ทำไม Baby Boomers ถึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดสำหรับ COVID-19

ทำไม Baby Boomers ถึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดสำหรับ COVID-19

21 มี.ค. 2020
มีใครที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือผู้สูงอายุในบ้านที่ยังรู้สึก “เฉยๆ” กับโคโรนาไวรัสบ้างไหม?
ถ้าหากคุณคือหนึ่งในนั้น ถือเป็นเรื่องอันตรายสำหรับทุกคนในบ้าน
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวพวกเขาเอง
Baby Boomers คือกลุ่มคนที่เกิดหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
ในช่วงปีพ.ศ. 2489-2507 หรืออายุประมาณ 56-74 ปี
อายุราวๆนี้คงเป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของใครหลายๆคน
รู้หรือไม่ว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ COVID-19 มีความสัมพันธ์กับอายุอย่างเห็นได้ชัด
อายุ 10-40 ปี เสียชีวิต 0.2%
อายุ 40-50 ปี เสียชีวิต 0.4%
อายุ 50-60 ปี เสียชีวิต 1.3%
อายุ 60-69 ปี เสียชีวิต 3.6%
อายุ 70-79 ปี เสียชีวิต 8%
อายุมากกว่า 80 ปี เสียชีวิต 14.8%
พูดง่ายๆก็คือ ยิ่งอายุมากขึ้นโอกาสเสียชีวิตก็สูงขึ้นนั่นเอง
และตัวเลขเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นอีก เมื่อบวกกับโรคประจำตัวของแต่ละคน..
และเชื่อว่าผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวก็มีจำนวนไม่น้อย เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน
แต่ปัญหาไม่ใช่แค่นั้น..
กลุ่ม Baby Boomers แม้จะไม่ใช่ทุกคน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่จริงจังมากพอกับเรื่องนี้
เห็นได้จากการที่ยังไปงานสังสรรค์ หรือกินโต๊ะแชร์กับเพื่อนอยู่
ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ไอหรือจามโดยไม่ป้องกันหรือป้องกันผิดวิธี
ไม่ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วย
ไม่ชอบล้างมือ
หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ ป่วยแล้วปกปิดข้อมูล หรือคิดว่าเดี๋ยวก็หาย..
ในสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีคนจำนวนมากหัวเสียกับพ่อแม่ของพวกเขา เรื่องการป้องกันโคโรนาไวรัส
เพราะพ่อแม่ของพวกเขายังคงไปทานอาหารกับเพื่อนอีกสิบคน
ยังคงจะไปโบสถ์เพื่อสวดภาวนาร่วมกัน
ไปดูภาพยนตร์ เข้ากาสิโน จนสถานที่เหล่านั้นต้องปิด
พวกเขาถึงจะยอมถอย
แม้แต่จะไปขึ้นเรือสำราญนาน 45 วันก็ยังมี และโชคดีที่ทริปเรือสำราญนั้นได้ถูกยกเลิกไป..
ที่กล่าวมานั้นไม่ได้หมายความว่าคนที่อายุน้อยกว่ายังไปที่เสี่ยงได้หรือไม่จำเป็นต้องป้องกันตัวเอง
ทุกคนจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงโอกาสติดเชื้อกับตัวเองทั้งนั้น
แต่กลุ่ม Baby Boomers หรืออายุสูงกว่านั้นมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าใคร
และอาจแพร่เชื้อไปเป็นวงกว้าง ถ้าไม่รับมืออย่างจริงจัง
คนกลุ่มนี้จึงต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ
ถ้าเขาไม่ดูแลตัวเองจะเป็นอย่างไร?
ตัวอย่างก็คือเคสผู้ป่วยรายที่ 31 ของเกาหลีใต้
คุณป้าวัย 61 ปี ในเมืองแทกูที่เป็นสาวกของลัทธิซินชอนจิซึ่ง
กลายเป็น Super Spreader ที่แพร่เชื้อให้คนไปอีกจำนวนมากในเกาหลีใต้
ส่วนเคสในประเทศไทยก็มีคุณปู่คุณย่าวัย 65 และ 62 ปีที่ไปเที่ยวฮอกไกโด มีอาการป่วยและปกปิดข้อมูลการเดินทาง และหลานก็ติดเชื้อด้วยทั้งๆที่ไม่ได้ไปเที่ยว
คำถามคือทำไมกลุ่ม Baby Boomers หลายคนถึงรู้สึกเมินเฉยต่อการแพร่ระบาดครั้งนี้?
เป็นไปได้ว่าเพราะพวกเขาผ่านประสบการณ์อะไรมามากกว่าเรา
จนรู้สึกว่า “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” เหมือนที่ผ่านๆมา
เช่น อดีตผู้ป่วยมะเร็งวัย 56 ปีรายหนึ่งไม่รู้สึกกลัวโคโรนาไวรัสเลย
เพราะเธออาจจะคิดว่า “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” เหมือนมะเร็งที่เคยทำร้ายเธอมาก่อน
หรือจริงๆแล้วพวกเขาแค่ไม่อยากจะคอยทำตามที่ลูกตัวเองสั่ง?
เพราะในสหรัฐอเมริกามีคุณพ่อวัย 87 ปี ไม่เชื่อลูกสาววัย 43 ปีที่ห้ามไม่ให้ไปโบสถ์
แต่สุดท้ายแกยอมกลับ
เพราะบาทหลวงบอกว่าผู้ที่อายุมากกว่า 80 ปีควรอยู่บ้าน..
ส่วนบางรายก็ปลง และบอกกับตัวเองว่าถ้ามันถึงเวลาของฉัน ฉันก็ต้องจากไป จะติดเชื้อก็ไม่เป็นไร
ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอะไรก็ตาม
ก็ไม่มีใครอยากให้คนที่เรารักต้องติดเชื้อนี้
ดังนั้นจึงเป็นความร่วมมือของทุกคน ไม่ว่าจะวัยไหนๆ
ที่จะต้องทำให้เหล่า Baby Boomers ที่รักของตัวเอง จริงจังกับ COVID-19 เสียที
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.