ผลกระทบตัดสิทธิ GSP เขมรต่อเศรษฐกิจไทย

ผลกระทบตัดสิทธิ GSP เขมรต่อเศรษฐกิจไทย

17 ก.พ. 2020
คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ยกเลิกสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (GSP) กัมพูชา หวั่นกระทบส่งออกไทย โดยเฉพาะห่วงโซ่การผลิตสินค้าแฟชันสิ่งทอและรองเท้า การค้าชายแดนไทยกัมพูชา และกลุ่มทุนไทยที่ลงทุนในเขมรบางอุตสาหกรรม
แต่อาจเกิดการย้ายฐานการลงทุนเข้า EEC เพิ่ม อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นแหล่งจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา และสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมให้กับประเทศราว 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 21,000 ล้านบาท) ทุนไทยส่งออกจากฐานการผลิตในกัมพูชา มูลค่าประมาณปีละ 3,000-5,000 ล้านบาท
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประเมินผลกระทบคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ยกเลิกสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (GSP) กัมพูชา
หวั่นกระทบส่งออกไทยผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่มห่ม แฟชั่น รองเท้า กระเป๋าเดินทางและสินค้าเกี่ยวกับการเดินทาง
กระทบการค้าชายแดนไทยกัมพูชาเล็กน้อย ขณะที่กลุ่มทุนไทยที่ลงทุนในเขมรกระทบในบางธุรกิจอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่น กลุ่มผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยที่เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในกัมพูชา มีอยู่ 6 บริษัทใหญ่ ได้แก่ กลุ่มไนท์ แอพพาเรล, ฮงเส็งการทอ, ลิเบอร์ตี้, เอสพีบราเดอร์, ทีเคการ์เมนต์และกลุ่มไฮเทค ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป-เสื้อกีฬา และชุดชั้นใน โดยมีการส่งออกจากฐานการผลิตในกัมพูชา มูลค่าประมาณปีละ 3,000-5,000 ล้านบาท
แต่บางบริษัทได้ลดกำลังการผลิตในเขมร และกระจายฐานการผลิตในเวียดนามเพิ่มขึ้น บางส่วนอาจย้ายกลับมาอยู่ที่ EEC โดยเฉพาะสินค้าที่มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม ส่วนกลุ่มทุนโรงสีและส่งออกข้าวหรือสินค้าเกษตรอื่นของไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาไม่กระทบมากนักจากจีนได้ขยายโควต้าการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาจาก 300,000 ตันเป็น 400,000 ตันแล้ว การย้ายฐานการลงทุนเข้า EEC เพิ่มขึ้นหากไทยมีมาตรการเชิงรุกในการชักชวนกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการตัด GSP ในเขมร และไทยเร่งเปิดการเจรจาเอฟทีเอกับอียู
คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ได้มีมติ เมื่อ 12 ก.พ. ว่าจะยกเลิกสิทธิพิเศษดังกล่าวของกัมพูชา รวมถึงสิทธิในการส่งออกสินค้ามายังอียูโดยไม่จำกัดโควตา โดยมีผลในวันที่ 12 ส.ค.นี้ หากไม่มีการคัดค้านจากรัฐสภายุโรป นับเป็นส่วนหนึ่งของการกดดันทางการค้าเพื่อให้รัฐบาลกัมพูชาปฏิบัติตามข้อเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน
สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขมรยังไม่ดีขึ้นนัก โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ถูกลิดรอนสิทธิ รวมถึงการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองจากทางการกัมพูชา ส่งผลให้อียูใช้ข้ออ้างนี้ในการยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้าเพื่อกดดันให้รัฐบาลกัมพูชาปรับปรุงมาตรการด้านสิทธิมนุษยชน การนำเอาประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนมาเกี่ยวกับกับการค้าอาจมีเรื่องผลประโยชน์ทางการค้าและการปกป้องตลาดภายในของอียูเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย
ส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาพบว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นแหล่งจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศกัมพูชา และสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมให้กับประเทศราว 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 21,000 ล้านบาท
เมื่อปี พ.ศ. 2561-2562 สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลักของสินค้าสิ่งทอโดยมีมูลค่าการส่งออกถึง 5,000-6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบต่อสินค้าบางประเภทที่กัมพูชาส่งออกไปยังอียู ได้แก่ น้ำตาล สินค้าสำหรับการเดินทาง รองเท้า และเสื้อผ้าสิ่งทอ คิดเป็นมูลค่าถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี หรือราว 20% ของสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังอียูทั้งหมดมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.