Shazam แอปหาชื่อเพลง ที่เกิดจากการคิดนอกกรอบ

Shazam แอปหาชื่อเพลง ที่เกิดจากการคิดนอกกรอบ

1 พ.ย. 2020
เวลาเราไปเดินห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่อื่นๆ 
แล้วบังเอิญได้ยินเพลงหนึ่ง ที่เรารู้สึกชอบขึ้นมา แต่ไม่รู้ว่าเพลงนี้มีชื่อว่าอะไร 
เราจะทำอย่างไร ?
ถ้าเป็นสมัยก่อน คงต้องนั่งจำเนื้อเพลงหรือทำนอง 
เพื่อไปถามเพื่อน หรือค้นหาในอินเทอร์เน็ต
แต่ปัจจุบันนี้ เรามีแอปพลิเคชันจดจำเพลง 
ที่เมื่อกดปุ่มฟังเพลง ระบบก็จะหาชื่อเพลงที่เราชอบมาให้ในทันที 
และหนึ่งในแอปพลิเคชันจดจำเพลงที่นิยมมากที่สุด ก็คือแอป “Shazam” 
รู้ไหมว่าแอปนี้ เป็นแอปที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ซื้อไปด้วยมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท 
“Shazam” หากใครเป็นแฟนคอมมิก คงจะคุ้นเคยกันดีกับตัวละครนี้ 
เพราะเป็นหนึ่งในฮีโรที่เก่งกาจอันดับต้นๆ ของจักรวาลคอมมิก DC
และมีชื่อมาจาก ชื่อย่อของเทพเจ้ากรีกในตำนานทั้ง 6 
นอกจากนี้ คำว่า Shazam ก็เป็นคำที่หมายถึง การใช้เวทมนตร์ หรือ การร่ายคาถา ได้อีกด้วย 
อย่างเช่น เวลาจะเสกคาถาอะไรสักอย่าง เราก็จะพูดว่า Shazam! 
ซึ่งนี่ก็เป็นกิมมิก ที่ผู้ให้กำเนิดแอปอย่างคุณ Chris Barton นั้นต้องการจะสื่อถึงความมหัศจรรย์ของแอปนี้ 
รู้ไหมว่า ถึงแม้ Shazam จะดูเหมือนเป็นแอปหน้าใหม่ 
แต่ความจริงแล้ว Shazam นั้นเกิดก่อน iPhone ถึง 7 ปี 
และเกิดมาก่อน App Store ถึง 8 ปี เสียอีก..
แล้วเมื่อ 20 ปีก่อน เทคโนโลยีการค้นหาเพลงเป็นอย่างไร ?  
คำตอบคือ การหาเพลงในสมัยนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะส่วนมากจะเป็นเพลงที่เปิดจากวิทยุ 
ซึ่งหากใครอยากรู้ว่าชื่อเพลงอะไร ก็ต้องจำวันเวลา และคลื่นความถี่ที่ฟัง เพื่อนำไปสอบถาม 
ไม่สามารถใช้โทรศัพท์ค้นหาเพลงได้ทันทีแบบในปัจจุบัน 
แล้วจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีนี้ คืออะไร ? 
เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนโลกของการค้นหาเพลงก็คือ Audio Fingerprint 
หรืออธิบายง่ายๆ คือ ลายพิมพ์ของข้อมูลมัลติมิเดีย 
ซึ่งคล้ายๆ กับลายนิ้วมือของมนุษย์ที่ช่วยระบุตัวบุคคล แต่อยู่ในรูปของเพลงแทน 
ทำให้ Shazam นั้นสามารถจับคู่เพลงที่ฟัง กับเพลงที่มีอยู่ในฐานข้อมูลได้ 
ซึ่งตอนที่คุณ Chris Barton เป็นนักศึกษา MBA ที่มหาวิทยาลัย University of California, Berkeley เมื่อปี ค.ศ. 1999 เขามีไอเดียอยากพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการบันทึกเพลงที่เปิดตามคลื่นวิทยุ 
เพื่อที่จะทำให้เขามีฐานข้อมูลเพลงที่เปิดทั้งหมดในเวลานั้น 
และช่วยอำนวยความสะดวกในการหาเพลงให้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ดี คุณ Chris ก็ได้นำความรู้ด้าน MBA ที่เรียนมาลองปรับใช้ 
โดยพยายามคิดนอกกรอบ และหันมามองในมุมของคู่แข่ง 
ทำให้เขาเกิดมุมมองใหม่ว่า 
แล้วถ้าหากคู่แข่งของเขาสามารถใช้โทรศัพท์มือถือฟังเพลง แล้วบอกชื่อเพลงได้ทันทีจะเป็นอย่างไร ? 
และนี่จึงเป็นจุดกำเนิดของการพัฒนา Shazam ขึ้นมานั่นเอง
จากยุคแรก ก่อนที่จะมีสมาร์ตโฟน 
คุณ Chris และเพื่อนก็ได้พัฒนาเป็นระบบโทรออก โดยกดเบอร์ 2580 เพื่อฟังเพลง แล้วระบบก็จะส่งข้อความเป็นชื่อเพลงกลับไป โดยคิดค่าบริการต่อครั้ง ครั้งละประมาณ 30 บาท 
ต่อมาเมื่อเริ่มมี iPhone และ App Store ในปี 2008 
Shazam ก็ก้าวเข้าเข้าสู่วงการแอปพลิเคชันทันที 
โดยใช้เวลาเพียง 1 ปี Shazam ก็มียอดดาวน์โหลดกว่า 10 ล้านครั้ง 
มีผู้ใช้งานจาก 150 ประเทศทั่วโลก 
และค่อยๆ กลายมาเป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันจดจำเพลง ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 
Shazam มีการจับมือร่วมกับ Music Streaming หลายๆ ค่าย 
เพื่อทำให้สามารถเปิดเพลงหลังจากที่ค้นหาจากแอป Shazam ได้ทันที 
ปี 2015 Shazam มียอดดาวน์โหลดทั้งหมดรวม 1,000 ล้านครั้ง 
ปี 2016 มีการค้นหาเพลงบน Shazam รวมทั้งหมดกว่า 30,000 ล้านครั้ง
ปี 2017 มีตัวเลขผู้ใช้งานต่อปีกว่า 400 ล้านคน 
จนสุดท้ายในปี 2017 
Shazam ก็ได้มาเข้าตาบริษัทอย่าง Apple 
ผู้ที่กำลังก้าวเข้ามาสู่วงการ Music Streaming ผ่านทางแอปพลิเคชันใหม่อย่าง Apple Music 
โดย Apple ใช้เวลากว่า 1 ปี ในการเจรจาและในที่สุดก็สามารถปิดดีลนี้ไปด้วยมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท 
ซึ่งการมี Shazam นั้น จะสามารถช่วย Apple นำข้อมูลไปช่วยเสริมความแข็งแกร่งของ Apple Music 
ต่อมาในปี 2018 ตัวเลขผู้ใช้งานของ Shazam ก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จาก 400 ล้านคน เป็น 478 ล้านคน 
และมีรายได้รวม 1,256 ล้านบาท
สรุปแล้ว แอปพลิเคชันหมื่นล้านนี้ อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย 
ถ้าหากวันนั้นคุณ Chris ไม่พยายามคิดนอกกรอบ ลองมองในมุมต่าง 
จนทำให้ เขาได้เกิดไอเดียที่เข้ามาเปลี่ยนวงการการค้นหาเพลง 
ที่จากเดิมใช้เวลาหลายนาที จนเหลือเพียง 10 วินาทีได้อย่างทุกวันนี้.. 
Tag:Shazam
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.