ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด ตลาดรถยนต์ไทยปีนี้ หดตัว 24% และปีหน้าขยายตัว 7% - 11%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด ตลาดรถยนต์ไทยปีนี้ หดตัว 24% และปีหน้าขยายตัว 7% - 11%

10 ธ.ค. 2020
เข้าปี 2563 ไม่นาน ทั่วโลกต่างเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 ไม่เว้นแม้แต่ไทยที่แม้ปัจจุบันจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในระดับดี แต่ผลกระทบที่ตามมาต่อระบบเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก
ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากนั้น ทำให้ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของคนในประเทศหดหาย ยังผลต่อเนื่องไปสู่ยอดขายรถยนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มหดตัวลงตลอดทั้งปี แม้จะเริ่มส่งสัญญาณการกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีก็ตาม
ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2563 นี้ น่าจะมีโอกาสแตะระดับ 770,000 คัน หรือหดตัวกว่า 23.6% จากปี 2562 ที่ขายได้ 1,007,552 คัน ซึ่งก็หดตัวเช่นกันกว่า 3.3% จากปี 2561
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี 2564 ทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศมีโอกาสกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง เมื่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศเริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับในปีหน้ามีแนวโน้มที่หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยจะมีโอกาสได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ซึ่งจะกลายมาเป็นปัจจัยช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย
เมื่อการท่องเที่ยว การลงทุน และการค้าขายระหว่างประเทศกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง แม้จะยังไม่กลับสู่ระดับปกติ โดยปัจจัยเหล่าผนวกกับการออกแคมเปญแข่งขันกันของค่ายรถ จึงมีผลโดยตรงต่อทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2564
ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะขยายตัวได้กว่า 7% - 11% คิดเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นสู่ตัวเลข 825,000 ถึง 855,000 คัน
อย่างไรก็ตามคาดการณ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าภาครัฐไม่มีความจำเป็นต้องดึงมาตรการล็อกดาวน์มาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 อีกครั้งในปีหน้า
ซึ่งในปี 2564 นี้คาดว่ารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ รถยนต์กลุ่ม xEV ซึ่งประกอบด้วยรถยนต์ไฮบริด (HEV) รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะเป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด
ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มการเข้าสู่ยุคแห่งรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เช่นเดียวกับตลาดโลก แม้ว่าจะยังเป็นตัวเลขที่น้อยกว่ามาก เนื่องจากไทยยังนับเป็นตลาดเกิดใหม่ของกลุ่มรถยนต์ xEV
แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศที่แม้จะยังไม่มีมาตรการกระตุ้นตลาดอย่างชัดเจนจากทางภาครัฐเข้ามา จะมีก็เพียงแต่มาตรการส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน แต่เมื่อเทียบกับรถยนต์ประเภทอื่นแล้ว ตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศกลับเติบโตรุดหน้าสวนทางตลาด เนื่องจากผู้บริโภคหลักเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก
และศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2564 ถ้าการแพร่เชื้อโควิด 19 ในประเทศยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ยอดขายรถยนต์กลุ่มนี้ในไทยน่าจะยิ่งเร่งตัวขึ้น หลังการเข้ามาแข่งขันของค่ายรถที่ทวีความดุเดือดขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อรถยนต์หลายรุ่นกลุ่ม xEV เริ่มเข้ามารุกตลาดกลุ่มราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเปิดตลาดสู่กลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ขึ้น โดยคาดการณ์ยอดขายของรถยนต์แต่ละประเภทในปีหน้ามีรายละเอียดดังนี้
-สำหรับรถยนต์กลุ่ม HEV และ PHEV ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2564 นี้ ค่ายรถจะเริ่มดันให้รถยนต์รุ่น HEV และ PHEV กลายมาเป็นโมเดลมาตรฐานของแต่ละค่ายรถมากขึ้น ซึ่งจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนยอดขายรถยนต์ในกลุ่มนี้ปรับเพิ่มขึ้น
โดยคาดว่าจะมีประมาณ 48,000 ถึง 50,000 คัน หรือขยายตัวกว่า 10% - 23% ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัว 17% คิดเป็นยอดขาย 31,000 คัน
-สำหรับรถยนต์ BEV ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2564 นี้ มีโอกาสเติบโตจากการเข้ามาบุกตลาดของรถยนต์ BEV สัญชาติจีนได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอและยังได้สิทธิ์ภาษีนำเข้า 0% ผ่านข้อตกลงการค้าเสรีไทย-จีน ทำให้สามารถนำเข้ามาจำหน่ายในช่วงแรกได้ด้วยระดับราคาไม่สูงนัก ก่อนจะผลิตเพื่อทำตลาดในประเทศในอนาคต
ขณะที่ค่ายรถหรูยุโรปที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอก็จะเริ่มรุกตลาดรถยนต์ BEV ในปีนี้เช่นเดียวกัน ทำให้มีโอกาสจะขยายตัวได้สูง แต่ตัวเลขยอดขายอาจจะยังไม่สูงนักเนื่องจากยังเป็นตลาด niche อยู่ โดยน่าจะมียอดขายประมาณ 4,000 ถึง 5,000 คัน ขยายตัวกว่า 176% - 245% และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้ ที่คาดว่าจะขยายตัว 102% คิดเป็นยอดขาย 1,450 คัน
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ปัจจัยสนับสนุนหลักของตลาด BEV ในอนาคต คือ การที่ภาครัฐและเอกชนจะสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตลาดซึ่งมีกำลังซื้อพร้อม แต่ยังขาดความมั่นใจในเรื่องของการวางเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ทั่วถึง เมื่อเทคโนโลยีรถยนต์ BEV ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในเรื่องระยะทางวิ่งอยู่
อย่างไรก็ตาม จำนวนยอดขายรถยนต์กลุ่ม xEV ที่คาดการณ์ในไทยดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขขั้นต่ำจากการพิจารณาโครงการลงทุนที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน และจากที่ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นตลาดอื่นใดออกมา ซึ่งคาดว่าหากมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าน่าจะช่วยดึงดูดการลงทุนได้มากกว่าเดิม
โดยเฉพาะการเน้นกลยุทธ์สร้างให้เกิดคลัสเตอร์ชิ้นส่วนรถยนต์กลุ่ม xEV สามารถเป็นแม่เหล็กดูดค่ายรถให้เข้ามาลงทุนได้มากขึ้นในปีหน้า รวมถึงหากมีการนำมาตรการกระตุ้นตลาดที่เน้นให้ประโยชน์กับรถยนต์กลุ่ม xEV เข้ามาพิจารณาให้สิทธิประโยช์ในช่วงจังหวะที่เหมาะสมเพิ่มเติมในปีหน้า อาจมีผลทำให้ยอดขายรถยนต์กลุ่ม xEV ปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดได้
ส่วนรถยนต์ในกลุ่ม ICE ในปี 2564 ถ้าการแพร่เชื้อโควิด- 19 ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้และไม่ทำให้รัฐบาลต้องออกมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีโอกาสที่จะขยายตัวได้ดีนอกจากจะเป็นเพราะฐานที่ต่ำในปี 2563 แล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะทยอยเกิดขึ้นตลอดช่วงปีหน้าก็คาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ ICE เช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ที่ขยายตัวตามเทรนด์ตลาดปัจจุบันและรถปิกอัพที่คาดว่าจะเติบโตตามทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ ICE รวมน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 773,000 ถึง 800,000 คันได้ หรือขยายตัวกว่า 5% - 8% จากปีนี้ ที่คาดว่าจะหดตัวอย่างรุนแรงถึง 24.8% คิดเป็นยอดขายเพียง 737,550 คัน
โดยสรุป จากทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศปีหน้า เมื่อรวมเข้ากับการที่ไทยกำลังเร่งส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนผ่านของตลาดรถยนต์โลกสู่ยุคของรถยนต์กลุ่ม xEV ที่เร่งขึ้นกว่าอดีตหลังเกิดโควิด 19
ทำให้หากไทยใช้จังหวะโอกาสนี้ทำตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศให้เติบโตได้ดีจะช่วยเสริมแรงดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในประเทศได้มากขึ้น เป็นโอกาสให้ไทยขึ้นเป็นฐานการผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ของภูมิภาคได้ไม่ยาก ส่งให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศปี 2564 น่าจะทำได้ 72,000 ถึง 80,000 คัน ขยายตัวกว่า 60% - 78% จากที่คาดว่าจะผลิตประมาณ 45,000 คันในปี 2563
และปริมาณการผลิตรถยนต์รวมของประเทศน่าจะทำได้ 1,550,000 ถึง 1,620,000 คัน ขยายตัวกว่า 10% - 15% จากปีนี้ที่คาดว่าจะผลิตได้ 1,410,000 คัน หดตัวกว่า 30% จากปีก่อน
ในกรณีที่ไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจให้ชะลอลงกว่าที่คาด
อนึ่ง สำหรับมาตรการกระตุ้นตลาดอย่าง “รถเก่าแลกใหม่” ที่แม้ตอนนี้จะถูกดึงกลับไปพิจารณาถึงผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าหากมีการผลักดันนำเข้ามาใหม่ด้วยมาตรการที่ชัดเจนและเหมาะสม ก็คาดว่าจะน่าจะช่วยเร่งให้ตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV เติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งผลของมาตรการขึ้นอยู่กับการออกแบบที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น โดยในมุมของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าประเด็นที่ภาคส่วนต่างๆ อาจนำไปพิจารณาเพิ่มเพื่อประสิทธิผลที่สูงขึ้น ได้แก่ เรื่องสิทธิประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับโดยเปรียบเทียบกับราคาที่ผู้บริโภคจะสามารถขายต่อมือสอง เรื่องความพร้อมของอุตสาหกรรมกำจัดซากรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพในประเทศ เรื่องมาตรการจำกัดและลดปริมาณรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีในอนาคต เพื่อลดความต้องการถือครองรถยนต์เก่าของผู้บริโภคลง
และสุดท้ายเรื่องกรอบระยะเวลาให้สิทธิ์ประโยชน์ที่ไม่เร็วและสั้นจนเกินไป เนื่องจากรถยนต์กลุ่ม xEV ที่ผลิตในประเทศปัจจุบันยังมีไม่มากและการขึ้นสายผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ต้องอาศัยระยะเวลา แต่หากวางแผนได้ดีจะเป็นโอกาสให้ค่ายรถดึงรุ่นที่มีการผลิตในต่างประเทศแล้วให้เข้ามาไทยเร็วขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัจจัยเร่งสำคัญที่ภาคส่วนต่างๆ ควรพิจารณาด้วย คือ การเพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ หากมีเป้าหมายต้องการเร่งตลาด BEV และ PHEV ให้กลายเป็นรถรุ่นมาตรฐานดังเช่นหลายตลาดหลักของโลกในอนาคต
โดยจากข้อมูลสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยปัจจุบัน พบไทยยังมีสถานีชาร์จไฟฟ้าเพียงประมาณ 647 แห่ง (1,974 หัวจ่าย) หรือคิดเป็นสัดส่วนสถานีชาร์จ 1 แห่งต่อพื้นที่ 793 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น (โดยกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่)
ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังต่างกันมากกับประเทศที่กำลังแสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตลาด BEV และ PHEV ให้เติบโตเช่นกันอย่างสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันมีสถานีชาร์จเรียบร้อยแล้วกว่า 28,000 สถานี (90,000 หัวจ่าย) (ข้อมูลข่าวของสำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563) คิดเป็นสัดส่วนสถานีชาร์จ 1 แห่งต่อพื้นที่ 351 ตารางกิโลเมตร
และภายในปี 2573 สหรัฐฯ มีแผนจะเร่งเพิ่มหัวจ่ายขึ้นอีก 500,000 หัวจ่าย อันจะทำให้สัดส่วนสถานีชาร์จของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แห่งต่อพื้นที่ 53 ตารางกิโลเมตร
บทวิเคราะห์โดย - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.