ทำไม การทำการตลาด จึงเปรียบเหมือนกับ การตกปลา ?

ทำไม การทำการตลาด จึงเปรียบเหมือนกับ การตกปลา ?

6 ก.พ. 2021
หากเราต้องการให้แบรนด์ หรือ ผลิตภัณฑ์ของเรา เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จะต้องทำอย่างไร ?
แน่นอนว่า หนึ่งในคำตอบที่จะโผล่มาคือ “การทำการตลาดที่ดี”
คำถามนี้ ดูเหมือนเป็นคำถามง่ายๆ และตอบง่าย
แต่การลงมือปฏิบัติและทำให้เกิดผลลัพธที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่ยากที่สุด
เรื่องราวของ การทำการตลาดนี้ เทียบให้เห็นภาพ ก็คล้ายคลึงกับการตกปลา
ที่หากเราอ่านเพียงแค่ขั้นตอน ก็อาจรู้สึกว่าไม่มีอะไรซับซ้อน
แต่ถ้าให้นำไปใช้ในเชิงปฏิบัติแล้ว
สิ่งที่ต้องเจอกลับตรงกันข้าม เพราะต้องอาศัยการวางแผน เตรียมตัว การประเมินสถานการณ์ และ ประสบการณ์ อยู่มากพอสมควร
แล้วการตลาดที่ดี เปรียบเหมือน กับการตกปลา ได้อย่างไร ?
1. หาและศึกษากลุ่มเป้าหมาย เพื่อทำการตลาด เปรียบเหมือนกับ การเริ่มต้นหาจุดตกปลา
โดยปกติก่อนจะตกปลา ต้องเริ่มจากการถามว่า เราจะตกปลาน้ำลึก หรือ แค่ปลาในลำธาร
และสำคัญที่สุดคือ จุดไหนที่มีปลาชุกชุมที่สุด ?
หากพูดในทางการตลาด ก็เปรียบเสมือนกับการถามว่า ใครคือกลุ่มลูกค้าของเรา ?
ก็คือ ต้องหาและศึกษากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของเรา ก่อนลงมือทำการตลาด
เพราะหากเรา เจาะและดึงดูดลูกค้า “ผิดกลุ่ม” แล้ว
นอกจากลูกค้าเหล่านั้น จะไม่สนใจผลิตภัณฑ์ของเรา
ยังเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่าย และต้นทุนเวลา ที่เสียเปล่า ซึ่งเราจะไม่ได้อะไรกลับคืนมาอีกด้วย..
2. การเลือกใช้เครื่องมือและตัวกลางสื่อสาร เสมือนกับ การเลือกเหยื่อและเบ็ดตกปลา ให้เหมาะสม
หากรู้แล้วว่า กลุ่มลูกค้าที่เรามุ่งหวังในการทำการตลาดคือใคร
หลังจากนั้น เราก็สามารถเลือกว่าจะใช้เครื่องมือในการสื่อสาร รูปแบบไหน เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า อาทิ รูปแบบการขายด้วยเสียงที่สั้นกระชับ ผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุ
หรือ รูปแบบบทความ และอินโฟกราฟิก ผ่านสื่อโซเชียล มีเดีย เป็นต้น
ซึ่งขั้นตอนนี้ ก็เปรียบเสมือนการคัดเลือกเหยื่อล่อปลา และคันเบ็ด สำหรับตกปลา
เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับเข้าถึงตัวปลา หรือ จับปลา นั่นเอง
ตัวอย่างกรณีศึกษาที่เราเห็นได้ชัดคือ การทำการตลาดเพื่อโฆษณา “เบอร์เกอร์กุ้งค็อกเทล” เมนูใหม่ของ ร้าน McDonald ด้วยการมอบส่วนลด ผ่านช่องทางแผ่นพับ ตามรถไฟฟ้า หรือหน้าร้าน
ซึ่งในแผ่นพับนั้น จะมีการมอบส่วนลดที่มากถึง 4 เมนู พร้อมไปกับการโฆษณาเมนูใหม่ไปในตัว
ในกรณีนี้ McDonald รู้ดีว่า หากพวกเขาโปรโมตแบบออนไลน์ อาจจะได้ประสิทธิภาพที่ไม่ดีเท่ากับ การโปรโมตด้วยวิธีดั้งเดิมด้วย “แผ่นพับคูปองลดราคา” ซึ่งนับเป็นเครื่องมือสื่อสารที่คลาสสิกสำหรับธุรกิจอาหาร
3. ความอดทน และการรอคอย เปรียบเสมือนกับ การรอฝูงปลา มากินเบ็ด
หลังจากที่เรามีแหล่งจับปลา และเตรียมอุปกรณ์พร้อมแล้ว
อย่างไรก็ดี การตกปลาครั้งแรก ก็จำเป็นต้องอาศัยเวลา และการรอคอยเสมอ
และที่สำคัญที่สุด เหตุการณ์ในความเป็นจริง ทั้งสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศ อาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดคิดก็ได้
เฉกเช่นเดียวกันกับ การเริ่มต้นทำการตลาด ซึ่งอาจจะไม่ได้เห็นผลในทันที
สำหรับผู้บริโภคแล้ว ต่อให้ทำการตลาดดีแค่ไหนก็ตาม
แต่พวกเขาเอง ก็ต้องการเวลาในการคิดและตัดสินใจเช่นกัน
เพราะการที่จะต้องเสียทรัพย์ เพื่อซื้ออะไรบางอย่าง
จะต้องดูหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นตัวผลิตภัณฑ์ และประโยชน์ที่จะได้รับ รวมถึงความน่าเชื่อถือของแบรนด์
4. ฝูงปลาจะไม่โดดลอยขึ้นมาบนเรือ ถ้าเราไม่ออกไปตามหา และจับเอง
คอนเซปต์นี้ เรียกได้ว่าคือหัวใจของการทำการตลาดเลยทีเดียว
เพราะหากเราเอาแต่อยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไร
ก็แทบจะไม่มีโอกาสที่ผลิตภัณฑ์ของเรา จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เลย
แต่หากการทำการตลาด ไม่ได้วางแผนให้ดี กล่าวคือ หากเรายังไม่เข้าใจถึงจุดแข็ง จุดอ่อน ในตัวผลิตภัณฑ์ของเรา และความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า
แบบนี้เราก็จะไม่สามารถเข้าถึง หรือ ซื้อใจ กลุ่มลูกค้าได้เลย..
สุดท้ายนี้ ต้องพึงระลึกไว้อย่างหนึ่งว่า เวลาจะทำการตลาด “จงอย่ามองผู้บริโภค เป็นเพียงแค่ฝูงปลา”
เพราะพวกเขาไม่ได้ถูกกระตุ้น ด้วยเพียงแค่ความหิว อย่างเดียวเท่านั้น
แต่ยังถูกกระตุ้นจาก ปัจจัยภายนอก เช่น กำลังทรัพย์, คำแนะนำจากคนรอบข้าง, กระแสสังคมในขณะนั้น และปัจจัยภายใน เช่น ความชื่นชอบส่วนตัว, ความเชื่อ และทัศนคติ อีกด้วยเช่นกัน
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.