ย้อนรอยเรื่องราว.. ทำไมที่ผ่านมาคนไทย ถึงได้ซื้อ iPhone ช้ากว่าประเทศอื่นมาตลอด

ย้อนรอยเรื่องราว.. ทำไมที่ผ่านมาคนไทย ถึงได้ซื้อ iPhone ช้ากว่าประเทศอื่นมาตลอด

8 ก.ย. 2022
ในที่สุด Apple ก็ได้มีการประกาศเปิดตัว iPhone 14 อย่างเป็นทางการในช่วงกลางดึกที่ผ่านมา
ซึ่งงานเปิดตัวในครั้งนี้ ก็ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับใครหลายคนเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากนวัตกรรมล้ำ ๆ..
ที่ Apple ขนมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อกับดาวเทียม สำหรับการติดต่อฉุกเฉิน, การนำติ่งบนหน้าจอออก แล้วเปลี่ยนเป็นการเจาะรูทรงแคปซูลแทน รวมไปถึงระบบกันสั่นที่ดีมากขึ้น..
และยังมีอีกเรื่อง ซึ่งสร้างความตื้นตันใจให้กับคนไทยที่เป็นสาวก Apple อย่างมาก
นั่นก็คือ นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย ถูกจัดเป็นประเทศกลุ่ม Tier 1 ที่จะมีโอกาสได้ซื้อ iPhone 14 ก่อนใครเป็นประเทศแรก ๆ ในโลกอีกด้วย..
โดย Apple จะเปิดให้สั่งซื้อ iPhone 14 ล่วงหน้าได้ในวันที่ 9 ก.ย. 2565 และวางจำหน่ายจริงวันที่ 16 ก.ย. 2565 นี้
หรือก็คือ คนไทยสามารถเป็นเจ้าของ iPhone รุ่นใหม่ได้ หลังจากงานเปิดตัวเพียงอาทิตย์กว่า ๆ เท่านั้น..
แต่ถ้าหากย้อนกลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าหลังจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จาก Apple ในแต่ละครั้ง คนไทยต้องรอนาน 3-4 สัปดาห์ กว่าจะได้มีโอกาสซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ก็เช่น
iPhone 11 เปิดตัววันที่ 20 ก.ย. 2562 จำหน่ายที่ไทยอย่างเป็นทางการ วันที่ 18 ต.ค. 2562
iPhone 12 เปิดตัววันที่ 13 ต.ค. 2563 จำหน่ายที่ไทยอย่างเป็นทางการ วันที่ 27 พ.ย. 2563
iPhone 13 เปิดตัววันที่ 24 ก.ย. 2564 จำหน่ายที่ไทยอย่างเป็นทางการ วันที่ 8 ต.ค. 2564
ซึ่งเรื่องนี้ก็ชวนให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไม Apple ถึงเอาประเทศไทยไปอยู่ในประเทศท้าย ๆ ที่จะได้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ๆ จาก Apple มาโดยตลอด
ทั้งที่ประเทศใกล้ ๆ อย่างสิงคโปร์เอง ยังถูกจัดเป็นประเทศกลุ่มแรก ๆ ที่จะมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่จาก Apple
เรื่องราวมันเป็นอย่างนี้..
โดยปกติแล้ว Apple จะค่อนข้างให้ความสำคัญกับประเทศที่สร้างรายได้ให้บริษัทเยอะที่สุดก่อนเสมอ
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแหล่งรายได้หลัก ๆ ของ Apple นั้น จะมาจาก 5 พื้นที่ ดังต่อไปนี้
1) อเมริกา
2) ยุโรป
3) จีน
4) ญี่ปุ่น
5) ประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ตามลำดับ
จะเห็นได้ว่า อเมริกา, ยุโรป และจีน พื้นที่ดังกล่าวมักจะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Tier 1 หรือประเทศกลุ่มแรกที่จะมีการขายผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จาก Apple ก่อนประเทศอื่นเป็นประจำ
ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่แม้ไม่ได้มีสัดส่วนรายได้ให้กับบริษัทเยอะ แต่ถ้า Apple ประเมินแล้วเห็นว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพพอ ก็จะมีการจัดให้ประเทศนั้น ๆ ไปอยู่ในกลุ่ม Tier 1 ด้วยเช่นเดียวกัน
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วประเทศที่มีศักยภาพพอ Apple ก็จะมีการลงทุนไปเปิด Apple Store ไว้ที่ประเทศ/ตลาดนั้น ๆ ด้วย เช่น สิงคโปร์ มี Apple Store 3 สาขา, ฮ่องกง 6 สาขา, ไต้หวัน 2 สาขา และประเทศไทย 2 สาขา..
มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า “ประเทศไทย” ก็ดูมีคุณสมบัติครบในสายตาของ Apple ในการที่จะปรับให้เรากลายเป็นประเทศกลุ่ม Tier 1 เพราะไม่อย่างนั้น Apple จะลงทุนมาเปิด Apple Store ทำไมถึง 2 สาขา ?
แล้วทำไมที่ผ่านมา ประเทศไทย ถึงไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Tier 1 ?
คำตอบของเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปตอนที่ iPhone 6 และ iPhone 6 Plus เปิดตัวในปี 2557..
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ในการนำอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารใด ๆ ก็ตามที่ “ใส่ซิมได้” เข้ามาจัดจำหน่ายในประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องให้ กสทช. เป็นคนตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของอุปกรณ์ดังกล่าวเสียก่อน
ดังนั้น iPhone ที่เป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ใส่ซิมได้ ก็อยู่ภายใต้กฎข้อบังคับดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน
โดยในช่วงนั้น.. ตลาดในประเทศไทยเองก็เริ่มทำคะแนนได้เข้าตา Apple มากขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงรุ่น iPhone 6 และ iPhone 6 Plus ที่ทาง Apple ได้ส่งตัวต้นแบบมาให้ กสทช. ตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน เพื่อที่จะได้นำมาจำหน่ายในประเทศไทยเร็วกว่าปกติ
ซึ่งหมายความว่า Apple ได้เห็นถึงศักยภาพของตลาดประเทศไทย ว่าพร้อมสำหรับการเป็น Tier ต้น ๆ แล้วตั้งแต่ตอนนั้น..
แล้วเรื่องมันก็เกิดขึ้น เพราะมีเจ้าหน้าที่ในองค์กร กสทช. ดันไปทวีตข้อความว่า “iPhone 6 ได้ผ่านการอนุมัติให้จำหน่ายในไทยแล้ว”
เรื่องนี้กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เพราะในตอนนั้น Apple ยังไม่ได้แม้แต่ประกาศชื่อรุ่น iPhone 6 ออกมา และยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ
ซึ่งในแง่ของการตลาดนั้นนับว่าเสียหายเป็นอย่างมาก จึงทำให้ประเทศไทยถูกปรับลด Tier ลงมาเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ตอนนั้น..
เรื่องนี้นับเป็นบทเรียนของทั้ง Apple และหน่วยงานของประเทศไทย เพราะ กสทช. ก็ได้ออกมาชี้แจงว่าการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว เป็นเพียงขั้นตอนตามกฎหมายเท่านั้น และ กสทช. เองก็ไม่ได้มีการบอกถึงสเป็กเครื่อง และรายละเอียดอื่น ๆ ของ iPhone 6 แต่อย่างใด..
ส่วน Apple ก็ได้บทเรียนสำหรับการไม่ศึกษาถึงข้อบังคับต่าง ๆ ให้ดีก่อนจะทำตลาดในต่างประเทศ
ดังนั้นสิ่งที่ Apple ทำได้ จึงเป็นการปรับให้ผลิตภัณฑ์ที่จะมาขายในไทยหลังจากนั้น ต้องรอให้ผ่านวันเปิดตัวไปก่อน แล้วค่อยส่งเครื่องให้ กสทช. ตรวจสอบมาตรฐานตามปกติเท่านั้นเอง จึงทำให้ช่วงเวลาในการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์จริง ต้องรอหลังงานเปิดตัวไปพอสมควร..
อย่างไรก็ตาม ในการเปิดตัว iPhone 14 ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ได้มีการขยับขึ้นไปอยู่ในกลุ่ม Tier 1 เรียบร้อยแล้ว ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะผู้บริโภคชาวไทยเอง ที่ยังคงสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของ Apple มาตลอด
อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการสื่อสารกันที่ดีขึ้นของหน่วยงานไทย และ Apple
เพราะในเมื่อ iPhone 14 สามารถนำมาจำหน่ายได้เร็วขนาดนี้ ก็หมายความว่า กสทช. ได้มีการรับรองมาตรฐานให้ iPhone 14 ไปก่อนหน้านี้แล้วเช่นกัน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.