ร้านอาหารตึกแถว กำลังมีจุดอ่อน ในยุค Delivery ครองเมือง

ร้านอาหารตึกแถว กำลังมีจุดอ่อน ในยุค Delivery ครองเมือง

12 ธ.ค. 2019
นับตั้งแต่ App Food Delivery กำลังโตระเบิด
จนคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดรวมของธุรกิจนี้ในปี 2562 จะประมาณ 33,000 - 35,000 ล้านบาท
คนที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดกับปรากฏการณ์นี้ก็คือบรรดา “ร้านอาหารตึกแถว”
เพราะในอดีต หากเราอยากกินเมนูเด็ดจากร้านอาหารตึกแถว
บางครั้งอาจต้องล้มเลิกความตั้งใจเพราะแค่คิดต้องฝ่ารถติด, หาที่จอดรถ, ยืนต่อคิว
“ความขี้เกียจก็กำจัดความอยากไปได้ในพริบตา”
แต่เมื่อ...เรามี App อย่าง Grab, GET, Foodpanda แค่กดปุ่มเลือกเมนู จากนั้นนั่งรออยู่บ้านชิลล์ๆ
ก็จะมีคนมาเสิร์ฟอาหารให้ปรากฏอยู่ตรงหน้า
ทำให้บางร้านที่มีเมนูอร่อยเลิศแต่ทำเลไม่ดี ยอดขายในอดีตไม่หวือหวา
ก็กลับมียอดขายดีอย่างน่าเหลือเชื่อ
บางร้านที่ทั้งทำเลดี เมนูอร่อย จากที่ขายดีอยู่แล้ว ก็ยิ่งขายดีมากขึ้นไปอีก
มองดูผิวเผิน ภาพธุรกิจของร้านอาหารตึกแถวกำลังไปได้สวยด้วย App Food Delivery
แต่ในความสวยงามนี้มี “จุดอ่อน” ซ่อนอยู่...
เวลานี้ หากเราไปร้านอาหารตึกแถวชื่อดังบางร้าน จะรู้สึกได้ทันทีว่า “รออาหารนานขึ้น”
แถมยังรู้สึกผู้คนแน่นร้านวุ่นวายกว่าเดิม จนทำให้เรารู้สึก อยากจะเปลี่ยนไปทานร้านอื่น
สาเหตุที่ทำให้ร้านคนแน่นขึ้น ก็เพราะบรรดาคนขับ App Food Delivery ที่มานั่งรออาหารในร้านเพื่อส่งให้ลูกค้า
ส่วนเมนูที่เราต้องรอนานขึ้นก็เพราะ พ่อครัวแม่ครัวต้องปรุงอาหารเสิร์ฟออเดอร์ให้แก่บรรดาคนขับ App Food Delivery อีกด้วย
หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ ลูกค้าที่มาทานในร้านอาจจะรู้สึกแย่และพาลไม่มาทานที่ร้านอีก
ที่น่าสนใจคือ การรอคอย ไม่ใช่จะเสียลูกค้าที่ทานในร้านเพียงอย่างเดียว
แต่…อาจจะต้องเสียลูกค้าจาก App Food Delivery เช่นกัน
เพราะอย่าลืมว่าเหล่าบรรดาคนขับส่งอาหารมีคู่แข่งคนสำคัญคือ “เวลา”
และพวกเขาไม่ได้รับงานแค่ขับส่งอาหารอย่างเดียว ยังมีงานรับส่งเอกสาร, รับส่งสินค้า, และอาจเป็นวินมอเตอร์ไซค์
หากในค่าจ้าง 40 - 60 บาทต่อ 1 ออเดอร์ (รายได้บวกเพิ่มตามระยะทาง) แต่ต้องนั่งรอคิวอาหารเป็นชั่วโมง อาจจะเป็นค่าจ้างที่ไม่คุ้มค่าในสายตาพวกเขาก็เป็นได้
เพราะใน 1 ชั่วโมงที่เท่ากัน
หากขับวินหรือส่งเอกสารอาจจะทำงานได้ 2 - 3 รอบ
และมีรายได้ที่มากกว่าการขับรถส่งอาหารในร้านที่มีคิวรอยาว แต่ได้เพียงออเดอร์เดียว
ผลที่ตามมาในที่สุดก็คือ พนักงานส่งอาหารจะปฏิเสธรับออเดอร์ร้านอาหารที่ต้องรอคิวนาน
หลายคนอาจคิดว่าก็ขึ้นอัตราค่าบริการเพื่อให้ผลตอบแทนสมน้ำสมเนื้อแก่คนขับรับส่งอาหาร
แต่...ธรรมชาติธุรกิจนี้ มีการแข่งขันรุนแรง คู่แข่งสามารถทดแทนได้อย่างสมบูรณ์แบบ
และหากใครคิดขึ้นอัตราค่าบริการ ลูกค้าก็พร้อมที่จะกดหน้าจอสมาร์ตโฟนเปลี่ยนไปใช้ App คู่แข่งทันที
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ คนที่น่าจะต้องแก้ปัญหาจึงน่าจะเป็น ร้านอาหารตึกแถวที่มีออเดอร์ Food Delivery ล้นหลาม
ด้วยการขยายหรือแยกครัวที่ปรุงอาหารเสิร์ฟออเดอร์ให้แก่ Food Delivery โดยเฉพาะ
จนถึงแยกพื้นที่ในร้านเป็นสัดส่วนให้พนักงานขับส่งอาหารนั่งรอ
แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะกลุ่มร้านอาหารเหล่านี้ อาจจะคิดว่าเป็นการลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่
ทั้งซื้ออุปกรณ์ทำครัวใหม่, ค่าตกแต่ง, สุดท้ายคือการต้องจ้างพนักงานเพิ่ม
โดยแต่ละร้านอาหารก็ยังคงลังเลใจและกำลังวัดความ “คุ้มค่า” ในการลงทุน
แม้เวลานี้จะมีตัวช่วยอย่าง Cloud Kitchen ของ Grab ที่รวม 12 ร้านอาหารมาอยู่ใน 1 แห่ง
เพื่อปรุงเมนูอาหารเสิร์ฟออเดอร์เฉพาะ Food Delivery เท่านั้น
แต่ปัจจุบันก็มีเพียงแค่ 1 สาขาไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานเท่าไร ในการเพิ่มสาขา Cloud Kitchen ให้มากขึ้น
สุดท้ายแล้วหากร้านอาหารตึกแถวร้านไหนเลือกจะไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง
ยังคงให้ลูกค้าต้องรออาหารนาน และภายในร้านดูชุลมุนวุ่นวายเต็มไปด้วยพนักงานรับส่งอาหาร
ต่อให้มีเมนูอาหารอร่อยเลิศแค่ไหน แต่หากเสิร์ฟอาหารทางจิตใจไม่อร่อย
ลูกค้าก็พร้อมที่จะ “ปันใจ”
ส่วนคนขับรถส่งอาหารก็อาจ “เบื่อหน่าย” ในที่สุด
ที่มา : https://help.grab.com/driver/th-th/115014804427
เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ Grab Food
ตัวเลขมูลค่าตลาด Food Delivery จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.