รู้จัก Telegram แอปสื่อสาร ที่รัฐบาลรัสเซียแบนไม่สำเร็จ

รู้จัก Telegram แอปสื่อสาร ที่รัฐบาลรัสเซียแบนไม่สำเร็จ

20 ต.ค. 2020
1) Telegram คือ แอปพลิเคชันสำหรับแช็ต ก่อตั้งโดยสองพี่น้องสัญชาติรัสเซีย
นิโคไล และ พาเวล ดูรอฟ (Nikolai & Pavel Durov) ซึ่งเป็นคนเดียวกับผู้สร้าง VK.com แพลตฟอร์มโซเชียล มีเดีย ชื่อดังในรัสเซีย
และพาเวล ดูรอฟ ยังได้ฉายาว่าเป็น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่งรัสเซีย อีกด้วย
2) ทีมนักพัฒนาที่อยู่เบื้องหลังของ Telegram มาจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย
ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่า มีวิศวกรที่มีทักษะระดับสูง
(แต่ปัจจุบันทีมพัฒนา Telegram ได้ย้ายมาตั้งสำนักงานอยู่ที่ดูไบ)
3) Telegram เปิดตัวครั้งแรกบน Google Play Store และ App Store ในปี 2013
โดยเป้าหมายคือ ต้องการให้การสนทนามี “ความปลอดภัย” ใช้งานง่าย และข้อความสามารถถูกส่งต่อได้อย่างรวดเร็ว โดยหนึ่งห้องแช็ต สามารถมีสมาชิกได้สูงสุดถึง 2 แสนคน..
4) ฟีเจอร์ส่วนใหญ่ใน Telegram แทบจะไม่ต่างกับแอปแช็ตอื่นๆ
เช่น การโทร, วิดีโอคอล, บรอดแคสต์, ส่งสติกเกอร์ หรือภาพเคลื่อนไหว, สร้างโพล และห้องแช็ตลับ
5) สิ่งที่ Telegram ต่างจากแอปแช็ตอื่น คือ ผู้ใช้งานสามารถใช้แอปผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกัน โดยไม่จำกัดจำนวนอุปกรณ์ และผู้ใช้งานสามารถสำรองข้อมูลไว้บนคลาวด์ ได้มากกว่า 2GB
6) ใครที่ใช้ห้องแช็ตลับ การสนทนาทั้งหมดจะถูกเข้ารหัส (End-to-end encryption)
ทำให้ผู้อื่นไม่สามารถอ่านข้อความบนเซิร์ฟเวอร์ และไม่สามารถส่งต่อข้อความได้
นอกจากนี้ข้อความที่ส่งสามารถแก้ไขได้ภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากที่ส่งครั้งแรก
และสามารถตั้งเวลาให้ลบข้อมูลตัวเองแบบอัตโนมัติได้ตลอด
7) Telegram เป็นแอปที่ให้บริการฟรี ไม่ขายข้อมูลและรับโฆษณาใดๆ
โดยผู้สร้างแพลตฟอร์มนี้ ยึดหลักความเป็นส่วนตัวสูงสุด มากกว่าเป้าหมายการสร้างกำไรให้กับบริษัท
8) เมื่อเดือนเมษายน 2020 ทาง Telegram ได้รายงานว่ามีผู้ใช้ต่อเดือนถึง 400 ล้านบัญชี ทั่วโลก
เมี่อเทียบกับ LINE ที่มีผู้ใช้งานต่อเดือน 166 ล้านบัญชี ทั่วโลก
9) ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 มีกลุ่มคนหัวรุนแรงในรัสเซีย ใช้แอป Telegram ในการติดต่อสื่อสาร รัฐบาลรัสเซียจึงขอข้อมูลการสนทนาจาก Telegram แต่ Telegram ไม่ยอมส่งให้
รัฐบาลรัสเซียจึงต้องการแบนแอป Telegram โดยพยายามหาช่องทางปิดกั้นการเข้าถึงแอป
อย่างไรก็ตามผู้ใช้งานในรัสเซีย ก็ยังสามารถเข้าถึงและใช้แอป Telegram ได้อยู่ดี
สุดท้ายรัฐบาลรัสเซีย ก็ได้ยกเลิกการแบน Telegram ในวันที่ 18 มิถุนายน 2020
10) และเดือนเมษายนปี 2020 กลุ่มผู้ชุมนุมขับเคลื่อนประชาธิปไตยในฮ่องกง
ได้ใช้ Telegram ในการนัดพบ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมการชุมนุม
และในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การประท้วงที่ เบลารุส ก็มีการใช้ Telegram ในการติดต่อสื่อสาร เช่นกัน
11) ทั้งนี้ ทางรัฐบาลฮ่องกง และเบลารุส ต่างก็พยายามแบน Telegram เหมือนกับรัสเซีย
แต่ก็ยังไม่มีใครทำได้สำเร็จ..
เรื่องทั้งหมดนี้ จึงทำให้ Telegram ถูกยอมรับว่าเป็นแอปแช็ต ที่มีความปลอดภัยมากที่สุดในโลก และก็ได้ถูกนำมาใช้ในการชุมนุมของไทยล่าสุด นั่นเอง
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.