Grain สตาร์ตอัป ร้านอาหารออนไลน์ ระดมทุนนำโดย “สิงห์ เวนเจอร์” ได้มากกว่า 300 ล้านบาท

Grain สตาร์ตอัป ร้านอาหารออนไลน์ ระดมทุนนำโดย “สิงห์ เวนเจอร์” ได้มากกว่า 300 ล้านบาท

30 พ.ย. 2020
ในปัจจุบัน วงการต่างๆ ได้ถูกบริษัทหน้าใหม่ ซึ่งเรียกตัวเองว่า “สตาร์ตอัป”
เข้ามาดิสรัปทั้งอุตสาหกรรม ด้วยโมเดลธุรกิจ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งตอบโจทย์ยุคสมัยมากกว่า
ไม่ว่าจะเป็นวงการค้าปลีก, การเงินการธนาคาร และ สื่อ เป็นต้น
ซึ่งอีกอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาลอย่าง อุตสาหกรรมอาหาร
เราจะเห็นว่ามีสตาร์ตอัปบางรายได้เข้ามาบุกตลาดนี้แล้ว
เช่น Grab, LINEMAN, Foodpanda ที่ปฏิวัติพฤติกรรมการซื้ออาหาร ด้วยแพลตฟอร์มฟู้ด ดิลิเวอรี
และ “Grain” สตาร์ตอัปด้านร้านอาหารออนไลน์ (Online Restaurant) สัญชาติสิงคโปร์
ซึ่งกำลังเป็นสตาร์ตอัปดาวรุ่ง ก็เป็นอีกบริษัทที่น่าจับตามองในเวลานี้
Grain ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2014 ที่สิงคโปร์ โดยผู้ร่วมก่อตั้ง 4 คน
คือคุณ Yong Yi Sung, Ernest Sim, Gao Rifeng และ Isaac Tan
โดยบริษัทมีความเชี่ยวชาญและให้บริการด้าน “อาหารเพื่อสุขภาพ” ออนไลน์
ผ่านการจัดส่งอาหารแบบดิลิเวอรี ด้วยทีมงานจัดส่งของบริษัทเอง และพาร์ตเนอร์ธุรกิจอย่าง Foodpanda, Line Man, Gojek และ Grab Food
เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการทานอาหารเพื่อสุขภาพ ที่มีทั้งคุณภาพ รสชาติอร่อย และเข้าถึงได้ง่าย ได้สะดวก เพียงแค่สั่งผ่านเว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชันบนมือถือ
ซึ่งทุกเมนูอาหารที่ Grain นำเสนอ จะผ่านการคิดค้น คิดคอนเซปต์ ด้วยเชฟระดับ 5 ดาว มาอย่างรอบคอบ
และทุกเมนูจะได้รับแรงบันดาลใจในเรื่องวิธีการปรุง และรสชาติ จากทั่วทุกมุมโลก
มีการทดลองทำ R&D ลองผิดลองถูก จนกว่าจะได้เมนูที่คิดว่าดีที่สุด
เพื่อส่งมอบอาหารที่มีหน้าตาสวยงามและอร่อย ตรงถึงมือลูกค้าได้อย่างประทับใจ
นอกจากนี้ Grain ยังมีบริการจัดเลี้ยง (Catering) สำหรับองค์กรและงานอีเวนต์ต่างๆ และบริการ meal box สำหรับพนักงาน อีกด้วย
ในช่วงปีที่ผ่านมา
Grain สามารถระดมทุนในรอบ Series B ได้กว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 302 ล้านบาท
จาก Singha Ventures ของกลุ่มสิงห์ ผู้นำด้านธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศไทย
และจากนักลงทุนชื่อดังอื่นๆ ได้แก่ Genesis Alternative Ventures, Sassoon Investment Corp, Ozi Amanat, K2 Global, FoodXervices และ Majuven
เพื่อนำเงินทุนที่ได้ไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของธุรกิจ
และทำการขยายกิจการไปยังเมืองอื่นๆ ในเอเชียต่อไป
โดยเริ่มจากเมืองที่มีประชากรหนาแน่นอย่างกรุงเทพฯ
ซึ่งจากการประเมินด้านการระดมทุน และการเติบโตของธุรกิจ โดย The Straits Times และ Statista
Grain ได้ถูกจัดเป็นอันดับที่ 5 ในหมวดบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดของสิงคโปร์ ในปี 2019
แล้วกลุ่มสิงห์และนักลงทุนคนอื่นๆ เห็นอะไรใน Grain ถึงได้มอบเงินลงทุนให้?
ปัจจัยสำคัญหลักๆ ที่ทำให้ Grain ได้รับเงินระดมทุนจำนวนมาก น่าจะมี 3 เรื่องได้แก่
ปัจจัยความสำเร็จของ Grain เรื่องที่ 1: การเติบโตของตลาด
ปัจจุบัน ฟู้ด ดิลิเวอรี และ อาหารเพื่อสุขภาพ เป็น 2 ตลาดที่มีการอัตราการเติบโตสูงมาก
และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีกในอนาคต
เนื่องจากผู้คนรักความสะดวกสบาย และใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น
ซึ่งธุรกิจของ Grain ได้รับอานิสงส์จากทั้ง 2 ตลาดไปพร้อมๆ กัน
โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลก ที่เป็นตัวเร่งและส่งผลให้เทรนด์การรับประทานอาหารของคนเปลี่ยนไป มีร้านอาหารหลายร้าน ที่ต้องปิดตัวลงเนื่องจากปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคได้ไม่ทันท่วงที ในขณะที่ร้านอาหารที่ให้บริการแบบออนไลน์ กลับเติบโตแบบติดจรวด
Grain มองว่า วงการอาหารในอนาคต จะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
แต่หัวใจหลักของอาหารที่อร่อย สุขภาพดี ราคาจับต้องได้ และสะดวกสบาย ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจัยความสำเร็จของ Grain เรื่องที่ 2: โมเดลธุรกิจ
นอกจากโมเดลธุรกิจของ Grain จะตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคนี้และในอนาคตแล้ว
Grain ยังมีโมเดลที่สร้างจุดแข็ง และความแตกต่างจากธุรกิจร้านอาหารอื่นๆ
เช่น มีบริการจัดส่งอาหารแบบ Subscription จ่ายรายเดือน ที่ถูกออกแบบมาเฉพาะกับลูกค้าแต่ละคน
โดยลูกค้าเพียงเลือกโปรแกรมรายเดือนที่ต้องการ ซึ่งมีให้เลือก 3 แบบ
-SINGLES เริ่มต้น 1 เมนูหลัก/มื้อ และอย่างน้อย 3 มื้อ/สัปดาห์
-COUPLES เริ่มต้น 2 เมนูหลัก/มื้อ และอย่างน้อย 3 มื้อ/สัปดาห์
-FAMILIES เริ่มต้น 3 เมนูหลัก/มื้อ และอย่างน้อย 3 มื้อ/สัปดาห์
จากนั้นเลือกวันและเวลาสำหรับมื้ออาหาร
ทาง Grain ก็จะทำการจัดส่งอาหารที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละคน ไปให้ถึงที่บ้าน
และทุกคนจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนในทุกมื้อ
ซึ่งบริการ Subscription นี้
นอกจากจะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี ผ่านเมนูที่คัดสรรมาให้เฉพาะแต่ละคน และเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า เพราะไม่ต้องคอยสั่ง คอยเลือกเมนูเอง
โดย Grain มีการจัดส่งอาหารกว่า หลายพันมื้อต่อวัน ในสิงคโปร์
ส่วนในประเทศไทย Grain มีแผนที่จะเปิดให้บริการแบบ Subscription ในเร็วๆ นี้
ซึ่งธุรกิจในประเทศไทยนั้น อยู่ในช่วงเร่ิมต้นของการขยายธุรกิจ
โดยนอกจากแบรนด์ Grain แล้ว บริษัทยังมี Cloud Kitchen ชื่อ Fareground Thailand ที่รวมรวมอาหารเมนูต่างๆ มาตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น
- Grain: เมนูอาหารสุขภาพ Wholesome food ที่ทานอร่อยและได้สุขภาพที่ดี
- Hot Chick Buns: เมนูเบอร์เกอร์และไก่ทอด ซอสโฮมเมดรสชาติต่างๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Flavour ที่โด่งดังจากทั่วโลก
- Wokaholic: เมนูอาหาร Asian ที่ผัดด้วยกระทะ Wok แบบดั้งเดิม
- Salmon Mai: แซลมอนซาชิมิ เกรดพรีเมียม และ เมนูที่ทำจากปลาแซลมอน
ส่วนกลยุทธ์ธุรกิจหลักๆ ที่ใช้ในเมืองไทยตอนน้ี คือการทำ Partnership เพื่อสำรวจกลุ่มลูกค้า
และให้มาเข้าร่วมใน Fareground เพื่อเพิ่มประเภทของอาหารให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น
ปัจจัยความสำเร็จของ Grain เรื่องที่ 3: ศักยภาพของธุรกิจ
ปกติบริษัทสตาร์ตอัป ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าตลาด หรือสามารถครองตลาดแบบเบ็ดเสร็จได้จริง
บริษัทส่วนใหญ่ก็มักจะขาดทุนมหาศาลในแต่ละปี
เนื่องจากบริษัทได้ทุ่มเงินไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาเทคโนโลยี ให้เหนือคู่แข่ง
อัดฉีดสารพัดโพรโมชัน และทำการตลาด เพื่อดึงดูดลูกค้าหรือผู้ใช้งาน
เพราะหวังเข้ายึดครองส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด
ถ้าใครเคยดู ซีรีส์เกาหลีเรื่อง Start-Up ซีรีส์ที่กำลังฮอตฮิตในตอนนี้บน Netflix
ในซีรีส์จะมีประโยคที่เปรียบเปรยธุรกิจสตาร์ตอัป โดยพูดประมาณว่า
“การรีบหากำไรตั้งแต่ช่วงก่อตั้งธุรกิจ ก่อนที่จะโฟกัสกับการขยายกลุ่มฐานลูกค้า
ก็เหมือนกับคนที่กำลังลอยอยู่กลางมหาสมุทร แล้วพยายามดิ้นรนดื่มน้ำทะเล
ซึ่งจะทำให้ต้องเสียชีวิต ก่อนไปถึงฝั่ง..”
แล้วถ้าบริษัทสตาร์ตอัป ขาดทุน หรือ มีรายได้ น้อยกว่า รายจ่าย
ทำไมสตาร์ตอัปถึงสามารถอยู่รอด และขยายธุรกิจต่อไปได้ ?
คำตอบคือ เพราะสตาร์ตอัป ยังคงสามารถระดมทุน จากนักลงทุนได้เรื่อยอยู่ๆ
ดังนั้น เงินทุน จึงเปรียบเสมือน ลมหายใจของสตาร์ตอัปในช่วงแรกๆ
หรือ น้ำฝน ที่คอยช่วยประทังชีวิตคนที่ลอยอยู่กลางมหาสมุทร
ซึ่งจากซีรีส์เรื่อง Start-Up จะเห็นไว้ว่า
บริษัทสตาร์ตอัปของกลุ่มตัวเอก และสตาร์ตอัปของคนอื่นๆ ในเรื่อง
ต่างพยายามแข่งขันกันสุดชีวิต เพื่อให้ได้เข้า Sandbox และโชว์โมเดลธุรกิจ หรือผลิตภัณฑ์ ที่น่าตื่นเต้น เพื่อหวังโน้มน้าวให้นักลงทุนยอมมอบเงินลงทุนให้ เพื่อให้บริษัทอยู่รอด และมีโอกาสประสบความสำเร็จ เติบโตเป็นบริษัทใหญ่ๆ ได้ในอนาคต
สรุปแล้ว นักลงทุน พร้อมมอบเงินลงทุนให้กับ สตาร์ตอัปที่มีศักยภาพในการเติบโต และมีอนาคต
แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจจะยังคงขาดทุนอยู่ก็ตาม
ซึ่ง Grain ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีศักยภาพสูงในสายตาของนักลงทุน
โดยบริษัทมีเป้าหมาย คือ การเป็นมากกว่าร้านอาหารออนไลน์
ด้วยการให้ความสำคัญกับ "Data" และ "Tech-enabled network" มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนธุรกิจ
โดยการดีไซน์ Personalized menu, สูตรอาหาร, ราคาและโปรโมชัน ให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละบุคคล
การใช้ Loyalty program และวิเคราะห์ Data เพื่อคำนวณดีมานต์ของลูกค้า เหมือนโมเดลของแบรนด์อีคอมเมิร์ซดังระดับโลกอย่าง Amazon.com
เรื่องทั้งหมดนี้ ทำให้ Grain Thailand มีอัตราการกลับมาใช้บริการ (Retention rate) ของลูกค้าสูงมาก
สะท้อนถึงความประทับใจในรสชาติ และคุณภาพของอาหาร จาก Grain
ทั้งนี้ จริงๆ แล้ว Grain สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น แม้ไม่ต้องระดมทุนเพิ่ม
เพราะ Grain สามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ปี 2018 แล้ว
Yi Sung Yong ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Grain
เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สิ่งที่บริษัทโฟกัสจริงๆ คือ การพึ่งพารายได้และกำไร จากผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็นหลัก และบริษัทไม่ได้ดำเนินธุรกิจเพื่อหวังเงินทุนจากนักลงทุนเป็นหลักเหมือนกับสตาร์ตอัปรายอื่นๆ
ซึ่งการระดมทุนรอบ Series B บริษัทก็ไม่ได้หวังด้วยซ้ำว่าจะได้รับเงินลงทุนจำนวนมาก
แต่เผอิญว่า นักลงทุนต่างกลับชื่นชอบสตาร์ตอัปที่มีโมเดลธุรกิจชัดเจนอย่าง Grain ที่สามารถทำกำไร และยืนด้วยลําแข้งของตัวเองได้โดยไม่คิดหวังพึ่งพานักลงทุนเพียงอย่างเดียว
Grain จึงมีเสน่ห์ และสามารถดึงดูดเงินทุน จากนักลงทุนได้เป็นจำนวนมาก
และ Grain ก็จะนำเงินระดมทุนที่ได้รับมา ไปขยายธุรกิจ เพื่อสร้างกำไรให้เติบโตขึ้นไปอีกนั่นเอง..
Tag:Grain
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.