กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว กลยุทธ์ธุรกิจที่ทำให้ความดี ทำกำไรได้

กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว กลยุทธ์ธุรกิจที่ทำให้ความดี ทำกำไรได้

1 ม.ค. 2021
การแข่งขัน การสร้างนวัตกรรม การทำกำไรสูงสุด การสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า
สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจ ที่บริษัทส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ
แต่มีกลยุทธ์หนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่แตกต่างออกไป
นั่นคือการมองว่าพื้นฐานของการทำธุรกิจ ควรเป็นเรื่องของความดีและความยั่งยืน แต่ก็ยังสามารถสร้างผลกำไรที่เหมาะสมให้กับธุรกิจได้
กลยุทธ์ที่เรากำลังจะพูดถึงก็คือ กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว (White Ocean Strategy)
ซึ่งผู้คิดค้นกลยุทธ์นี้คือ คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย เจ้าของหนังสือ White Ocean Strategy กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว ที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2552
ความหมายของ กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว คือการทำธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานความดีและความยั่งยืน โดยไม่มองผลกำไรเป็นตัวตั้ง แต่มองว่าธุรกิจจะช่วยเหลือหรือแบ่งปันอะไร กลับสู่สังคมได้บ้าง
โดย Core Value ของกลยุทธ์น่านน้ำสีขาวประกอบไปด้วย 4 แกน คือ
1) People : ให้ความสำคัญ กับสังคม ประชาชน และกลุ่มเป้าหมาย
2) Planet : ให้ความสำคัญ กับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
3) Profit : ให้ความสำคัญ กับกำไรที่เหมาะสม และการแบ่งปันคืนสู่ส่วนรวม
โดย 3 ข้อที่กล่าวมา จะถูกขับเคลื่อนด้วย
4) Passion ซึ่งหมายถึงความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
จริงๆ แล้วกลยุทธ์นี้อาจดูเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่จากการสำรวจของ Adobe APAC Consumer Sentiment Survey พบว่า คน Gen Z และ Millennial ให้ความสนใจในบริษัทที่แสดงความมุ่งมั่นในการตอบแทนสังคม และพร้อมที่จะสนับสนุนบริษัทดังกล่าวอย่างจริงจัง
รวมถึง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า
พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ให้คุณค่ากับสังคม มากกว่าคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยมองหาสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแบรนด์ที่ใส่ใจโลก มากกว่าแบรนด์ที่แสวงหาผลกำไร
สิ่งเหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่สนับสนุนแบรนด์ในระยะยาว ก็คือความดีของแบรนด์
หรือศัพท์ทางการตลาดจะเรียกว่า Brand Purpose ซึ่งหมายถึง จุดตั้งต้นที่แบรนด์จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า แบรนด์เกิดมาทำไม มีจุดประสงค์อะไรในการสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภค หรือสามารถช่วยสังคมให้ดีขึ้นในแง่มุมไหนบ้าง
โดยในตลาด มีหลายบริษัทที่นำกลยุทธ์นี้มาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจ เช่น
- LUSH สบู่แบรนด์ดังจากอังกฤษที่ทำมาจากธรรมชาติ และไม่สนับสนุนการทดลองผลิตภัณฑ์กับสัตว์ทุกชนิด อีกทั้งยังไม่นิยมทำแพ็กเกจจิง เพราะมีแนวคิดว่า ไม่อยากทิ้งขยะไว้บนโลก
รวมถึงกลุ่มสินค้าที่เรียกว่า Charity Soap โดยรายได้จากสินค้ากลุ่มนี้ จะถูกนำไปทำบุญทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น LUSH เคยทำสบู่รูปลิงอุรังอุตัง สีเหลือง เพื่อสื่อว่ารายได้ทั้งหมดจะถูกนำไปช่วยลิงอุรังอุตัง ที่เหลืออยู่เพียง 12,600 ตัว บนโลกเท่านั้น
- Inthanin ที่เปลี่ยนการผลิตแก้วแบบเดิม เป็นแก้ว Bio Cup ที่ทำจากพืช ซึ่งสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
- Freitag แบรนด์กระเป๋าสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ที่นำผ้าใบคลุมรถบรรทุกมารีไซเคิลใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
- TOMS การใช้โมเดลธุรกิจที่เรียกว่า One for One หรือซื้อหนึ่ง ให้หนึ่ง
ซึ่ง 12 ปีที่ผ่านมา TOMS บริจาครองเท้าไปแล้ว 94 ล้านคู่ ให้เยาวชนในพื้นที่ทุรกันดารใน 70 ประเทศทั่วโลก เช่น เปรู อาร์เจนตินา มาลี เฮติ และกัมพูชา
-Innisfree มีนโยบายรับขวดผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว มารีไซเคิล โดยแลกเป็นคะแนน และของแถมแทน
และมีแคมเปญปลูกป่าที่จัดขึ้นทุกปี โดยสามารถเข้าไปดูจำนวนต้นไม้ที่ปลูกไปแล้วในแต่ละประเทศ ได้ในเว็บไซต์ ซึ่งปัจจุบันได้ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 138,300 ต้นทั่วโลก
จะเห็นว่าหลายๆ แบรนด์ใช้กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว เป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจ
หรือสร้างเป็นแคมเปญการตลาด เพื่อแสดงจุดยืนของแบรนด์ว่า
แบรนด์กำลังให้ความสำคัญ และใส่ใจกับปัญหาในสังคมและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งหากมองด้วยกรอบธุรกิจแบบเดิมๆ สิ่งเหล่านี้อาจดูเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้
และไม่ช่วยสร้างผลประโยชน์ใดๆ ให้กับธุรกิจ
แต่ในปัจจุบัน ถึงแม้กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว จะเป็นแนวคิดนามธรรม แต่มันก็สร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรมได้จริง
เพราะ ณ ตอนนี้
ผู้บริโภคกำลังให้ความสำคัญกับแนวคิดที่เป็นนามธรรมนี้ มากกว่าที่เคย..
และพร้อมที่จะสนับสนุนแบรนด์ที่ทำเพื่อสังคม มากกว่าแบรนด์อื่นที่ไม่มีโมเดลธุรกิจนี้
และหากภาคธุรกิจ หรือแม้แต่บุคคลทั่วไป นำแนวคิดของกลยุทธ์น่านน้ำสีขาว ไปใช้จริงกันมากขึ้น
ก็จะช่วยทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้นเช่นกัน
อ้างอิง
-White Ocean Strategy: กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว (bangkokinnovationhouse.com)
-White Ocean Strategy - 2200305anongnarty54 (google.com)
-ดีเอ็มจีสร้างปรากฏการณ์น่านน้ำสีขาว White Ocean Strategy | RYT9
-540914R1D20-ธุรกิจสีขาว (egat.co.th)
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.