สวทช. โชว์ผลงานวิจัยเด่นปี 63 ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมขยายผลสู่การใช้จริง

สวทช. โชว์ผลงานวิจัยเด่นปี 63 ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมขยายผลสู่การใช้จริง

9 ก.พ. 2021
ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.): ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวสรุปผลงาน สวทช. ประจำปี 2563 ต่อสื่อมวลชน พร้อมโชว์นิทรรศการตัวอย่างความสำเร็จผลงานวิจัยของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ Social Distancing  ภายใต้งาน NSTDA Beyond Limits: 3 Decades of Impacts (3 ทศวรรษ แห่งความต่อเนื่อง ความสำคัญและผลกระทบ) โดยในปี 2564 ถือเป็นปีที่มีความพิเศษคือ สวทช. ก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 ของการก่อตั้งในฐานะองค์กรวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. แถลงว่า ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา สวทช. ยังมุ่งมั่นสร้างผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ และสามารถต่อยอดขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ในทุกภาคส่วน สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมได้ถึง 7.13 เท่าของค่าใช้จ่าย หรือ 66,255 ล้านบาท ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภาคการผลิตและบริการมูลค่า 13,796 ล้านบาท มีบทความตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 538 บทความ และจดทรัพย์สินทางปัญญา 451 คำขอ โดยปัจจุบัน สวทช. เป็นอันดับ 1 ของประเทศในการจดทรัพย์สินทางปัญญา
“สำหรับตัวอย่างผลงานวิจัยเด่น สวทช. ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ อาทิ แบตเตอรี่ 20C มีการพัฒนาและติดตั้งกับระบบกำเนิดไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่โรงไฟฟ้าทับสะแก และระบบกำเนิดไฟฟ้าจากกังหันลมที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง G Rock นวัตกรรมวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ ทำจากวัสดุพลอยได้จากอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ช่วยลดภาระน้ำหนักโครงสร้างอาคารมากกว่า 20% พร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ภายใต้ชื่อ Green Rock น้ำมัน B10 มีการทดสอบร่วมกับบริษัทผู้ผลิตรถกระบะจนเป็นที่ยอมรับ การตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วยเทคนิค ELISA สามารถคัดกรองท่อนพันธุ์เพื่อป้องกันโรคมากกว่า 700,000 ตัวอย่าง คิดเป็นพื้นที่ 437 ไร่ และถ่ายทอดวิธีการตรวจให้บริษัทเอกชน 14 บริษัท นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี PCA Emitter เสาอากาศตัวนำไฟฟ้าเชิงแสงตัวกำเนิดสัญญาณเทระเฮิรตซ์ของคนไทยที่มีประสิทธิภาพดี ราคาถูก ซึ่งปัจจุบันผลิตต้นแบบส่งขายให้บริษัทจีน และชุดตรวจไฮบริดชัวร์ (HybridSure) เทคโนโลยีที่ช่วยตรวจสอบความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์ลูกผสมได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกเมล็ดพันธุ์ไปสู่ตลาดโลก
          ผลงานวิจัยเด่นด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยของประเทศ อาทิ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติได้เดินหน้าสนับสนุนหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ให้บริการจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพระยะยาว โดยมีตัวอย่างพืช 1,391 ตัวอย่าง จุลินทรีย์ 6,051 ตัวอย่าง ข้อมูลจีโนม 6,051 ตัวอย่าง และข้อมูลดีเอ็นเอ 12,936 ตัวอย่าง ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติประสบความสำเร็จในการพัฒนาวิธีการสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิดแบบง่ายและรวดเร็ว อีกทั้งยังนำไปใช้กับไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็น RNA ได้ทุกชนิด ขณะที่ EECi มีความก้าวหน้าในการก่อสร้างอาคาร 65% คาดว่าเข้าพื้นที่ได้ในปี 2564 อีกทั้งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตที่ยั่งยืนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา”
ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ภารกิจด้านการพัฒนาและสร้างเสริมบุคลากรวิจัย  สวทช. สร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพให้แก่ประเทศผ่านการให้ทุน 708 ทุน สนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ร่วมวิจัยในห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยแห่งชาติ 569 คน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจำนวน 8 แห่ง ในการพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูง เพื่อเป็นกำลังสำคัญพัฒนาประเทศ
“สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่กลุ่มเกษตรกรและชุมชนในปี 2563 สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่กลุ่มเกษตรกร รวมทั้งสิ้น 12,500 คน ในพื้นที่ 305 ตำบล 181 อำเภอ 51 จังหวัด ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ลดการใช้สารเคมี ลดการรุกพื้นที่ป่า และมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากขึ้น
ตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นด้านการพัฒนาชุมชน อาทิ เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เช่น มีการขยายผลพัฒนาชุมชนเกษตรอัจฉริยะ 176 ชุมชน เช่น สวนทุเรียน สุภัทราแลนด์ จ.ระยอง, สวนเมลอนและแตงโม ไร่เพื่อนคุณ จ.บุรีรัมย์อีกทั้งยังมีการส่งเสริมเทคโนโลยียกระดับเกษตรกรผู้ผลิตข้าวปลอดภัย จ.สงขลา แก่เกษตรกร 219 คน พื้นที่รวม 1,171 ไร่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการซื้อเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีได้ถึง 400,000 บาทต่อปี เพิ่มผลผลิตเฉลี่ย 480 กิโลกรัมต่อไร่
พร้อมกันนี้ก็ยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ เช่น โครงการการผลิตอาหารโคเพื่อความยั่งยืนด้วย วทน. โดยดำเนินการร่วมกับสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คสวนมะเดื่อ จำกัด จ.ลพบุรี มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการทำอาหารสำหรับโคนมร่วมกับ ธ.ก.ส. สาขาลพบุรี สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 50% ทำให้ในปี 2563 เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ได้ถึง 18.9 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การพัฒนาสายพันธุ์พืช เทคโนโลยีการจัดการดินและปุ๋ย เทคโนโลยีสารชีวภัณฑ์ เทคโนโลยีการผลิตอาหารสัตว์ และเทคโนโลยีการแปรรูปด้วย” ดร.ณรงค์ กล่าว
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.