รู้จัก "NOMUNICATION" วัฒนธรรมการดื่ม เพื่อทำธุรกิจของญี่ปุ่น

รู้จัก "NOMUNICATION" วัฒนธรรมการดื่ม เพื่อทำธุรกิจของญี่ปุ่น

21 ม.ค. 2021
ปกติแล้วหากเราพูดถึงการดื่ม เราคงจะนึกถึงกิจกรรม การพูดคุยที่ผ่อนคลาย และกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง
ซึ่งวัฒนธรรมการดื่มของแต่ละประเทศ ก็อาจมีจุดประสงค์แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น
ประเทศอังกฤษ หรือ เยอรมนี ที่มีการดื่มเบียร์คู่กับอาหารมื้อค่ำเป็นปกติ
นั่นก็เพราะว่า อาหารหลายๆ จานมักถูกขายคู่กับเบียร์ ในราคาที่ถูก ซึ่งอาจจะถูกกว่าการสั่งน้ำแร่ มาดื่มเสียอีก
หรือประเทศไทย ที่เรามักจะดื่มกันเพื่อสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ได้พูดคุย ระบายความในใจ และผ่อนคลายจากความเครียด
แต่มีอยู่ประเทศหนึ่ง ที่มีวัฒนธรรมการกินและดื่มที่หลากหลาย
และอาจไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อผ่อนคลาย นั่นคือ “ประเทศญี่ปุ่น”
คนญี่ปุ่น เป็นคนที่ทำอะไรแล้ว จะต้องทำจริงจัง
กับการกินดื่มก็เช่นกัน โดยพวกเขามีวัฒนธรรมการดื่มที่ชื่อว่า “Nomikai”
คือ การสังสรรค์ด้วยการกินดื่มหลังเลิกงาน โดยเน้นการเข้าไปกินในร้านอิซากายะ
ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้เน้นการดื่มในปริมาณที่มากกว่าการกิน และมักจะดื่มกันจนกระทั่งหมดเรี่ยวแรง
แม้กระทั่งในเมืองไทยเอง เราก็มักจะเห็นชาวญี่ปุ่นใส่สูทนั่งกินดื่ม จนหลับคาโต๊ะอยู่บ่อยครั้ง..
แต่รู้ไหมว่า มีอีกวัฒนธรรมหนึ่งของคนญี่ปุ่น ที่จัดอยู่ในประเภทของการกินดื่มหลังเลิกงาน แบบ Nomikai
เพียงแต่ว่า ไม่ใช่การกินเลี้ยงสังสรรค์ในรูปแบบของเพื่อนฝูง
แต่เป็นในรูปแบบระหว่าง “หัวหน้า - ลูกน้อง” หรือกับ “บริษัทคู่ค้า”
วัฒนธรรมนี้ มีชื่อเรียกว่า “NOMUNICATION”
มาจากการผสมคำญี่ปุ่นระหว่าง Nomu ที่แปลว่า การดื่ม
กับคำอังกฤษ Communication ที่แปลว่า การสื่อสาร
และนำไปผูกเรื่องราวของวัฒนธรรมการดื่มแบบ Nomikai
จึงทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมการกินดื่มแบบกึ่งทางการ
โดยสามารถอธิบายได้ดังนี้
หากเป็นการดื่มของ “หัวหน้า - ลูกน้อง”
ก็จะเป็นช่วงเวลาคุณภาพที่จะเสริมสร้างความสามัคคีกันภายในทีม
โดยหัวหน้า ต้องเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของลูกทีมอย่างตรงไปตรงมา
และในขณะเดียวกัน หัวหน้าเองก็สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวของพนักงาน ได้อย่างจริงใจเช่นกัน
และหากเป็นการดื่มกับ “บริษัทคู่ค้า”
ก็จะเป็นช่วงเวลาแห่งการประเมินคุณค่าของการร่วมมือทางธุรกิจ ระหว่างบริษัทคู่ค้า
แล้วคุณค่าของการร่วมมือทางธุรกิจ ประเมินได้จากอะไร ?
1. จากมารยาท การจองอาหาร
โดยผู้ที่ทำการเชิญชวน ควรจะต้องมีการจัดการจองร้านอาหาร ที่มีห้องสำหรับสังสรรค์
2. จากมารยาท การเลือกที่นั่ง
โดยวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ผู้ที่มีความสำคัญมากที่สุด ก็จะถูกเชิญให้นั่งไกลประตูเข้าออกมากที่สุด ซึ่งเป็นที่นั่งที่ผู้คนไม่พลุกพล่าน เกิดความเคลื่อนไหวน้อย
และสามารถเห็นวิวที่สบายตาที่สุด หรือเราเรียกว่า “Kamiza”
ไล่ลำดับไปจนถึง ผู้ที่มีความอาวุโสน้อยที่สุด ก็จะนั่งอยู่มุมที่ใกล้กับประตูมากที่สุด ที่เรียกว่า “Shimoza”
โดยการให้เกียรติ สำหรับการจัดที่นั่งตรงนี้ จะสามารถสร้างความประทับใจ ให้กับบริษัทคู่ค้าของเราได้เช่นกัน เพราะบริษัทคู่ค้าจะมองว่า เราเห็นพวกเขาเป็นคนสำคัญ และให้ความเคารพ
3. มารยาทในการมอบนามบัตร และการจำชื่อผู้ร่วมดื่มในโต๊ะอาหาร
แค่ลักษณะของการมอบนามบัตรนี้ ก็จะทำให้เราประเมินถึงคุณค่าของการร่วมมือทางธุรกิจ
โดยผู้ที่มีความอาวุโสน้อยกว่า จะแสดงความนอบน้อม ตอนหยิบนามบัตร โดยใช้ทั้ง 2 มือจับนามบัตร และยื่นออกไป
ในขณะเดียวกัน การจำชื่อของผู้ร่วมสังสรรค์ภายในโต๊ะอาหารทั้งหมด ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะหลังจากที่เราได้รับนามบัตรแล้ว คนญี่ปุ่นจะไม่มีการหยิบนามบัตรกลับมาดูชื่ออีกรอบ เพราะนั่นอาจเป็นการเสียมารยาทอยู่พอสมควร
4. จากการเอาใจใส่ จานอาหารและเครื่องดื่ม ของผู้ร่วมสนทนา
โดยเฉพาะหากเครื่องดื่มของผู้สนทนาหมดลง มารยาทที่ดีของชาวญี่ปุ่นคือ
การแสดงความใส่ใจ ด้วยการรินเครื่องดื่มเติมให้ นั่นเอง
5. มารยาทการชำระค่าอาหารและเครื่องดื่ม
โดยส่วนมาก ผู้ที่อาวุโส หรือ มีตำแหน่งใหญ่ที่สุด จะเป็นผู้ทำการชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมด
แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสในการแสดงความเคารพ ต่อบริษัทคู่ค้า ด้วยเช่นกัน
สิ่งหนึ่งที่แตกต่างของวัฒนธรรมการกินดื่ม ของคนญี่ปุ่นกับคนไทย คือ
พวกเขาไม่นิยมเล่นมือถือ ขณะที่สังสรรค์อยู่บนโต๊ะอาหาร
แต่พวกเขาให้ความสนใจกับการดื่มเครื่องดื่ม และการพูดคุย ซึ่งทำให้บรรยากาศสนุกสนาน
อย่างไรก็ดี การดื่มในรูปแบบ NOMUNICATION นี้
จะมีระเบียบและขั้นตอน ที่เยอะกว่าการดื่มปกติ
ซึ่งทำให้ในสายตาของคนต่างชาติ อาจจะมองว่าผิดจุดประสงค์ที่แท้จริง ของการดื่มเพื่อสังสรรค์..
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มมองว่า จริงๆ แล้ว ในชีวิตการทำงานของเราเอง
ก็อาจจะมีการนำวัฒนธรรม NOMUNICATION เข้ามาปรับใช้แบบไม่รู้ตัว
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีความแตกต่างกับคนญี่ปุ่น คือ
การดื่มในลักษณะธุรกิจแบบนี้ คนไทยเรามักจะเน้นกิน มากกว่าดื่ม
และต่อให้ดื่ม เราก็จะไม่ได้ดื่มหนัก จนหมดเรี่ยวหมดแรง แบบคนญี่ปุ่น นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.