กรณีศึกษา ธุรกิจขายกระเป๋าเดินทาง ในวันที่ไม่มีใครเดินทาง

กรณีศึกษา ธุรกิจขายกระเป๋าเดินทาง ในวันที่ไม่มีใครเดินทาง

28 ม.ค. 2021
การแพร่ระบาดของโควิด ไม่เพียงทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนัก
แต่ยังทำให้ “ธุรกิจกระเป๋าเดินทาง” เผชิญกับฝันร้ายครั้งใหญ่
เพราะในเมื่อคนไม่เดินทาง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อกระเป๋าเดินทาง
อารมณ์เหมือนหน้าร้อน คนก็ไม่อยากได้เครื่องทำน้ำอุ่น หน้าหนาวคนก็ไม่อยากซื้อแอร์
ต่อให้ของดี ราคาคุ้มค่าแค่ไหน ดีมานด์ก็ไม่เกิด
เพราะฉะนั้น ถ้าไปดูผลประกอบการของธุรกิจขายกระเป๋าเดินทางยักษ์ใหญ่ อย่าง Samsonite Group
ซึ่งมีแบรนด์กระเป๋ายี่ห้อดังในเครือมากมาย เช่น TUMI, American Tourister
จะพบว่ารายได้หายไปประมาณ 50% โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกของปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดระบาดหนัก มีการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ​ ไม่มีการเดินทาง และธุรกิจต้องปิดหน้าร้านหลายแห่ง
รายได้ 6 เดือนแรกของ ปี 2019 อยู่ที่ 52,908 ล้านบาท
รายได้ 6 เดือนแรกของ ปี 2020 อยู่ที่ 24,160 ล้านบาท
เท่ากับว่า รายได้ของ Samsonite Group หายไปครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
คำถาม คือ ในขณะที่ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน
หลายประเทศยังคงล็อกดาวน์ ไปจนถึงปิดประเทศ เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิด
แล้วธุรกิจขายกระเป๋าเดินทาง จะแก้เกมอย่างไร
เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ายังยอมควักเงินซื้อกระเป๋าเดินทางอยู่ ?
คำตอบ คือ เมื่อ Pain Point ของนักเดินทางเปลี่ยนไป ผู้ผลิตก็ต้องเปลี่ยนตาม
สมัยก่อน เวลาจะเลือกกระเป๋าเดินทางสักใบ
สิ่งที่นักเดินทางให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือ ความแข็งแรงทนทานของกระเป๋า และน้ำหนักที่เบา
รองลงมา คือ ฟังก์ชัน หรือ เทคโนโลยีต่างๆ ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง
ไม่ว่าจะเป็น ระบบฟังก์ชันสแกนลายนิ้วมือ ระบบป้องกันการสแกนข้อมูล​
ไปจนถึง Smart luggage ที่ใช้ชาร์จแบตเตอรี หรือ สามารถบอกพิกัดที่ช่วยให้ค้นหากระเป๋า ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนได้
แต่สิ่งที่นักเดินทางยุค New Normal มองหา คือ กระเป๋าเดินทางที่ใช้แล้วอุ่นใจ ปราศจากเชื้อโรค
เพราะโควิด ทำให้คนหันมาใส่ใจความสะอาดกับสิ่งของรอบตัวมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหรือไวรัสเข้าสู่ร่างกาย
จากผลสำรวจของ International Air Transport Association พบว่า
67% ของนักเดินทางมีความกังวล ไม่รู้ว่าระหว่างที่กระเป๋าเดินทางถูกส่งจากที่หนึ่ง ไปยังอีกที่หนึ่ง
ต้องพบเจอกับอะไรมาบ้าง เลยรู้สึกไม่มั่นใจที่จะสัมผัส หรือ ใช้งานต่อ
ดังนั้นในเมื่อ Pain Point ของลูกค้าเปลี่ยน ในฐานะผู้ผลิตก็ต้องก้าวให้ทัน
เห็นได้จาก Samsonite รวมทั้งแบรนด์ในเครืออย่าง TUMI ต่างกำลังมองหา นวัตกรรมที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคมาใช้
อย่างปีนี้ Samsonite​ มีแผนจะเปิดตัวกระเป๋าเดินทาง ที่มาพร้อมด้ามจับที่มีการเคลือบสารป้องกันไวรัส
ขณะที่ Rimowa แบรนด์กระเป๋าเดินทางสุดหรูสัญชาติเยอรมนี
นอกจากจะแตกไลน์สินค้า จากกระเป๋าเดินทางมาขายเคสไอโฟน แว่นกันแดด กระเป๋าสะพาย รวมทั้งกระเป๋าเป้ เป็นครั้งแรกในรอบ 122 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์มา
เพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้ให้กับธุรกิจ
Rimowa ยังเปิดบริการทำความสะอาดกระเป๋าเดินทาง ด้วยกรรมวิธีแสนประณีต ไม่แพ้กระบวนการผลิตกระเป๋าเดินทาง​
เพื่อให้ลูกค้าสบายใจว่ากระเป๋าเดินทางที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว
จะได้รับการทำความสะอาดอย่างดี ทั้งภายในและภายนอก
สามารถเก็บไว้ที่บ้านได้อย่างอุ่นใจ หรือ จะหยิบมาใช้ครั้งหน้าก็ไม่ต้องกังวล
​สิ่งที่น่าสนใจของกรณีศึกษานี้คือ ในขณะที่ธุรกิจขายกระเป๋าเดินทาง กำลังเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่
และไม่มีใครรู้ว่า การเดินทางจะกลับมาปกติอีกครั้งเมื่อไร
การที่ธุรกิจตัดสินใจเลือกที่จะถอยกลับมาดูว่าอะไรคือ สิ่งที่ลูกค้ามองหา
แล้วพยายามออกแบบสินค้าหรือบริการให้ตอบโจทย์สิ่งนั้น
อาจจะเป็นหนึ่งในแนวทางการปรับตัวที่ยั่งยืนมากกว่า
การดึงดันผลิตภัณฑ์สินค้าแบบเดิม ทั้งที่ตลาดอาจไม่ต้องการ
หรือ ใช้สงครามราคาเข้าสู้ ด้วยการลดแลกแจกแถม
ใครจะรู้ว่า นวัตกรรมที่คิดมาเพื่อแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าวันนี้
วันหน้าอาจจะกลายเป็นแต้มต่อสำคัญให้กับธุรกิจ
ในวันที่หลายคนมองหากระเป๋าเดินทางสักใบเพื่อออกไปท่องโลกอีกครั้ง​ก็เป็นได้
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.