ทำไมร้านค้าปลีก ถึงต้องทำสินค้า House Brand ออกมาขายเอง..

ทำไมร้านค้าปลีก ถึงต้องทำสินค้า House Brand ออกมาขายเอง..

4 ก.ค. 2022
เวลาที่เราไปเดินที่ Lotus’s, Big C, Tops รวมถึงตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ หรือร้านสะดวกซื้อ
นอกจากสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ มากมายแล้ว
เราน่าจะเคยเห็นสินค้า ที่เป็นแบรนด์เดียวกันกับร้านค้าปลีกเหล่านั้นอยู่เป็นประจำ
เช่น กระดาษทิชชู หรือข้าวสารตรา Big C, น้ำยาล้างจาน Lotus’s, น้ำดื่ม 7-Select และสินค้าอื่น ๆ ที่มีชื่อแบรนด์ เป็นชื่อเดียวกันกับร้านค้าปลีกที่เราชอบไปเดินช็อปปิง
โดยสินค้าเหล่านี้ เรียกว่าสินค้า House Brand ที่ทางร้านค้าปลีกทำออกมาวางขายเอง ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ใช้แล้วหมดไป
และอย่างที่เรารู้กันดีว่าสินค้าเหล่านี้ จะมีแบรนด์หลัก ๆ ที่ร้านค้าปลีกรับเข้ามาขายอยู่แล้ว
อย่างน้ำดื่ม ก็จะมีหลายสิบแบรนด์ที่รับมาวางขาย
น้ำยาล้างจาน ก็มีหลากหลายแบรนด์ให้เลือก
ข้าวสาร ก็มีทั้งแบรนด์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ไหนจะสินค้าอื่น ๆ อีก
คำถามคือ แล้วทำไมร้านค้าปลีก ถึงยังต้องทำสินค้า House Brand ออกมาขายเองอีก ?
1. จับกลุ่มลูกค้า ที่ต้องการสินค้าราคาประหยัด
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสินค้า House Brand ที่เราพบเห็นกันทั่วไป ส่วนใหญ่จะมีราคาถูกกว่าสินค้าจากแบรนด์ที่ทางร้านค้าปลีกรับมาขาย
หนึ่งในสาเหตุที่สามารถขายได้ในราคาถูกกว่า ก็คือ “ข้อได้เปรียบด้านต้นทุน”
เพราะทางแบรนด์ร้านค้าปลีก ไม่จำเป็นต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ให้กับตัวเอง แถมยังไม่ต้องขยันโปรโมต หรือเสียงบค่าการตลาดมากเท่ากับแบรนด์ทั่วไปในตลาดด้วย
ทำให้ House Brand มักจะเป็นสินค้าที่มีราคาถูกกว่าสินค้าแบรนด์ทั่วไป และเน้นออกสินค้ามาเพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าแบบเน้นปริมาณ (Volume) มากกว่าเน้นเรื่องคุณภาพ (Quality) หรือเน้นความคุ้มค่าด้านราคาเป็นหลัก
เช่น หากเราเป็นแม่บ้านที่สนใจในเรื่องความสะอาด เราอาจจะต้องการซื้อน้ำยาล้างจานที่เชื่อถือได้ อย่างไลปอนเอฟ หรือซันไลต์
แต่พอเราพลิกบทบาทมาเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหาร เรากลับต้องมองถึงการควบคุมต้นทุนให้ต่ำที่สุด ซึ่งนั่นก็รวมถึงการซื้อน้ำยาล้างจานราคาถูกลงมา แต่พอใช้ได้แทน
ซึ่งส่วนมาก ก็จะหนีไม่พ้นสินค้า House Brand ที่ชอบจัดโปรโมชันดึงดูดให้คนซื้อในปริมาณมาก ๆ
เห็นได้ว่า นี่คือโอกาสทางธุรกิจ ที่ยังมีช่องว่างในตลาดให้ทำกำไรได้อยู่
แล้วเราในฐานะเจ้าของพื้นที่ แทบจะไม่มีเหตุผลอะไรเลย ที่จะไม่ทำ..
2. เพิ่มข้อได้เปรียบในการแข่งขัน กับร้านค้าปลีกเจ้าอื่น
หากขึ้นชื่อว่า เป็นสินค้าที่ทำโฆษณาผ่านโทรทัศน์ ป้ายบิลบอร์ด หรือโซเชียลมีเดีย
แน่นอนว่าเจ้าของแบรนด์ดังเหล่านั้น ย่อมต้องเอาสินค้าของตน ไปวางขายในร้านค้าปลีกหลายเจ้า ให้มากเท่าที่จะมากได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าให้ได้มากที่สุด
แต่นั่นกลับกลายเป็นข้อเสียเปรียบของเจ้าของร้านค้าปลีก
เพราะไม่ว่าจะเป็น Big C, Lotus’s, Tops หรือ 7-Eleven ต่างก็วางขายสินค้าชื่อดังยี่ห้อเดียวกันเต็มไปหมด
แต่ถ้าหากว่า เราต้องการน้ำดื่ม 7-Select เพราะราคาถูกกว่า ในคุณภาพที่ใกล้เคียงกับน้ำดื่มทั่วไป
พอเปรียบเทียบแบบนี้ ก็คงพอมองออกแล้วว่าใครเป็นผู้ได้เปรียบ..
ซึ่งกลยุทธ์นี้ นอกจากจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับร้านค้าปลีกแล้ว ยังช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคอีกด้วย
ดังนั้น การทำสินค้า House Brand จึงเป็นอีกกลยุทธ์ในการดึงแทรฟฟิกคน ให้เข้ามายังร้านค้าปลีกของตน และเป็นการเพิ่มความภักดีในแบรนด์ (Brand Loyalty) ไปในตัวด้วย
เพราะเมื่อคนติดแบรนด์ไปแล้ว แล้วรู้ว่ามีขายแค่ที่นี่เท่านั้น ก็จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจมาที่ร้านค้าปลีกของเราได้แบบไม่ลังเล
นอกจากเหตุผลที่ว่ามานี้ การทำ House Brand ยังช่วยเพิ่มการจดจำแบรนด์ร้านค้าปลีกได้มากขึ้นด้วย
เพราะยิ่งคนเราเห็นตราสินค้า หรือแบรนด์บ่อยเท่าไร เราก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะนึกถึงสิ่งนั้นเป็นอย่างแรก
เช่น เมื่อเราไปเดินซื้อของใน Big C เวลาเดินผ่านโซนสินค้าต่าง ๆ ก็จะเห็นสินค้าของแบรนด์ Big C เองด้วย แล้วเมื่อเห็นซ้ำ ๆ ก็ทำให้เราเผลอจดจำแบรนด์ลงไปในจิตใต้สำนึกโดยไม่รู้ตัว
และเมื่อครั้งต่อไป เราต้องไปซื้อของใช้เข้าบ้าน
เราก็อาจนึกถึง Big C เป็นที่แรก..
อ้างอิง:
-https://www.vaimo.com/branded-house-vs-house-of-brands/
-https://www.dotactiv.com/blog/3-reasons-why-retailers-are-introducing-their-own-house-brands
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.