Chobani โยเกิร์ตที่เกิดจากเด็กเลี้ยงแกะ

Chobani โยเกิร์ตที่เกิดจากเด็กเลี้ยงแกะ

10 ม.ค. 2021
การเริ่มต้นทำธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก จนเกินความสามารถของมนุษย์อย่างเราๆ
ซึ่งหากเรามีความรู้ หรือ ความชำนาญด้านใดด้านหนึ่ง
ก็สามารถนำสิ่งนั้นมาต่อยอดเป็นธุรกิจได้ แม้จะไม่มีเงินทุนตั้งต้นเลยก็ตาม
เมื่ออย่างกรณีแบรนด์โยเกิร์ต “Chobani” ที่ผู้ก่อตั้งแทบไม่มีเงินทุนเริ่มต้นธุรกิจ
มีเพียงแต่ประสบการณ์ในการเลี้ยงแพะ และ แกะ เท่านั้น
Chobani ก่อตั้งในปี 2005
โดยผู้อพยพชาวเคิร์ด ชื่อว่าคุณ Hamdi Ulukaya ที่อพยพจากประเทศตุรกี มายังเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
เดิมทีครอบครัวของเขา ทำอาชีพด้านปศุสัตว์ โดยการเลี้ยงแพะ และ แกะ
ซึ่งตัวเขาเอง ก็ต้องช่วยพ่อแม่ดูแลสัตว์เหล่านี้ตั้งแต่เด็กๆ
ทำให้เขารู้มีความรู้เกี่ยวผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น ชีส, นมแพะ และ นมแกะ เป็นอย่างดี
โดยตอนที่เขาอยู่ที่นิวยอร์ก เขาพบว่าชีสที่วางขายทั่วไป มีรสชาติที่ไม่อร่อย และไม่มีคุณภาพ
เลยตัดสินใจเปิดร้านขายเฟตาชีส ซึ่งเป็นชีสที่ครอบครัวของเขาทำขึ้นมา
เพื่ออยากให้ชาวนิวยอร์ก ได้ลิ้มลองชีสที่อร่อย และมีคุณภาพจริงๆ
ซึ่งผลลัพธ์ปรากฏว่า ธุรกิจร้านขายชีสของเขา ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
จนมีลูกค้าเข้ามาหมุนเวียนใช้บริการอย่างเหนียวแน่น
พอเปิดร้านขายชีสไปสักระยะ
หลังจากนั้น เขาพบว่ามีประกาศขายโรงงานผลิตโยเกิร์ตแห่งหนึ่ง
ด้วยการที่ในวัยเด็กนั้น เขามีประสบการณ์ในการทำโยเกิร์ต
จึงสนใจที่อยากเริ่มทำธุรกิจผลิตโยเกิร์ต
และตัดสินใจเข้าซื้อโรงงานผลิตโยเกิร์ตดังกล่าว ด้วยการกู้เงินจาก Small Business Administration (SBA) ซึ่งเป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน
นอกจากนี้ คุณ Hamdi Ulukaya ยังมองว่า โยเกิร์ตที่วางขายในสหรัฐฯ
จะใส่น้ำตาลมากเกินไป เหลวเกินไป และที่สำคัญ ใส่วัตถุดิบเทียมลงไปเยอะ
เขาจึงอยากทำโยเกิร์ตแบบกรีก หรือ โยเกิร์ตกรอง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในประเทศตุรกี
เพื่อให้แบรนด์โยเกิร์ตของเขา มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพของลูกค้า
โดยโยเกิร์ตกรอง คือ โยเกิร์ตที่ถูกกรองเพื่อแยกเอาน้ำออก จนเหลือแต่เนื่อโยเกิร์ตที่เป็นครีมข้น
ทำให้โยเกิร์ตกรองมี โปรตีนมากกว่า
มีแป้งและน้ำตาลน้อยกว่า รวมถึงมีโซเดียมที่ต่ำกว่า โยเกิร์ตธรรมดา
ทั้งนี้ คุณ Hamdi Ulukaya ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านโยเกิร์ต จากตุรกี
เพื่อคิดค้นสูตรใหม่ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้แตกต่างกับแบรนด์อื่น
โดยเขาใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในการคิดค้นสูตร
กระบวนการผลิตโยเกิร์ตของเขา จะมีการใช้อุณหภูมิ, การหมัก วัตถุดิบที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น
จึงทำให้เขาได้สูตรโยเกิร์ตกรีก ที่ไม่เหมือนใครในตลาด
และในที่สุด ปี 2007 เขาก็ได้เปิดตัวโยเกิร์ตชื่อว่า “Chobani” ซึ่งแปลว่า คนเลี้ยงแกะ ในภาษาตุรกี
โดยผลิตโยเกิร์ตล็อตแรกออกมาจำนวนไม่กี่ร้อยลัง เพื่อที่จะวางจำหน่ายในร้านขายของชำ
ซึ่งนอกจากคุณภาพของโยเกิร์ตแล้ว
อีกสิ่งที่ทาง Chobani ให้ความสำคัญ ก็คือ บรรจุภัณฑ์ ที่เน้นให้มีสีสันสดใส
เพื่อให้เกิดความสะดุดตา และดึงดูดลูกค้า
เนื่องจากเขาไม่มีเงินค่าวางสินค้า ตามร้านขายของชำ
ช่วงแรกๆ ของการวางขายสินค้า
เขาจึงเจรจากับเจ้าของร้านต่างๆ ว่าให้รับโยเกิร์ตของเขา เป็นค่ามัดจำแทนเงินสดก่อน
ซึ่งเมื่อขายได้แล้ว ก็ค่อยหักค่าวางสินค้าทีหลัง
นอกจากนี้ ยังใช้วิธีโปรโมตสินค้า ด้วยการให้ลูกค้าลองชิมโยเกิร์ตฟรี ก่อนที่จะซื้อ
หลังจากนั้นโยเกิร์ต Chobani ก็ได้รับผลตอบรับที่ดี และมีการพูดถึงต่อๆ กันไปเรื่อยๆ
จนในที่สุดปี 2009 แบรนด์ก็สามารถนำสินค้าไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังอย่าง Stop & Shop, ShopRite, BJ's และอื่นๆ ได้
ซึ่งทำให้ในตอนนั้น Chobani สามารถทำยอดขายได้สัปดาห์ละ 200,000 กล่อง
ต่อมา Chobani ได้ขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย, แคนาดา, อเมริกาใต้ และเอเชีย
และมีการเปิดคาเฟ่โยเกิร์ต เพื่อที่จะสร้างประสบการณ์ในการกินโยเกิร์ตที่ดี ให้กับลูกค้าอีกด้วย
อีกทั้งยังมีการออกรสชาติสูตรใหม่ อย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็น โยเกิร์ตสูตรไม่มีน้ำตาล, สูตรเน้นโปรตีน, สูตรผลไม้
รวมถึงไลน์สินค้าใหม่ เช่น นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม และ กาแฟนมพร้อมดื่ม
เรื่องทั้งหมดนี้ จึงทำให้ในปี 2018
Chobani มีรายได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท
และคุณ Hamdi Ulukaya ถูกประเมินโดย Forbes ว่าเขามูลค่าทรัพย์สินสูงถึง 60,000 ล้านบาท
ซึ่งในวงการ คุณ Hamdi Ulukaya เป็นที่รู้จักว่า เป็นคนที่ใจบุญมากที่สุดคนหนึ่ง
เนื่องจากเขาได้บริจาคเงินช่วยเหลือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ UNHCR เป็นเงินกว่า 60 ล้านบาท เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทั่วโลก
และเขายังได้บริจาคโยเกิร์ตของเขา กว่า 55 ล้านถ้วย ให้กับผู้ที่ขาดแคลนอาหาร
ที่สำคัญพนักงานของเขา กว่า 30% เป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งเขาต้องการมอบโอกาสกับผู้ลี้ภัยให้มีงานทำ
เรื่องราวของ แบรนด์ Chobani และคุณ Hamdi Ulukaya ให้ข้อคิดที่ว่า
ไม่ว่าเราจะเป็นใคร
เราต่างก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน
ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นกับเชื้อชาติ, สัญชาติ, ศาสนา หรือต้นทุนทางสังคม
ซึ่งหากเรามีความรู้ หรือความชำนาญ ด้านใดด้านหนึ่ง
ก็อาจสามารถนำสิ่งนี้ มาสร้างจุดขายหรือธุรกิจให้กับเราได้
และยิ่งถ้าความชำนาญตรงนี้ สามารถเติมเต็มความต้องการในตลาดได้
ประตูสู่ความสำเร็จ ก็อาจอยู่ตรงหน้าของเราแล้วก็ได้..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.