ทำไมบางธุรกิจ ยอดขายดี แต่กลับเจ๊ง ?

ทำไมบางธุรกิจ ยอดขายดี แต่กลับเจ๊ง ?

30 ม.ค. 2021
หลายคนอาจจะคิดว่า ยิ่งสินค้าขายดี ก็น่าจะแปลว่า ยิ่งได้กำไรเยอะ
แต่รู้หรือไม่ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง มีบางธุรกิจ ที่ดูเหมือนจะขายดีมากๆ
แต่ธุรกิจกลับยิ่งขาดทุน และบางรายอาจถึงขั้นปิดกิจการไปในที่สุด..
แล้วปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้ธุรกิจที่ขายดีมากๆ ถึงเจ๊งไปแบบไม่ทันตั้งตัว ?
1. ไม่แยกกระเป๋าเงินส่วนตัว และเงินสำหรับธุรกิจให้ชัดเจน
บางคนเวลาขายสินค้าได้ ก็จะขอดึงไปใช้ซื้อของส่วนตัว ตั้งแต่ของชิ้นเล็กชิ้นน้อย เครื่องใช้ไฟฟ้า
ไปจนถึงซื้อรถยนต์ เพราะบางคนอาจจะคิดว่า เงินที่เราซื้อสิ่งของเหล่านี้ไป ก็เพื่อความสะดวกในการทำงาน
ซึ่งการทำแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้เงินที่ควรจะไปลงทุนในธุรกิจ อาจจะขาดมือ และนำไปสู่การเจ๊งในอนาคต
และในหลายกรณี การที่หลายคนชอบดึงเงินในส่วนของธุรกิจไปใช้ เพราะมาจากความมั่นใจที่ว่า “สินค้าขายได้อยู่แล้ว” ใช้จ่ายไปก่อน เดี๋ยวก็หาใหม่ได้..
2. มองข้ามต้นทุนแฝง
ต้นทุนแฝง เป็นต้นทุนที่วัดตัวเลขให้ออกมาแบบเป๊ะๆ ค่อนข้างยาก
เพราะต้นทุนแฝง สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกส่วนของธุรกิจ ตั้งแต่ต้นทุนการดูแลพนักงาน,
ต้นทุนเรื่องเวลา, ค่าน้ำมันรถ, ดอกเบี้ยธนาคาร, ค่าภาษี, ค่าเสื่อม รวมถึงวัสดุสำนักงาน ก็เป็นต้นทุนแฝง
ผู้ประกอบการหลายคนมักจะลืมคิดถึงต้นทุนแฝงเหล่านี้ เพราะคิดว่ามันเป็นค่าใช้จ่ายแค่เล็กๆ น้อยๆ แต่ต้นทุนเล็กๆ เหล่านี้ เมื่อรวมกันเป็นค่าใช้จ่ายรายปี ก็คงมีตัวเลขไม่น้อยเลยทีเดียว
3. ไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
ธุรกิจครอบครัว หรือ ธุรกิจที่มีขนาดเล็กบางราย อาจจะมองข้ามการทำระบบบัญชีรายรับ-รายจ่าย
เพราะคิดว่ามันเสียเวลา ยุ่งยาก และดูจะไม่จำเป็นขนาดนั้น
บางคนแค่รู้ว่า สินค้าที่ซื้อมานั้นถูกกว่า ราคาที่ขายได้ ก็คงเพียงพอแล้ว..
ซึ่งความคิดเช่นนี้ อันตรายมากๆ เพราะการไม่เห็นตัวเลขเงินเข้าและออกอย่างชัดเจน
จะทำให้เราไม่รู้ว่าส่วนไหนของธุรกิจ ที่ใช้ต้นทุนเยอะที่สุด และทำให้เราควบคุมต้นทุนได้ไม่ถูกจุด
4. ชะล่าใจ ละเลยการตรวจสอบ
บางคนมักจะตรวจเช็กสถานะการเงิน และยอดขายอย่างละเอียด เฉพาะช่วงที่ขายของไม่ดี
แต่พอช่วงที่ขายดีมากๆ ก็ละเลยการตรวจสอบ และไว้ใจพนักงาน หรือคนที่ทำธุรกิจร่วมกัน
ซึ่งการไม่ตรวจสอบให้ดีอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริต หรือฉ้อโกง ได้
5. ขยายกิจการ โดยไม่วางแผนเรื่องกระแสเงินสด
บางคนเห็นว่า สินค้ากำลังขายดีมากๆ ก็เสียดายจังหวะแบบนี้ จึงอยากเร่งการเติบโต
รีบหาเงินมาลงทุน เพื่อขยายกิจการ จ้างคนเพิ่ม โดยที่ไม่วางแผนในเรื่องกระแสเงินสดให้ดีเสียก่อน
การเลือกขยายกิจการ แปลว่า ต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น เม็ดเงินที่ลงทุนต้องมากขึ้น
ใครที่บริหารจัดการเงินสดไม่ดี ก็อาจจะเป็นหนี้ก้อนโต และแบกรับภาระดอกเบี้ยที่สูง
หรือบางรายก็จะมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ไปอีกหลายเดือน ทำให้ขาดทุนเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ต้องปิดกิจการ เพราะไม่มีกระแสเงินสด ที่เพียงพอมาหล่อเลี้ยงธุรกิจ
6. ระยะเวลาการเก็บหนี้ลูกค้า นานเกินไป
บางธุรกิจอาจให้ระยะเวลาเครดิตกับลูกค้าที่ซื้อสินค้า
หรืออาจจะสั่งผลิตสินค้า ตามออเดอร์ของลูกค้าก่อน โดยที่ลูกค้าจะยังไม่จ่ายเงินในทันที
จนกว่าลูกค้าจะได้รับของ หรือหลังจากเริ่มต้นใช้งาน ซึ่งอาจจะกินเวลามากกว่า 1-3 เดือน
หมายความว่า ธุรกิจที่สั่งผลิตสินค้าไปก่อนตามคำสั่งลูกค้า ก็จะต้องควักเงินจ่ายไปก่อน
หรือต้องมีต้นทุนในการผลิต รวมถึงการขนส่งสินค้าเกิดขึ้นทันที
ยิ่งลูกค้าสั่งเยอะ ก็ต้องมีการจ่ายออกไปก่อนเยอะ
หากไม่กำหนดระยะเวลาเก็บหนี้ให้ดี ก็จะไม่มีเงินสดมาหมุนเวียนในธุรกิจ
หรือถ้าเราอยู่ในช่วงที่ต้องกู้ธนาคารมาลงทุน ยิ่งเวลาผ่านไป ดอกเบี้ยก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แต่เรากลับไม่มีเงินสดมาจ่ายดอก และเมื่อจ่ายไม่ไหว ก็ต้องปิดกิจการไปในที่สุด
ดังนั้นถ้าเราให้เครดิตลูกค้าสั้นลง เงินก็จะได้กลับมาไว ธุรกิจก็จะไม่เสียโอกาสในการลงทุน
และสามารถรักษาสภาพคล่องได้
หากเราอ่านครบจบทุกข้อ ก็คงจะได้เห็นแล้วว่า บางทีสินค้าที่ขายดีมากๆ
ไม่ได้แปลว่า ธุรกิจจะให้กำไรหรือผลตอบแทนที่คุ้มค่าเสมอไป หากไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้ดี
และสุดท้าย หากคิดจะทำธุรกิจแล้ว ก็ต้องมีความรอบคอบให้มากพอ พิจารณาทุกแง่มุมอย่างละเอียด
ถ้าไม่อยากเกิดเหตุการณ์ ธุรกิจยิ่งขายดี แต่กลับต้องมาเจ๊ง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.