เจาะลึกพฤติกรรม และโอกาสในธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” ของประเทศไทย

เจาะลึกพฤติกรรม และโอกาสในธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” ของประเทศไทย

25 พ.ย. 2020
รายงานล่าสุดของนีลเส็น ภายใต้หัวข้อ Spot It Right : เจาะลึกโอกาสในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
เผยข้อมูลว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ของผู้บริโภคในประเทศไทยอย่างไร
โดยในภาพรวม การเติบโตของการใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ออนไลน์ ของประเทศไทย เพิ่มขึ้น 100% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ในขณะที่การเข้าถึง (Penetration) ของอีคอมเมิร์ซ เพิ่มขึ้น 50%
(ข้อมูลนับจากต้นปีมาถึงเดือนกรกฎาคม 2020 เทียบกับปี 2019)
ซึ่งพฤติกรรมในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์ของผู้บริโภค ในช่วงโควิดใน
แต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกัน โดยที่นักชอปในกรุงเทพฯ
มีการเข้าไปซื้อของทางออนไลน์บ่อยขึ้น (+22%) แต่มีการใช้จ่ายต่อเที่ยวน้อยลง (-14%)
ในทางตรงกันข้าม นักชอปออนไลน์ในเขตเมือง จะมีจำนวนครั้งที่เข้าไปจับจ่ายน้อยลง (-22%) แต่มียอดใช้จ่ายต่อเที่ยวสูงขึ้น (+19%)
อาหารและเครื่องดื่ม คือ กลุ่มสินค้าหลักที่ผลักดันให้เกิดการเติบโตของ สินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์
โดยอาหารแห้ง มีการเติบโตของมูลค่าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น 244%
อุปกรณ์ช่วยในการปรุงอาหาร เพิ่มขึ้น 87%
และอาหารสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 30%
(ข้อมูลนับจากต้นปีมาถึงเดือนกรกฎาคม 2020 เทียบกับปี 2019)
และในบรรดากลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตทางออนไลน์ในเชิงบวกทั้งหมด
กลุ่มสินค้าที่เป็นอาหารนั้น มีสัดส่วนเป็น 78% เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงก่อนโควิด
นอกจากนี้ เมื่อเจาะลึกลงไปในกลุ่มสินค้า 10 อันดับแรก ที่มีการเติบโตทางออนไลน์เพิ่มขึ้นในขณะที่ออฟไลน์น้อยลง พบว่า 8 ใน 10 หมวดหมู่นั้น มาจากหมวดอาหารด้วยกันทั้งสิ้น
ปกติแล้ว จะเห็นผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (Personal Care) เป็นผู้นำในมูลค่าการขายและการเติบโตของสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์มาตลอด ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
แต่ครั้งนี้ได้เห็นถึงอัตราการเติบโตของสินค้าประเภทของชำและอาหารที่พุ่งขึ้นสูงกว่าผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล และแม้ว่ามูลค่าของสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มทางออนไลน์ จะยังน้อยกว่าหมวดหมู่ที่ไม่ใช่อาหาร แต่ก็เป็นกลุ่มออนไลน์ที่กำลังเติบโต
"กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม มีสัดส่วนคิดเป็น 84% ของมูลค่าทั้งหมดในตลาด FMCG ออนไลน์และออฟไลน์ นั่นทำให้กลุ่มสินค้านี้มีโอกาสในการเติบโตสำหรับผู้ค้าปลีกออนไลน์อีกมาก
เราเห็นว่าขณะนี้ การชอปปิงสินค้าประเภทอาหารออนไลน์นั้นได้รับความนิยมมากขึ้น
จากสถานการณ์ทำให้เป็นโอกาสของผู้ค้าปลีกและเจ้าของสินค้า ในการรักษาและขยายฐานนักชอปออนไลน์ของตน" ภรวดี พรมิ่งมาศ ผู้อำนวยการ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเชิงลึกผู้บริโภค, บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
"กุญแจสำคัญคือ การค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นในการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค
และตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกัน ในภารกิจการจับจ่ายของผู้บริโภค เนื่องจากความคุ้นชิน การเปิดรับ และการมีส่วนร่วมของนักชอปในการซื้อของชำทางออนไลน์ จะเป็นตัวผลักดันกระแสออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง"
ทั้งนี้ ข้อมูลเผยให้เห็นสาเหตุหลัก ที่ดึงดูดผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ได้แก่
1)การประหยัดเวลา
2)ความสะดวกสบาย
3)ความปลอดภัย
และ 4)ความหลากหลายของสินค้า
ในขณะที่เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าแบบออฟไลน์ คือ
1)ความคุ้นเคย
2)ประสบการณ์
3)ความต้องการที่จะออกไปข้างนอก
และ 4)เพื่อหลีกเลี่ยงค่าจัดส่ง หรือการรอที่เกิดขึ้นจากการจัดส่ง
อีกทั้ง สำหรับผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าบนออนไลน์
จะใช้ช่องทางออนไลน์ เป็นช่องทางสำคัญในการค้นหาข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบราคา (41%)
และค้นหาโปรโมชันที่เหมาะสม (40%) ก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้า
------------------------------------
รายงานและข้อมูลจาก นีลเส็น 
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.