ทำไมคู่แข่งทางธุรกิจ ถึงสำคัญ และบางที ก็ดีกว่าการไม่มี

ทำไมคู่แข่งทางธุรกิจ ถึงสำคัญ และบางที ก็ดีกว่าการไม่มี

19 พ.ค. 2022
เคยลองคิดเล่น ๆ ไหมว่า ถ้าบนโลกนี้เราผูกขาดธุรกิจเพียงเจ้าเดียวจะเป็นอย่างไร ?
ในมุมเจ้าของธุรกิจ คงจะดูเป็นอะไรที่หอมหวาน
เพราะทำอะไรก็ง่ายไปหมด ไม่มีใครคอยแข่ง
ไม่ต้องเร่งรีบพัฒนาผลิตภัณฑ์อะไรมาก
ยิ่งถ้าขายของที่มีความจำเป็น ที่ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่น
จะปรับขึ้นราคาแค่ไหน ถึงอย่างไรคนก็ต้องซื้ออยู่ดี..
แต่จริง ๆ แล้วมันอาจไม่ได้ดีอย่างที่คิด และคงยากที่จะเป็นแบบนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น การมีคู่แข่งในบางธุรกิจ กลับมีข้อดีมากกว่าข้อเสียด้วยซ้ำ
พูดแบบนี้ หลายคนคงยังนึกไม่ออก
งั้นเราลองมาดูกันว่า จริง ๆ แล้ว การมีคู่แข่ง มีข้อดีต่อตัวองค์กรธุรกิจเอง อย่างไรบ้าง
1. การแข่งขันทำให้แบรนด์เกิด “ความแตกต่าง” จากการหาช่องว่างทางธุรกิจ
ยกตัวอย่างในกรณีของ Flash Express ที่มีจุดแข็งในตลาดคือ โมเดลรับพัสดุถึงหน้าบ้าน (Door to Door Service) ก็เกิดขึ้นจากการที่บริษัทเห็นถึงช่องว่างในตลาด
เพราะโดยปกติแล้วลูกค้าจะต้องขนพัสดุไปเอง ซึ่งแน่นอนว่ามันจะดีกว่า ถ้าหากว่าเราเสนอที่จะไปรับพัสดุให้ถึงหน้าบ้านของลูกค้าเลย
นอกจากนี้ Flash Express ยังมีจุดแข็งในด้านราคา ที่รับประกันว่าถูกที่สุดในตลาดอีกด้วย ซึ่งก็ทำให้แบรนด์มีจุดยืนทางการตลาด (Positioning) ที่แข็งแกร่งในระดับที่แข่งขันได้นั่นเอง
ลองคิดกลับกัน ถ้าหากว่า Flash Express เป็นผู้เล่นรายแรก และรายเดียวในตลาด โมเดลการรับพัสดุหน้าบ้าน ก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะเปรียบเหมือนการเพิ่มต้นทุนให้กับธุรกิจเปล่า ๆ
แต่เมื่อมีการแข่งขันเกิดขึ้น ถ้าหากว่าต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่สามารถชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากคู่แข่งมาได้
การลงทุนทำสิ่งนี้ เลยกลายเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล
ซึ่งการมี “ความแตกต่าง” นอกจากจะเป็นจุดแข็งของแบรนด์ ในการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันแล้ว
ยังเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างการจดจำแบรนด์ ให้ตราตรึงใจผู้บริโภคมากขึ้น
รวมถึงขยายตลาดให้เติบโตขึ้น ด้วยการตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ หรือความต้องการที่ยังไม่ถูกค้นพบ ของผู้บริโภค
ตรงกันข้าม หากไม่มีการแข่งขัน และแบรนด์ไม่มีจุดแข็ง หรือความแตกต่าง
ในแต่ละวัน ก็จะทำธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ อย่างสบายใจ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ก็อาจไม่ได้ถูกใจผู้บริโภคเท่าไร เพราะแบรนด์ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนา
ต่อมา พอบริบทเปลี่ยนไป เริ่มมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาท้าชนในตลาด ซึ่งมาพร้อมกับนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ Pain Point ของผู้บริโภคมากกว่า
ตอนนั้น ผู้เล่นรายเดียวในตลาด ที่ปรับตัวไม่ทัน และสู้หน้าใหม่ไม่ได้ ก็อาจกลายเป็นรายแรก ที่ต้องออกจากตลาดไปแทน..
2. การแข่งขันทำให้เกิด “ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง” จากการวิจัยและพัฒนา
หากพูดถึงในเรื่องความชำนาญเฉพาะทาง ธุรกิจที่เห็นได้ชัดที่สุด คงหนีไม่พ้นธุรกิจโรงพยาบาล
ที่โดยปกติแล้ว กลยุทธ์ของธุรกิจโรงพยาบาลส่วนมาก ก็มักจะเป็นการขยายสาขาโรงพยาบาล, การเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์, การทำวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ของทางเครือโรงพยาบาลเอง
ซึ่งแต่ละกลยุทธ์ ก็จะกระจายกันไป เพื่อส่งเสริมการเติบโตในเชิงธุรกิจ
แต่ไม่ใช่กับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
เคยสงสัยกันไหมว่า โรงพยาบาลเครืออื่น ๆ มักจะมีสาขามากมาย หลายสิบแห่ง
แต่ทำไม บำรุงราษฎร์ ถึงมีแค่ที่เดียว ทั้ง ๆ ที่มีกำไรมหาศาล ?
นั่นก็เพราะบำรุงราษฎร์ เลือกที่จะแข่งขันในแบบฉบับของตัวเอง และในทางที่ตัวเองถนัด
โดย บำรุงราษฎร์ ต้องการที่จะเป็นศูนย์รวมความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) และมีพันธกิจว่า อยากจะเป็น Medical Center ที่แข่งขันได้ในระดับโลก
เรื่องนี้ทำให้บำรุงราษฎร์ พยายามลงทุนในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่สุด
เพื่อให้สาขาเดียวที่มี กลายเป็นที่ที่ดีที่สุดในวงการการแพทย์ของประเทศไทย
นั่นทำให้ เมื่อเรานึกถึงการรักษาพยาบาลทั่วไป เราอาจไม่ได้นึกถึงบำรุงราษฎร์
แต่ถ้าหากเราอยากได้รับการรักษาระดับพรีเมียม มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับสากล
สำหรับในประเทศไทย คงหนีไม่พ้นชื่อ บำรุงราษฎร์
ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในหลายสาขาทางการแพทย์
แถมชื่อเสียงของบำรุงราษฎร์ ยังดังไปไกลและได้รับการยอมรับจากหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น ที่มีสาขาเยอะ ๆ หรือขยายธุรกิจมากมาย
เพราะเราสามารถแข่งขันผ่านการโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
อย่างกรณีของบำรุงราษฎร์ ก็คือโฟกัสกับการสร้างศูนย์รวมความชำนาญเฉพาะด้าน
แถมยังทำให้เรามีความน่าเชื่อถือสูง และขึ้นชื่อว่าเป็นเบอร์ 1 ของวงการได้
ในทางกลับกัน หากบำรุงราษฎร์ ไม่มีคู่แข่งในตลาด และเลือกแนวทางธุรกิจทั่ว ๆ ไป
จนไม่มีแรงจูงใจในการเป็น Medical Center ที่แข่งขันได้ในระดับโลก
ก็อาจไม่มีบำรุงราษฎร์ ในวันนี้..
3. การแข่งขัน เป็นตัวกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเติบโตเร็วขึ้น
นอกจากเรื่องการลงทุน พัฒนา และการหาจุดแตกต่างแล้ว เมื่อเราทำธุรกิจไปได้สักระยะ แล้วถ้ากลยุทธ์ของเราดี ย่อมถูก “เลียนแบบ” ถือเป็นเรื่องปกติในวงการธุรกิจ
เช่น นมข้นหวาน TEAPOT ที่ได้สำรวจ Pain Point ของลูกค้า แล้วพบว่าลูกค้าจะใช้นมข้นหวานแต่ละครั้งนั้นแสนลำบาก ทั้งการเปิดฝา การเก็บรักษา รวมถึงการกะปริมาณการใช้ในแต่ละครั้งก็ทำได้ยาก
ทางทีมจึงพัฒนานมข้นหวานแบบหลอดบีบขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่า พอมันแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคได้ ยอดขายก็ถล่มทลาย จนทำให้แบรนด์อื่น ๆ ต้องออกมา “เลียนแบบ” บ้าง
หรือที่เรียกกันว่ากลยุทธ์ Me Too Marketing ที่เมื่อคู่แข่งทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จ การเป็นผู้ตาม ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้
หรือถ้าหากไม่ยอมเลียนแบบ ก็ต้องหาอะไรที่ดีกว่านั้นมาทดแทน
ซึ่งสุดท้าย ก็จะช่วยกระตุ้นให้ตลาดโดยรวมคึกคักหรือเติบโตขึ้น
เช่น ผู้บริโภคหันมาบริโภคนมข้น หรือใช้นมข้นในการประกอบอาหารประเภทของหวานกันมากขึ้น เพราะการใช้งานนมข้นนั้นสะดวกมากขึ้นนั่นเอง
หรือแต่ละแบรนด์ แข่งกันหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และตัวเลือกใหม่ ๆ เสนอผู้บริโภค
ซึ่งก็จะช่วยกระตุ้นตลาด และปลดล็อกความต้องการของผู้บริโภค
อย่างเช่นกรณีตลาดสมาร์ตโฟน ที่หลังจาก Apple ออกมือถือหน้าจอสัมผัสอย่าง iPhone
แล้วต่อมาแบรนด์คู่แข่งทั้งหน้าใหม่ และหน้าเก่า ก็ทุ่มลงทุนพัฒนามือถือหน้าจอสัมผัส พร้อมนวัตกรรมต่าง ๆ มาแข่ง
ทำให้สมาร์ตโฟนในปัจจุบัน กลายเป็นอุปกรณ์ที่ทำได้มากกว่าการโทร แต่ตอบโจทย์ทุกการใช้ชีวิต
ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี และขาดไม่ได้..
4. การมีคู่แข่ง กระตุ้นให้แบรนด์ต้องสื่อสาร และทำการตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่แทบทุกแบรนด์ จะต้องสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ เพราะว่าลูกค้าแทบทุกกลุ่ม ย้ายสังคมไปอยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกันแทบทั้งหมด
ซึ่งก็เป็นโอกาสของเหล่าแบรนด์ต่าง ๆ อย่างเช่น AIS, True และ Dtac
ที่ต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือดในการยิงโปรโมชัน 5G เพื่อดึงลูกค้ากันไปมา
รวมถึงสร้างมูฟเมนต์ด้านแคมเปญการตลาดอยู่ตลอดเวลา
อย่างทาง AIS ซึ่งถือเป็นค่ายมือถือที่ขึ้นชื่อเรื่องความครอบคลุมด้านสัญญาณ
ซึ่งทางบริษัท ยังได้ดึง “ไอรีน” ที่เป็น Virtual Influencer สัญชาติไทย มาเป็น Brand Ambassador เพื่อสื่อสารว่า ด้วยความเร็วของ AIS จะทำให้เราเข้าสู่โลก Metaverse ได้
ส่วนทาง True ก็ได้ดึงตัว “อิมมะ” Virtual Influencer สัญชาติญี่ปุ่น ที่มีเอกลักษณ์เป็นสาวลุคผมบ๊อบสีชมพู มาเป็น Brand Ambassador ของ True 5G เช่นกัน
จะเห็นว่า แต่ละค่ายดูแข่งขันกันอย่างดุเดือด และพยายามทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Image) ดูอินเทรนด์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ดังนั้น การแข่งขัน จึงเป็นตัวกระตุ้นให้แต่ละแบรนด์พยายามหาวิธีการสื่อสาร และสร้างสรรค์การตลาดใหม่ ๆ เพื่อไม่ให้ถูกคู่แข่งแย่งตัวลูกค้าไป
ซึ่งเรื่องนี้ ก็จะช่วยให้แบรนด์สร้าง Engage และความผูกพันกับลูกค้า ซึ่งเป็นคนสำคัญ
อีกทั้งช่วยให้แบรนด์ มีความ Active อยู่เสมอ มีการปรับตัวให้ก้าวทันคู่แข่ง และการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนขึ้นในระยะยาว นั่นเอง
สรุปแล้ว คือการแข่งขันนั้น จริง ๆ แล้วมีข้อดี เยอะกว่าข้อเสีย
โดยเฉพาะถ้าหากมองในมุมของลูกค้า หรือผู้ใช้บริการ ที่ยิ่งมีการแข่งขันที่รุนแรง และดุเดือดมากเท่าไร ลูกค้าก็จะยิ่งได้รับประโยชน์มากขึ้น และเร็วขึ้นเท่านั้น
และในมุมธุรกิจ การแข่งขันคือการเร่งรัดให้ธุรกิจ ต้องหาจุดยืนในตลาดที่ชัดเจน
รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรม เพื่อให้เราสร้างความแตกต่าง หรือถือไพ่เหนือกว่าคู่แข่งเสมอ
และการสื่อสาร ที่ต้องเข้าถึงและเข้าใจสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจริง ๆ
ส่วนแบรนด์ที่ไม่ใช่ตัวจริง ซึ่งรับมือกับการแข่งขันได้ไม่ดี หรือไม่เคยเจอการแข่งขันเลย
ก็จะไม่มีภูมิต้านทานทางธุรกิจ
และสุดท้าย สักวันก็คงต้องลาจากวงการไป..
เพราะการแข่งขันในโลกแห่งธุรกิจ นับเป็นการคัดสรรโดยกลไกตลาดให้เหลือเพียงตัวจริง ที่พร้อมจะก้าวไปพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลง
เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า เพราะการแข่งขันนั้น สวยงามเสมอ..
อ้างอิง:
-https://localiq.com/blog/why-is-it-important-companies-have-competitors/
-https://enterpriseleague.com/blog/why-is-competition-good-for-business/
-https://www.blockdit.com/posts/627a4324311c2ad2fc89caee
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.