บริษัทจีน พัฒนาเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง ให้ผู้โดยสารบินจากปักกิ่ง ไปนิวยอร์ก ภายใน 1 ชั่วโมง

บริษัทจีน พัฒนาเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง ให้ผู้โดยสารบินจากปักกิ่ง ไปนิวยอร์ก ภายใน 1 ชั่วโมง

3 ก.พ. 2022
ล่าสุด Space Transportation บริษัทด้านการบินและอวกาศของจีน ออกมาเผยว่า กำลังพัฒนา “Supersonic Aircraft” หรือเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง มิติใหม่แห่งโลกการเดินทาง ที่เป็นการผสมรวมระหว่างเครื่องบิน และจรวดมีปีก
โดย Supersonic Aircraft จะใช้เวลาบินจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ไปยังนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพียงแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ด้วยความเร็ว 2,600 ไมล์/ชั่วโมง
ทั้งนี้ เที่ยวบินของบริษัท Space Transportation หรือชื่อทางการคือ “Beijing Lingkong Tianxing Technology” ได้ออกแบบเที่ยวบินนี้มาเพื่อการใช้งาน 2 จุดประสงค์ ได้แก่
-รูปแบบ Sub-orbital Flight ซึ่งคือการยิงเครื่องบินขึ้นไปตรง ๆ เหนือชั้นบรรยากาศเพื่อชมทัศนียภาพนอกโลก ก่อนบินกลับลงมายังโลก
-รูปแบบ City-to-City Travel ใช้ในการเชื่อมต่อเมืองต่าง ๆ 2 เมือง ที่ไหนก็ได้ทั่วทั้งโลก ให้การเดินทางมีความรวดเร็วกว่าการบินแบบเดิม ๆ หลายเท่าตัว
ซึ่งทางบริษัทระบุว่า การสร้างตัวเครื่องบิน และฐานลงจอด คาดว่าจะพร้อมใช้งานในปี 2030 หรืออีก 8 ปีข้างหน้านี้
จากการนำเสนอของบริษัท เห็นได้ว่าการ Take off ของเครื่องบินจะเป็นการปล่อยตัวในแนวตั้ง พร้อมกับจรวดขนาบ 2 ด้านของเครื่องบิน เพื่อช่วยในการปล่อยตัว และลงจอดในแนวตั้งเช่นกัน
ซึ่งทางบริษัทบอกว่า เครื่องบินที่ทางบริษัทพัฒนา จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำกว่าจรวดที่บรรทุกดาวเทียม และเร็วกว่าเครื่องบินทั่วไป
และเมื่อปีที่แล้ว ทาง Space Transportation เพิ่งได้ระดมทุน 46.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,540 ล้านบาท สำหรับสร้างเครื่องบินอวกาศความเร็วเหนือเสียง
บริษัทยังกล่าวอีกว่า เพิ่งประสบความสำเร็จในการบินทดสอบของจรวดที่ชื่อ Tianxing 1 และ Tianxing 2 แต่ทางบริษัทไม่ได้ให้ข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับการทดสอบ
อย่างไรก็ดี ถ้าหากเราพูดถึงเรื่องจรวด ก็คงจะไม่พูดถึงบริษัท SpaceX, Virgin Galactic และ Blue Origin ไม่ได้
เพราะเมื่อปี 2017 ทาง SpaceX ของอีลอน มัสก์ ก็เคยนำเสนอโมเดลที่คล้าย ๆ กัน เรียกว่า “Earth to Earth” โดยใช้จรวด StarShip ในการขนส่งผู้โดยสารจากเมืองหนึ่ง ไปยังอีกเมือง
แต่หลังจากปีนั้นมา ทางบริษัทก็ไม่ได้ออกมาพูดถึงรายละเอียดใด ๆ ของโครงการนี้อีกเลย
แต่ทั้งนี้ อีลอน มัสก์ เป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยี Hyperloop ที่เป็นนวัตกรรมการเดินทางด้วยความเร็วสูง จากเมืองหนึ่ง ไปยังอีกเมือง ด้วยความเร็ว 760 ไมล์/ชั่วโมง
ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า สำหรับการเดินทางบนโลก เขาอาจจะหันมาให้น้ำหนักที่ Hyperloop และ Tesla แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าดาวรุ่งพุ่งแรงในตอนนี้ แทนการใช้เครื่องบินความเร็วเหนือเสียงนั่นเอง
หากมาดูทางฝั่ง Virgin Galactic ของคุณริชาร์ด แบรนสัน เขาก็เพิ่งได้ขึ้นเที่ยวบินแบบ Sub-orbital Flight ไปเมื่อปีที่แล้ว เพื่อนำเสนอเที่ยวบินอวกาศกับชาวโลก
และ Virgin Galactic ก็มีการพัฒนาโครงการ Hyperloop ของตัวเอง รวมถึงมีการทดสอบให้คนเข้าไปนั่งจริงแล้วเช่นกัน
ส่วนทางฝั่ง Blue Origin ปีที่แล้ว เจฟฟ์ เบโซส ก็เพิ่งได้ขึ้นไปท่องเที่ยวและชมอวกาศ ด้วยเที่ยวบินอวกาศครั้งแรกของ Blue Origin
และก็ได้ประกาศเปิดตัว Orbital Reef สถานีอวกาศส่วนตัว ที่ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอาณานิคมบนอวกาศด้วย
จะเห็นได้ว่า จริง ๆ แล้ว Sub-orbital Flight ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครเอามาต่อยอดในเชิงการเดินทางแบบ City-to-City Travel เหมือนกับที่ Space Transportation กำลังพยายามจะทำ
ซึ่งก็ต้องรอดูต่อไปว่า หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริงในปี 2030
จะมีบริษัทอื่น ๆ เข้ามาชิมลางระบบการเดินทางโดยการใช้เครื่องบินความเร็วเหนือเสียงแบบนี้บนโลก ด้วยหรือไม่
เพราะดู ๆ แล้ว ทั้ง 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ น่าจะผ่านการคิดถึงความเป็นไปได้, ความซับซ้อน และการพิจารณาถึงทางเลือกอื่น ๆ ของการเดินทางบนโลกแล้ว
และอาจเป็นไปได้ว่า บริษัทเทคโนโลยีด้านอวกาศของจีน
อาจจะมีวิธีทำให้ความยุ่งเหยิงเหล่านั้น “ง่ายขึ้น” และ “ถูกลง” จนเปิดโอกาสให้ใคร ๆ ก็สามารถใช้บริการได้..
อ้างอิง:
-https://robbreport.com/motors/aviation/supersonic-aircraft-space-tourism-race-1234661376/
-https://go.newsfusion.com/world-news/item/15330565
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.