[อัปเดต] กรุงไทย พ้นสถานะการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา

[อัปเดต] กรุงไทย พ้นสถานะการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา

7 พ.ย. 2020
ธนาคารกรุงไทย หรือ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ส่งเอกสารรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยชี้แจงว่า ธนาคารกรุงไทย “ไม่มีลักษณะเป็นรัฐวิสาหกิจ” ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา
โดยในเอกสารฉบับดังกล่าว มีใจความสำคัญสรุปได้ว่า 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งผลการพิจารณา ว่า บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ตาม (2) และ (3) ของบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของธนาคารกรุงไทยตามความเห็นข้างต้น อาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารและต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจหลายฉบับ
ทั้งนี้ธนาคารกรุงไทยอยู่ในระหว่างการพิจารณาถึงผลกระทบด้านต่างๆ ซึ่งหากมีความชัดเจนแล้ว จะแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป
ที่น่าสนใจคือ ธนาคารกรุงไทยได้แจ้งว่าหลังจากการศึกษาความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของธนาคาร สรุปได้ว่า “ผู้บริหารสูงสุด ตลอดจนพนักงานของธนาคาร ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระาชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518”
ทั้งนี้ สาระสำคัญของ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 คือ“คำนิยาม” รัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
“รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า
(1)องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
(2)บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ
(3)บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตาม (1) หรือ (2) หรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) และ (2) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (2) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ
ประเด็นของเรื่องนี้คือ ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ ธนาคารกรุงไทย คือ กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งถือหุ้นอยู่จำนวน 55.07% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
ซึ่งผลที่ออกมาเช่นนี้จากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็แสดงว่า กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกิน 50% ในบริษัทธนาคารกรุงไทย มีสถานะ "ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ"
ก็เลยทำให้ ธนาคารกรุงไทย ไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามไปด้วย นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.