สามารถทำกำไร และไม่สามารถดึงผู้ใช้งานไว้กับตัวเองได้ ?
หนึ่งเหตุผลของเรื่องนี้
คือการที่ Dropbox ไม่มีการสร้าง “Ecosystem”
ถ้าให้อธิบายคำว่า Ecosystem ง่ายๆ
ก็คือ การออกแบบระบบนิเวศของธุรกิจ
เพื่อให้ลูกค้ายังคงใช้บริการในธุรกิจนั้นได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งก็หมายความว่า
ธุรกิจไหนที่ทำให้ลูกค้าหรือผู้ใช้งาน สามารถทำทุกอย่างให้ครบจบในที่เดียวได้
ก็ย่อมมีโอกาสดึงผู้ใช้งานไว้ได้มากเช่นกัน
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญ
ที่ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี
ต่างลงทุนเพื่อสร้าง Ecosystem ของตัวเองให้แข็งแกร่ง
เพื่อให้แบรนด์ของตัวเองได้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานมากที่สุด
ยกตัวอย่างบริษัทเทคโนโลยี
ที่ให้บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลคล้ายกับ Dropbox
Google
มีผลิตภัณฑ์ในเครือ เช่น Gmail, Google Doc, Google Sheet
ที่ช่วยส่งเสริมให้มีการใช้งาน Google Drive บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลของ Google
โดยปี 2019 Google มีบัญชีผู้ใช้งานอยู่ที่ 1,800 ล้านคน ทั่วโลก
Apple
มีผลิตภัณฑ์ในเครือ เช่น iPhone, iPad, MacBook
ที่ช่วยส่งเสริมให้มีการใช้งาน iCloud บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลของ Apple
โดยปี 2019 Apple มีบัญชีผู้ใช้งานอยู่ที่ 1,400 ล้านคน ทั่วโลก
Microsoft
มีผลิตภัณฑ์ในเครือ เช่น Outlook, Office 365
ที่ช่วยส่งเสริมให้มีการใช้งาน One Drive บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลของ Microsoft
โดยปี 2019 Microsoft มีผู้ใช้งานอยู่ที่ 200 ล้านคน ทั่วโลก
ขณะที่ Dropbox จะใช้วิธีการที่ต่างออกไป
คือ การไปเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทอื่นๆ
อย่างเช่น จับมือกับ Slack, Zoom, Microsoft
มากกว่าการสร้าง Ecosystem เป็นของตัวเอง
โดยปี 2019 Dropbox มีผู้ใช้งานอยู่ที่ 14 ล้านคน ทั่วโลก
ซึ่งถือว่ายังมีฐานผู้ใช้งานที่น้อยกว่า บริษัทอื่นที่ให้บริการรับฝากข้อมูลมาก
และ Dropbox ยังประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากรายได้ที่เข้ามา ยังไม่สามารถครอบคลุมกับต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่เสียไป
ปี 2017 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 3,500 ล้านบาท
ปี 2018 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 15,300 ล้านบาท
ปี 2019 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 2,500 ล้านบาท
จากเรื่องนี้ เราจะเห็นว่า
Ecosystem คือส่วนที่สำคัญ ที่ส่งผลต่อจำนวนผู้ใช้งานของธุรกิจรับฝากข้อมูล
เพราะถ้าลองคิดว่าเราเป็นผู้ใช้งานเอง
เราก็คงอยากจะใช้บริการแพลตฟอร์มที่มีบริการต่างๆ ครบวงจรในที่เดียว
และเรื่องนี้ ก็คือจุดอ่อนของ Dropbox นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.