CRC เจอความท้าทายแค่ไหน จาก COVID-19

CRC เจอความท้าทายแค่ไหน จาก COVID-19

1 เม.ย. 2020
CRC หรือ เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่นเพิ่งจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย
ระดมทุนไปได้กว่า 70,000 ล้านบาท
มูลค่าดังกล่าวทำให้ CRC เป็นบริษัทที่ระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ใหญ่สุดในประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของโลกตั้งแต่ปี 2006
แต่การเข้าตลาดของ CRC ก็ดันมาตรงกับสถานการณ์ COVID-19 เริ่มระบาดทั่วโลก และทำให้ล่าสุด ห้างสรรพสินค้า ในกรุงเทพต้องปิดตัวลงชั่วคราว
เรื่องนี้ส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าบริษัท CRC ที่ทำธุรกิจค้าปลีกทันที
มูลค่าบริษัท CRC ตกลง 32% คิดเป็นมูลค่าที่หายไปกว่า 80,000 ล้านบาท ภายในเดือนกว่าๆ
แล้วเหตุการณ์ครั้งนี้จะกระทบกับ CRC ขนาดไหน?
เรามาเริ่มที่ ผลประกอบการบริษัท CRC
ปี 2561 รายได้ 206,620 ล้านบาท กำไร 10,931 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 222,737 ล้านบาท กำไร 10,633 ล้านบาท
หากเทียบกับบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีก
CRC อัตรากำไรสุทธิ 4.8%
BJC อัตรากำไรสุทธิ 4.2%
CPALL อัตรากำไรสุทธิ 3.9%
MAKRO อัตรากำไรสุทธิ 3.0%
จะเห็นได้ว่าสินค้าของ CRC มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่า
ในขณะที่ภาพรวมทั้งปี 2562 รายได้เพิ่มขึ้น 7.8%
โดยสัดส่วนรายได้หลักมาจาก 3 ธุรกิจ แบ่งออกเป็น
1.ธุรกิจกลุ่มฟู้ด 36.1% มาจาก
-ท็อปส์ 224 สาขา
-แฟมิลี่มาร์ท 964 สาขา
-บิ๊กซี ประเทศเวียดนาม 37 สาขา
-ลานชี มาร์ท ไฮเปอร์มาร์เก็ต ประเทศเวียดนาม 25 สาขา
2.ธุรกิจกลุ่มแฟชั่น 28.9% มาจาก
-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล 23 สาขา
-ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน 49 สาขา
-ซูเปอร์สปอร์ต 209 สาขา
-CMG 294 สาขา
(ตัวแทนจัดจำหน่าย Guess, Topshop, Lee, Wrangler เป็นต้น)
-ห้างสรรพสินค้าไฮเอนด์รีนาเซนเต ประเทศอิตาลี 9 สาขา
3. ธุรกิจกลุ่มฮาร์ดไลน์ 22.7% มาจาก
-ไทวัสดุ 55 สาขา
-เพาเวอร์บาย 104 สาขา
-เหงียนคิม ร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศเวียดนาม 71 สาขา
ที่เหลืออีก 12.3% เป็นรายได้อื่นๆ เช่น ค่าเช่าที่ในการให้บริการ
โดยรายได้ทุกๆ 100 มาจากประเทศไทย 74 บาท เวียดนาม 18 บาท และอิตาลี 7 บาท
จากโครงสร้างรายได้ของ CRC
เราก็อาจสรุปได้ว่าธุรกิจแฟชั่นและฮาร์ดไลน์
จะหายไปอย่างมีนัยสำคัญ อย่างต่ำก็คือ รายได้จากกรุงเทพมหานครจะหายไปเกือบทั้งหมดเป็นจำนวน 40 วันจาก 365 วัน
ซึ่งนอกจากในประเทศไทยแล้ว ธุรกิจห้างที่เวียดนามและอิตาลีก็ได้รับผลกระทบหนัก เช่นกัน
หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น รายได้ก็จะยิ่งหายไปนาน
ในขณะที่ ค่าใช้จ่ายของบริษัทยังคงมีอยู่
เรื่องนี้ก็คงทำให้กำไรของบริษัทปีนี้จะลดลง
เมื่อกำไรลดลง นั่นจึงเป็นเหตุผลให้นักลงทุนต่างเทขาย CRC
จนตอนนี้มีมูลค่าเหลือเพียง 169,000 ล้านบาท
ที่น่าสนใจก็คือ CRC เพิ่งระดมทุนได้ 70,000 หมื่นล้านบาท
แค่เงินระดมทุน ก็ได้มากว่า 40% ของมูลค่าบริษัทตอนนี้แล้ว
จริงอยู่ว่าภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ทุกธุรกิจไม่ว่าใคร ก็ต่างได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย
สำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบสูง ก็เปรียบได้กับว่าบริษัทกำลังโดนทำ Stress Test ความแข็งแกร่งของกิจการว่า เรามีภูมิต้านทานดีแค่ไหนกับวันที่เลวร้ายแบบนี้
สำหรับ CRC ธุรกิจในเครือเซ็นทรัลที่มีประสบการณ์ทำธุรกิจอยู่คู่เมืองไทยมาปีนี้เป็นปีที่ 73 ก็น่าจะผ่านบททดสอบมาแล้วมากมาย ซึ่งที่ผ่านมาก็ผ่านมาได้ทุกครั้ง
ซึ่งถ้าเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้มันเกิดขึ้นชั่วคราว
แล้วเรามั่นใจว่าบริษัทเรายังทำธุรกิจได้อีกเป็นร้อยปี
เมื่อเวลาผ่านไป
มันก็จะเป็นเพียงจุดเล็กๆจุดหนึ่งในอดีต ก็เท่านั้นเอง
อ้างอิง :
CRC MD&A FY2562, 56-1 9M2562
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.