ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ ปีนี้จะโต 19% แต่โตแบบชะลอตัวลง ปัญหาโรคระบาดรุนแรง ทำการจัดส่งสินค้าติดขัด - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ ปีนี้จะโต 19% แต่โตแบบชะลอตัวลง ปัญหาโรคระบาดรุนแรง ทำการจัดส่งสินค้าติดขัด - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

4 ส.ค. 2021
ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ หรือ Last-mile delivery เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ขยายตัว ตามการเติบโตของธุรกิจ E-commerce โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด ที่ผู้บริโภคงดทำกิจกรรมนอกบ้าน
ส่งผลให้หันมาซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์กันมากขึ้น จึงหนุนให้ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ มีแนวโน้มเติบโตตาม
อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้น จนทำให้ปัจจุบัน มีพนักงานขนส่งสินค้าออนไลน์ของหลายบริษัท และในหลายพื้นที่ติดเชื้อโควิด โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี อยุธยา ชลบุรี
ประกอบกับการขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไป อีกอย่างน้อย 14 วัน ในเดือนสิงหาคม 2564 (อาจมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนมาตรการอีกครั้ง)
จนส่งผลให้ศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญในบางพื้นที่ รวมถึงสาขาที่รับ-ส่งสินค้าบางแห่ง ทั้งที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าและนอกห้างสรรพสินค้า ต้องปิดทำการชั่วคราว
ในขณะที่บางสาขาที่ ยังคงเปิดให้บริการได้นั้น ก็ได้รับผลกระทบเนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่ปลายทางที่นานขึ้นกว่าช่วงปกติ
ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ อาจได้รับผลกระทบ และทำให้การจัดส่งสินค้าออนไลน์ติดขัดเป็นการชั่วคราว ประกอบกับการแข่งขันของธุรกิจที่รุนแรงขึ้น
โดยเฉพาะการแข่งขันเรื่องราคาค่าขนส่งสินค้า ก็อาจทำให้ธุรกิจขนส่งในภาพรวมปีนี้ แม้คาดว่ารายได้จะยังคงเติบโต แต่ก็เผชิญความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ
โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เมื่อระบบการจัดส่งสินค้าของธุรกิจ Last-mile delivery ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ E-commerce มีปัญหา ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารหรือของกิน (Food) ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด อาหารแห้ง ผัก ผลไม้
ซึ่งถือเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็น ที่คาดว่าผู้บริโภคน่าจะยังคงมีการวางแผนใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นในช่วงที่โควิดระบาด
แต่เมื่อขนส่งไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ หรือใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ รวมถึงยานพาหนะที่ใช้ในการจัดส่งสินค้ากลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้เอื้อต่อการจัดเก็บหรือควบคุมคุณภาพได้นาน สินค้ามีความเน่าเสียได้ง่าย จึงทำให้ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างมาก
จนผู้ประกอบการบางราย บางพื้นที่ ต้องงดรับการจัดส่งสินค้าในกลุ่มนี้เป็นการชั่วคราว
ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food) หรือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ของตกแต่งบ้าน เนื่องจากยอดขายได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดตัว และใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้
ดังนั้น สถานการณ์ดังกล่าว ก็อาจจะกระทบต่อการจัดส่งสินค้ากลุ่มนี้ในระดับที่น้อยกว่า หรือหากมีคำสั่งซื้อมองว่า ผู้บริโภคบางราย ก็อาจจะรอสินค้าได้
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าว น่าจะเป็นปัญหาชั่วคราว และจากการเร่งแก้ปัญหาและการปรับตัวของผู้ประกอบการ ส่งผลให้สาขาในบางพื้นที่ที่ปิดทำการชั่วคราว เริ่มกลับมาเปิดทำการได้บ้าง แต่ยังคงต้องรอสินค้าที่นานกว่าช่วงปกติ
2) แม้ว่าการระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งสินค้าให้หยุดชะงักลง เป็นการชั่วคราวใน บางพื้นที่
แต่เนื่องจากผู้บริโภคยังคงกังวลกับการออกไปใช้จ่ายหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน การประกาศล็อกดาวน์ของภาครัฐ อีกทั้งผู้ประกอบการ E-commerce มีการอัดโปรโมชันกันอย่างต่อเนื่อง
จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ในปัจจุบัน ที่แข่งขันกันรุนแรงจากจำนวนผู้เล่นในตลาดมากราย
โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาค่าขนส่ง ของผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ต้องปรับตัวตาม
และท้ายที่สุด หากผู้ประกอบการรายใด ไม่สามารถแบกรับหรือบริหารจัดการต้นทุนได้ ก็อาจจะเผชิญการแข่งขันที่ยากลำบากขึ้น
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แม้ว่ารายได้ของธุรกิจจัดส่งสินค้าออนไลน์ (Last-mile delivery) ในปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 71,800 ล้านบาท ขยายตัว 19.0%
ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า ที่ขยายตัวถึง 31.3%
แต่หากพิจารณาในส่วนของต้นทุนในการบริหารจัดการ คาดว่าน่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
โดยเฉพาะต้นทุนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการโควิด เพื่อสร้างความปลอดภัย และความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและพนักงาน
ต้นทุนจากการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น (ทดแทนพนักงานที่ติดโควิด และรองรับกับคำสั่งซื้อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น) รวมถึงต้นทุนในการบริหารจัดการเส้นทางการส่งสินค้าใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางเดิมที่มีปัญหา
ในขณะที่ต้องลดราคาค่าขนส่งให้ถูกลง เพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้
จึงมีความเป็นไปได้ว่าผลประกอบการของผู้ประกอบการบางรายยังคงประสบภาวะขาดทุน
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเติบโตของรายได้ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ในภาพรวมที่อัตรา 2 หลัก อาจจะไม่ได้สะท้อนถึงผลประกอบการสุทธิที่ดีขึ้น ของผู้ประกอบการได้ทุกราย
และเมื่อมองไปข้างหน้า ด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่คลี่คลาย ความเสี่ยงต่าง ๆ ยังคงเกิดขึ้นได้
ก็น่าจะทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการโควิด ของผู้ประกอบการยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยจากโรค
การกระจายศูนย์กระจายสินค้าไปยังพื้นที่ศักยภาพใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
รวมถึงการให้บริการเรื่องของสินค้าที่ครบวงจร
และหากผู้บริโภคมีความกังวลและไม่มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย จนทำให้มีการสำรองสินค้ามากขึ้นเพื่อลดจำนวนครั้งในการสั่งซื้อ
ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการจัดส่งที่น้อยลง และส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจตามมา
โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัด ในเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุน เงินทุน
และการปรับตัวที่ไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์และพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ทัน ซึ่งน่าจะยังคงเผชิญความยากลำบากในการแข่งขัน
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.