ธนาคารไทยเครดิต หุ้นธนาคารน้องใหม่ของตลาดหุ้นไทย ในรอบ 10 ปี

ธนาคารไทยเครดิต หุ้นธนาคารน้องใหม่ของตลาดหุ้นไทย ในรอบ 10 ปี

26 ม.ค. 2024
ครั้งล่าสุดที่มีธนาคารพาณิชย์ IPO เข้าตลาดหุ้น คือ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2554 หรือเกือบ 13 ปีที่แล้ว
ในครั้งนั้น เป็นการจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้น ของบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG เจ้าของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
เหตุผลที่เราไม่ค่อยได้เห็นธนาคารพาณิชย์เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
เนื่องจากธุรกิจธนาคารนั้น นอกจากจะต้องมีเงินทุนจำนวนมากแล้ว ยังต้องอาศัยความเชื่อมั่นที่สูง
อีกทั้งต้องผ่านการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด
แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ เราจะได้เห็นธนาคารที่บางคนอาจจะไม่คุ้นหู แต่อยู่คู่คนไทยมานานถึง 17 ปี จดทะเบียนเข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
นั่นก็คือ “ธนาคารไทยเครดิต”
แล้วธนาคารไทยเครดิต คือใคร ?
มีอะไรที่แตกต่างจากธนาคารอื่น ๆ ในตลาดหุ้น ?
แรกเริ่มธนาคารไทยเครดิต มีชื่อว่า “ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย”
แต่หลังจากได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ จากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ธนาคารไทยเครดิต”
จากชื่อเดิมของธนาคารฯ ก็คงจะเดาได้ไม่ยากว่า กลุ่มลูกค้าหลักของธนาคารฯ คือ ลูกค้ารายย่อย
แต่จุดที่น่าสนใจคือ กลุ่มลูกค้ารายย่อยของธนาคารไทยเครดิตนั้น ไม่ใช่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือว่า SME แบบธนาคารอื่น ๆ
แต่เป็นกลุ่ม​ Micro SME หรือธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีพนักงานไม่เกิน 5 คน รวมถึงกลุ่มสินเชื่อ Nano Finance และ Micro Finance ที่มีวงเงินกู้ตั้งแต่ 20,000 บาท ไปจนถึง 200,000 บาท
พูดง่าย ๆ ก็คือ กลุ่มลูกค้าของธนาคารไทยเครดิต ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด และเจ้าของร้านชากาแฟเล็ก ๆ ข้างทาง ที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน นั่นเอง
ถึงแม้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้จะดูเล็กมาก ๆ แต่ด้วยจำนวนอันมหาศาล ก็ทำให้มูลค่าเศรษฐกิจของธุรกิจรายย่อยเหล่านี้ คิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของ GDP เศรษฐกิจไทย และทำให้เกิดตลาดสินเชื่อนอกระบบ ที่สูงถึง 2.4 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว
ดังนั้น เมื่อเล็งเห็นช่องว่างในตลาดตรงนี้ ธนาคารไทยเครดิต จึงได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการนำเงินฝาก จากกลุ่มลูกค้าเงินฝากที่มีเงินจำนวนมาก มาปล่อยกู้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ผ่านสาขาสินเชื่อทั้งหมด 500 สาขา
จุดนี้เอง จึงทำให้ธนาคารไทยเครดิตกลายเป็นธนาคาร ที่เติบโตสูงเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการเติบโตของกำไรและเงินให้สินเชื่อ
- ปี 2563 เงินให้สินเชื่อ 68,562 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,373 ล้านบาท
- ปี 2564 เงินให้สินเชื่อ 97,729 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,935 ล้านบาท
- ปี 2565 เงินให้สินเชื่อ 121,298 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,353 ล้านบาท
- 9 เดือน ปี 2566 เงินให้สินเชื่อ 138,435 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,817 ล้านบาท
นอกจากการมองเห็นช่องทางในตลาดแล้ว การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้กำไรของธนาคารไทยเครดิตเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
จากรายงานของ IPSOS ณ เดือนกันยายน ปี 2566 ชี้ให้เห็นว่า อัตราส่วนทางการเงินหลาย ๆ อย่างของธนาคารไทยเครดิตถือว่าทำได้ดีมาก เมื่อเทียบกับธนาคารอื่น ๆ รวมไปถึงกลุ่ม Non-Bank ที่เข้าตลาดหุ้นไปก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น
- Net Interest Margin หรือ NIM
ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร ที่สูงถึง 8.2% เทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคารอื่น ๆ จะอยู่ที่ประมาณ 3.7%
- Cost to Income Ratio หรือ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคาร
ที่อยู่เพียงแค่ 36.2% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารอื่น ๆ จะอยู่ที่ประมาณ 43.4%
- Return on Investment หรือ ROE
ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า ผู้บริหารนำเงินที่ได้จากผู้ถือหุ้นไปสร้างผลตอบแทน กลับมาได้มากแค่ไหน ก็สูงถึง 21.8% เทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคาร รวมถึงกลุ่ม Non-Bank อื่น ๆ จะอยู่ที่ประมาณ 12.9%
ปัจจัยที่ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคาร น้อยกว่าธนาคารอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด ก็มาจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยประหยัดต้นทุน
เช่น ให้ลูกค้าชำระสินเชื่อผ่าน e-Wallet อย่าง MicroPay ได้ รวมไปถึงการให้บริการธุรกรรมทางการเงิน ผ่านแอปพลิเคชัน Mobile Banking อย่าง alpha by Thai Credit
อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารไทยเครดิตจะมีพอร์ตสินเชื่อ เป็นลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก
ซึ่งส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูง แต่ธนาคารยังคงรักษาอัตราส่วน NPL ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ที่ 4%
และ NPL ของธนาคาร 62.4% ก็ได้รับการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งทางธนาคารไทยเครดิต สามารถเคลมเงินคืนได้ ถ้าหากปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่สามารถจ่ายได้
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการควบคุมความเสี่ยงที่รัดกุม โดยได้ตั้งเงินสํารองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL Coverage มากถึง 165% จากจำนวน NPL ทั้งหมดอีกด้วย
เรียกได้ว่าธนาคารไทยเครดิต มีความโดดเด่นจากธนาคารอื่น ๆ ในตลาดหุ้น มากทีเดียว
เพราะสามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยการให้สินเชื่อกับรายย่อย คล้ายกับธุรกิจ Non-Bank
แต่ก็มีความมั่นคงค่อนข้างสูง เพราะมีการกำกับดูแลความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เหมือนกับธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ
จากทั้งหมดนี้เอง จึงทำให้ธนาคารไทยเครดิตเป็นอีกหนึ่งโอกาสอันน่าสนใจสำหรับนักลงทุน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.