ซีเอ็มเอ็มยู สะท้อนผลวิจัยการตลาด “ยุคโลกผันผวน” ชี้คนไทยเครียดหันหน้าพึ่งสายมู เชื่ออินฟลูเอนเซอร์ และนิยมคลายเหงาในคอมมูนิตี้ออนไลน์

ซีเอ็มเอ็มยู สะท้อนผลวิจัยการตลาด “ยุคโลกผันผวน” ชี้คนไทยเครียดหันหน้าพึ่งสายมู เชื่ออินฟลูเอนเซอร์ และนิยมคลายเหงาในคอมมูนิตี้ออนไลน์

20 ม.ค. 2021
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) เผยข้อมูลงานวิจัย “Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น” พบหลากหลายปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดความกังวลและรู้สึกถึงความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็น โรคอุบัติใหม่และโรคระบาด เช่น โควิด-19 คิดเป็น 76.8% ตามมาด้วยอันตรายจากปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM2.5 ไอเสีย ขยะล้นโลก ฯลฯ คิดเป็น 74.6% ด้านสังคมในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความเห็นต่างกันในสังคม คิดเป็น 65% ด้านเศรษฐกิจทั้งเรื่องค่าครองชีพสูงและความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน คิดเป็น 64% ด้านเทคโนโลยีที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ คิดเป็น 62.8% และด้านการเมืองที่มีสถานการณ์อันส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน คิดเป็น 62.6% ประกอบกับสถานการณ์ “Social Distancing” หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้เกิดปรากฏการณ์ 3 สิ่ง ได้แก่ คนไทยหันหน้าพึ่งสายมู หรือมีความเชื่อโชคลาง (Superstitious) เกิดความเชื่อในอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) และนิยมพูดคุยคลายเหงาในคอมมูนิตี้ออนไลน์ (Online Community) ซึ่งจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทีมวิจัยการตลาดซีเอ็มเอ็มยู จึงคิดค้น “กลยุทธ์เซอเทิ่น” (Certain Strategy) กลยุทธ์ทางการตลาดที่เป็นกุญแจสื่อสารสำคัญจะมาช่วยทำให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ตลอดจนสามารถตอบสนองความต้องการและมัดใจผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดฉับไวในทุกสถานการณ์  
ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดสัมมนาการตลาด “Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น” ในรูปแบบออนไลน์ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 เว็บไซต์ www.cmmu.mahidol.ac.th  หรือเฟซบุ๊ก www.facebook.com/CMMUMAHIDOL และ www.facebook.com/MarketingInTheUncertainWorld
ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า เมื่อโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะด้านใด ๆ ก็ตาม โดยธรรมชาติของมนุษย์ก็จะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอด อันจะเห็นได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลกได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลากหลายด้าน ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องมีการปรับกลยุทธ์การตลาดให้เท่าทันไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) จึงได้ทำการวิจัยการตลาด “Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น” พบหลากหลายปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดความกังวลและรับรู้ถึงความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็น โรคอุบัติใหม่และโรคระบาด เช่น โควิด-19 คิดเป็น 76.8% ตามมาด้วยอันตรายจากปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM2.5 ไอเสีย ขยะล้นโลก ฯลฯ คิดเป็น 74.6% ด้านสังคมในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความเห็นต่างกันในสังคม คิดเป็น 65% ด้านเศรษฐกิจทั้งเรื่องค่าครองชีพสูงและความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน คิดเป็น 64% ด้านเทคโนโลยีที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ คิดเป็น 62.8% และด้านการเมืองที่มีสถานการณ์อันส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน คิดเป็น 62.6% ในขณะที่ข้อมูลยังเผยให้เห็นว่ากลุ่มคนเจนเอ็กซ์ (Gen X) กลุ่มคนเบบี้ บูมเมอร์ (Baby Boomer) กลุ่มคนเจนวาย (Gen Y) และกลุ่มคนเจนซี (Gen Z) มีความกังวลเกี่ยวกับด้านโรคระบาดมากที่สุด
จากความกังวลและความไม่แน่นอนดังกล่าว ทำให้คนไทยในทุกกลุ่มเจเนอเรชันต้องหาวิธีจัดการกับความรู้สึกซึ่งพบว่าคนไทยหันหน้าพึ่งความเชื่อโชคลาง (Superstitious) โดยที่ 5 อันดับความเชื่อโชคลางที่มีผลต่อคนไทยมากที่สุดคือ 1.พยากรณ์ โหราศาสตร์ ลายมือ ไพ่ยิปซี 2.พระเครื่องวัตถุมงคล 3.สีมงคล 4.ตัวเลขมงคล และ 5.เรื่องเหนือธรรมชาติ ตามลำดับ ผ่านช่องทาง ได้แก่ โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ คิดเป็น 73.8% บุคคลรอบข้าง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง คิดเป็น 59.6% ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น ๆ คิดเป็น 29.7% หนังสือพิมพ์และนิตยสาร คิดเป็น 20.1% และสื่อโทรทัศน์และวิทยุ คิดเป็น 19.6%
พร้อมกันนี้ข้อมูลยังพบว่า อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ได้เข้ามามีอิทธิพลและผลต่อการรับรู้และวิถีการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ซึ่งเหตุผลที่ติดตามจำนวน 81.9% เพราะเนื้อหา ตามมาด้วย 69.2% เพราะรูปแบบการนำเสนอ และ 45.3% เพราะความน่าเชื่อถือ ในขณะที่แฟลตฟอร์มที่คนไทยใช้ติดตามอินฟลูเอนเซอร์มากที่สุดคือ 1.ยูทูป (Youtube) 2.เฟซบุ๊ก (Facebook) และ 3.อินสตาแกรม (Instagram) โดยที่กลุ่มคนเจนเอ็กซ์และกลุ่มคนเบบี้ บูมเมอร์ นิยมใช้แฟลตฟอร์มเฟซบุ๊กและยูทูป กลุ่มคนเจนวายนิยมใช้แฟลตฟอร์มยูทูปและเฟซบุ๊ก ส่วนกลุ่มคนเจนซีนิยมใช้แฟลตฟอร์มยูทูปและอินสตาแกรม
ในขณะเดียวกันจากความกังวลและสถานการณ์ “Social Distancing” หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้คนไทยนั้นเข้าสู่การสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบออนไลน์คอมมูนิตี้ (Online Community) มากขึ้นผ่านหลากหลายกลุ่ม เช่น 1.กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 2.กลุ่มท่องเที่ยว 3.กลุ่มครอบครัว 4.กลุ่มสุขภาพและความงาม 5.ความบันเทิง ดนตรี ภาพยนตร์ 6. ธรรมชาติ 7. ชอปปิ้ง 8.การศึกษา 9.การเงินและการลงทุน และ 10.สัตว์เลี้ยง โดยกลุ่มคนเบบี้ บูมเมอร์ ส่วนใหญ่ให้ความสนใจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงกลุ่มสุขภาพและความงาม ผ่านการรับรู้ข้อมูลบนแฟลตฟอร์มเฟซบุ๊กและไลน์ กลุ่มคนเจนเอ็กซ์และกลุ่มคนเจนวายมีความสนใจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มรวมถึงการท่องเที่ยวผ่านบนแฟลตฟอร์มไลน์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ส่วนกลุ่มคนเจนซีสนใจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มรวมถึงการศึกษาผ่านบนแฟลตฟอร์มเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม โดยการมีส่วนร่วมในคอมมูนิตี้ ได้แก่ ติดตามและกดไลค์ คิดเป็น 72.9% แชร์ข้อมูล คิดเป็น 44.6% แสดงความคิดเห็น คิดเป็น 37.2%  และซื้อ-ขายสินค้า คิดเป็น 24.4% ดร.บุญยิ่ง กล่าวสรุป
ด้าน นางสาวมูรธา จรรยาวรลักษณ์ หัวหน้าทีมวิจัย Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เพื่อเป็นประโยชน์แก่ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักวิจัยการตลาดซีเอ็มเอ็มยูจึงได้คิดค้นกลยุทธ์เซอเทิ่น (Certain Strategy) กลยุทธ์ทางการตลาดที่เป็นกุญแจด้านการสื่อสารที่สำคัญจะมาช่วยทำให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้พร้อมทั้งตอบโจทย์และมัดใจผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ประกอบไปด้วย
1.Content First เนื้อหาต้องดีโดนใจ – จากปริมาณข้อมูลที่มีอยู่มากมาย อีกทั้งผู้บริโภคมีข้อจํากัดในเรื่องเวลาและความสามารถในการบริโภคข้อมูล ภาคธุรกิจต้องสร้างสรรค์เนื้อหาในการสื่อสารกับกลุ่มตลาดอย่างมีศักยภาพ ตรงใจ ตรงความต้องการ 2.Engagement with Faith การเข้าถึงด้วยความเชื่อ - จากข้อมูลพบว่าคนไทยในทุกกลุ่มมีความเชื่อเป็นพื้นฐาน ดังนั้นหนึ่งในการเข้าถึงผู้บริโภคได้คือสร้างผสมผสานความเชื่อ 3.Reliable Data ข้อมูลที่เชื่อถือได้ – ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะตัดสินใจเชื่อข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ 4.Trust in Community ความเชื่อในสิ่งเดียวกัน – ผู้บริโภคในปัจจุบันนั้นมีความเชื่อมั่นในกลุ่มที่เต็มไปด้วยข้อมูลจากคนที่มีความเชี่ยวชาญและสนใจในเรื่องเดียวกัน 5.Agility ต้องมีความคล่องตัว – ในยุคที่อะไรก็มีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการทำงานอย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว เพื่อให้สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างฉับไวในสภาวะที่มีความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง 6.Influencer Leading ใช้บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิด -ปัจจุบันการที่จะทําให้ผู้บริโภคนั้นมั่นใจและตัดสินใจได้แน่นอนมากขึ้น การมีกระบอกเสียงหรืออินฟลูเอนเซอร์คอยรีวิวหรือแนะนําก็จะช่วยทําให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้ง่ายอีกทางหนึ่ง และ 7.New Equilibrium ความสมดุลใหม่ - ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องคำนึงอยู่บนพื้นฐานของความสมดุล ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสารของแบรนด์ผ่านตัวแบรนด์เอง การใช้ Key Opinion Leader (KOL) หรือรีวิวการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ใช้ผู้บริโภคเอง (User-Generated Content)
ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดสัมมนาการตลาด “Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น” ในรูปแบบออนไลน์ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 เว็บไซต์ www.cmmu.mahidol.ac.th  หรือเฟซบุ๊ก www.facebook.com/CMMUMAHIDOL และ www.facebook.com/MarketingInTheUncertainWorld
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.