เมื่อ Spotify กำลังจะเริ่ม ดักฟังเสียงของผู้ใช้งาน เพื่อแนะนำเพลงที่เข้ากับอารมณ์

เมื่อ Spotify กำลังจะเริ่ม ดักฟังเสียงของผู้ใช้งาน เพื่อแนะนำเพลงที่เข้ากับอารมณ์

29 ม.ค. 2021
วันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา บริษัท Spotify Technologies เผยถึงการได้รับอนุมัติการขอจดสิทธิบัตร ในการดักฟัง และบันทึกเสียงสนทนา และเสียงจากสภาพแวดล้อมรอบตัวของผู้ใช้งาน
หลังจากที่บริษัท ได้ทำการยื่นขอจดสิทธิบัตรนี้ไปตั้งแต่ปี 2018
เบื้องหลังเป้าหมายของสิทธิบัตรนี้ คือ เพื่อพัฒนาระบบ AI ที่สามารถแนะนำและจัดหาเพลงได้เหมาะสม เข้ากับสถานการณ์ และอารมณ์ในขณะนั้น ของผู้ใช้งานมากที่สุด
โดยเทคโนโลยีดักฟังเสียงดังกล่าว จะถูกใช้กับแอปสตรีมเพลงอย่าง Spotify เพียงเท่านั้น
และกลุ่มข้อมูลของเสียง ที่จะถูกดักฟัง มีดังนี้
-จังหวะของเสียง
-โทนเสียง น้ำเสียง รวมถึง ความหนัก เบา
-ความเร็วในการพูด
หลังจากที่ Spotify เก็บบันทึกเสียงเหล่านี้ในแต่ละช่วงแล้ว
ระบบ AI จะทำการวิเคราะห์ต่อว่า ในสถานการณ์นี้ ผู้สนทนาซึ่งเป็นเจ้าของบัญชี เป็นเพศใด อายุเท่าไร และในขณะนั้น ผู้ใช้งานกำลังอยู่คนเดียว หรืออยู่กับกลุ่มเพื่อน
รวมถึงไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานว่า ชอบไปในสถานที่ใด เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือ ผับ บาร์
Spotify ต้องการที่จะพัฒนาในด้านเทคโนโลยีสุดล้ำนี้ ที่สามารถช่วยให้เข้าถึงความชอบของผู้ใข้งานได้ และสิ่งนั้นอาจทำให้ Spotify สามารถอยู่เหนือคู่แข่งรายอื่นๆ ได้
เพราะในปัจจุบัน อัลกอริทึมของคู่แข่งแต่ละราย ก็ยังคงใช้โมเดลการค้นหาความชอบ และ การแนะนำเพลง ในรูปแบบของ “การตัดสินใจแบบต้นไม้ (Decision Tree)”
กล่าวคือ เริ่มจากการค้นหาแนวเพลงที่ชื่นชอบ และค่อยๆ เจาะลึกไปยังศิลปินต่างๆ
ซึ่งระบบปัจจุบันนี้ จะใช้ระยะเวลานานกว่าที่แอปฟังเพลง จะเข้าใจว่า ผู้ใช้งานชอบฟังอะไร และอาจไม่แม่นยำมากพอ นั่นเอง..
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลต้นทางจาก Spotify ที่เปิดเผยถึงรายละเอียด ในเรื่องของการวิเคราะห์ความหมายของบทสนทนาต่างๆ
รวมถึง แผนผังในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดักฟังสุดล้ำอันนี้ ยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้นแต่อย่างใด
แต่หลังจากที่ได้รับการอนุมัติการจดสิทธิบัตรแล้ว
สำหรับบริษัทสตรีมมิงเพลงเจ้าตลาด ที่มีมูลค่าบริษัทถึง 1.8 ล้านล้านบาท อย่าง Spotify
ก็คงสามารถเนรมิต และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ ให้มาเป็นจริงได้ในระยะเวลาที่ไม่นาน
น่าสนใจว่า ถ้าเทคโนโลยีนี้ ใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คู่แข่งอย่าง JOOX, Apple Music และ Youtube Music จะตอบสนองและปรับตัวอย่างไร
เป็นไปได้ว่า ในอนาคตอันใกล้
เราอาจจะมีเพื่อนสนิทมิตรคู่ใจ ที่เข้าใจเราในทุกอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่ “มนุษย์” แต่เป็น “แอปฟังเพลง”
และมันจะช่วยสร้าง “ฟีลลิง” ด้วยการเปิดเพลงที่เหมาะกับสถานการณ์ และอารมณ์
ไม่ต่างอะไรกับฉากในหนัง หรือ ละครซีรีส์ ที่จะเปิดเพลงกระตุ้นความรู้สึกของผู้ชม ในฉากสำคัญๆ นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.