Netflix อาจไม่ได้โตอย่างที่คิด ในช่วงโควิด-19

Netflix อาจไม่ได้โตอย่างที่คิด ในช่วงโควิด-19

3 เม.ย. 2020
ตั้งแต่ต้องกักตัวอยู่บ้าน หนึ่งในกิจกรรมที่นิยมคือ การดู Netflix
ใครๆ ก็คงคิดว่างานนี้ Netflix จะทำรายได้มหาศาล
เพราะผู้ใช้งาน Netflix ก็หาเวลาว่างดูซีรีส์ในคลังมานานแล้ว นี่ก็เป็นเวลาที่เหมาะเหลือเกิน
แล้วความเป็นจริง มันเป็นอย่างที่คิดหรือเปล่า?
ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก
จริงๆ แล้ว Netflix เองก็มีความกดดันในหลายด้านอยู่
ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่ง Streaming มากมาย เช่น Disney+, HBO GO และ Apple TV+
แถมยังหมุนเงินไม่ทันจนกระแสเงินสดติดลบมาแล้ว 3 ปีซ้อน
ปี 2017 ติดลบ 66,000 ล้านบาท
ปี 2018 ติดลบ 98,000 ล้านบาท
ปี 2019 ติดลบ 107,000 ล้านบาท
ในปี 2020 หลายประเทศมีมาตรการต่างๆ เช่น Lockdown, Social distancing และกักตัวอยู่บ้าน
เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทีนี้เราลองมาดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ Netflix หลังมีมาตรการที่กล่าวมา
อย่างแรก จำนวนผู้ใช้ใหม่ที่เพิ่มขึ้น
เพราะการอยู่บ้านมีกิจกรรมไม่กี่อย่างให้ทำ
ในช่วงนี้จึงมีแนวโน้มว่าคนจะหันมาใช้บริการ Netflix หรือ Streaming ออนไลน์กันมากขึ้น
จำนวนผู้ใช้งานถือเป็นตัวเลขที่นักลงทุนให้ความสำคัญมากกับ Netflix
เพราะจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นหมายถึงกำไรที่เพิ่มขึ้น
ในขณะที่ต้นทุนในการสร้างคอนเทนต์หรือค่าลิขสิทธิ์ยังคงเท่าเดิม
สำหรับ Netflix นั้นให้ผู้ใช้งานใหม่สามารถทดลองใช้ฟรี 1 เดือน
ซึ่งจำนวนผู้ใช้งานใหม่ในช่วงนี้ไม่ได้หมายความว่าจะใช้งานต่อไปเกิน 1 เดือน
ลูกค้าใหม่อาจจะยกเลิกสมาชิกก่อนที่จะถูกหักเงินผ่านบัตรเครดิตก็ได้
ดังนั้น จำนวนผู้ใช้งานใหม่ในช่วงนี้จึงอาจจะไม่ได้หมายถึงฐานลูกค้าใหม่ซะทั้งหมด
หรือต่อให้ผู้ใช้งานติดใจคอนเทนต์และบริการของ Netflix
แต่ก็อาจจะเจอปัญหาข้อถัดไป
นั่นคือลูกค้า Netflix กำลังสูญเสียกำลังซื้อ
หากสถานการณ์การ Lockdown ทั่วโลกยังคงยืดเยื้อต่อไป
หลายธุรกิจย่อมขาดรายได้ รวมถึงคนเป็นพนักงานก็ไม่ได้ค่าจ้าง
ไม่มีรายได้ หรือไม่มีค่าจ้างก็ไม่มีเงิน ไม่มีเงินก็ไม่มี Netflix
เพราะจริงๆ แล้ว Netflix ก็ดูเหมือนจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่ด้วยซ้ำ
และโจทย์ข้อที่สำคัญที่สุดในเวลาวิกฤติแบบนี้คือ คอนเทนต์ของ Netflix
หนึ่งในจุดแข็งของ Netflix คือ Netflix Original คือ ซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่สร้างโดย Netflix เอง
ผลงานของ Netflix Original ก็เช่น Itaewon Class, Crash Landing on you, Stranger Things, Kingdom, Sex Education
หลายเรื่องมีผลตอบรับดีมากจน Netflix สร้างภาคต่อออกมาเรื่อยๆ
แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 บังคับให้รัฐบาลแทบทุกประเทศประกาศให้ประชาชน Work from Home อยู่แต่ในบ้าน หรือออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น
แน่นอนว่าการถ่ายทำภาพยนตร์ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้
โดยการผลิต Netflix Original ก็ต้องล่าช้าออกไปอีกจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย
ในเวลาไม่กี่คืน ผู้ใช้งานสามารถดูซีรีส์จบทั้งซีซันก็ยังได้
แต่ผู้ผลิตคอนเทนต์ไม่สามารถผลิตเนื้อหาใหม่ๆ ได้ทันความต้องการของผู้ใช้งานในช่วงนี้
ดังนั้นผู้ใช้งานอาจจะ “เบื่อ” กับเนื้อหาเดิมๆ ในคลังของ Netflix เสียก่อน
จากปัจจัยที่กล่าวมา
กลยุทธ์ใหม่ที่ Netflix ได้เริ่มใช้อย่างการทำแพ็กเกจแบบใหม่ให้ดูบนมือถือ 1 จอเท่านั้นในราคา 99 บาทต่อเดือน
กลยุทธ์นี้อาจจะช่วยพยุงตัวเลขผู้ใช้งานในเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่อยู่ก็ได้
และหวังว่าตัวเลขผู้ใช้งานที่คงเหลือหลังเหตุการณ์นี้
จะสร้างกำไรได้มากพอกับเงินลงทุนในการทำคอนเทนต์ใหม่ๆ
โดยในปี 2019 Netflix ได้ลงทุนในการผลิตคอนเทนต์ตัวเองสูงถึง 506,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
ก็ต้องติดตามดูว่า กระแสเงินสดของ Neflix จะดีขึ้น หรือติดลบมากขึ้นกว่าเดิม
อ้างอิง :
Forbes
Netflix Financial Statement 2019
https://variety.com/…/netflix-2020-content-spending-17-bil…/
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.