EIC วิเคราะห์แนวโน้มการฟื้นตัว และความเสี่ยง ของเศรษฐกิจไทย ปี 2564

EIC วิเคราะห์แนวโน้มการฟื้นตัว และความเสี่ยง ของเศรษฐกิจไทย ปี 2564

12 มี.ค. 2021
EIC ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์ GDP ของไทยปี 2564 เป็น 2.6% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 2.2% ตามแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดีกว่าคาดการณ์ไว้ และจากเม็ดเงินภาครัฐที่สนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง
แต่การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศไทย ยังมีข้อจำกัดอยู่ จากการขาดรายได้ในภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศ และแผลเป็นของเศรษฐกิจที่กระทบต่อรายได้ SME และภาคครัวเรือน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ควร
ซึ่งถ้าวิเคราะห์ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก จะพบว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวได้แข็งแกร่งมากขึ้น แต่จะมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ค่อนข้างมาก ตามความเร็วของการฉีดวัคซีน COVID-19 และขนาดของมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
EIC ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ว่าจะขยายตัว 5.6% ดีกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 5.0% หลังจากหดตัว 3.5% ในปี 2563 โดยเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในปีนี้ อันเป็นผลจากความคืบหน้าของการค้นพบและฉีดวัคซีน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
โดยความเร็วของการฟื้นตัวในประเทศต่าง ๆ จะมีความแตกต่างกันอยู่ค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่
1) ความรวดเร็วในการฉีดวัคซีน จนได้รับภูมิคุ้มกันหมู่
ซึ่ง ภูมิคุ้มกันหมู่ หมายถึงการที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนครบจำนวน 2 โดส แล้วได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยประเทศที่มีภูมิคุ้มกันหมู่ได้ก่อน จะสามารถเปิดเมืองและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในลักษณะที่พบปะกันได้มากขึ้น
2) ความต่อเนื่องและเพียงพอของมาตรการภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ
3) โครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งหากมีการพึ่งพาภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศสูง หรือภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความเปราะบางอยู่ก่อนหน้า ก็จะมีการฟื้นตัวได้ช้ากว่า
การประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศ สามารถแบ่งได้เป็นหลักเกณฑ์ ดังนี้
- ความเร็วในการได้รับวัคซีน
โดย EIC ประเมินว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะได้ภูมิคุ้มกันหมู่ ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ปี 2564
เนื่องจากมีการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าในปริมาณมาก ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่พร้อมกว่าในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว เร่งตัวขึ้นเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ส่วนในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะได้ภูมิคุ้มกันหมู่ช้ากว่าและมีความแตกต่างกันมาก
- มาตรการภาครัฐ
สำหรับด้านมาตรการของภาครัฐ ในส่วนนโยบายการคลัง กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนปริมาณมากในต้นทุนที่ต่ำ และยังมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม
โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ล่าสุดได้มีการเสนอมาตรการกระตุ้นด้วยเม็ดเงินขนาด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นอย่างมาก อีกทั้งจะเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ อาจเผชิญข้อจำกัดในการออกมาตรการเพิ่มเติม หลังหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นมาก และมีการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง
- นโยบายการเงิน
สำหรับนโยบายการเงิน ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำและการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อเนื่องในปีนี้ เพื่อดูแลต้นทุนทางการเงินของภาครัฐและเอกชนให้อยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ตลาดเริ่มมีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น จนทำให้อัตราพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
EIC ได้ประเมินว่า ความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้น จะยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เนื่องจากตลาดแรงงานในประเทศส่วนใหญ่ ยังมีอัตราการเติบโตต่ำอยู่พอสมควร ทำให้แรงกดดันต่อการขึ้นของค่าแรงมีไม่มาก รวมทั้งการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตของประเทศส่วนใหญ่ ยังต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลาง
- การส่งออก
ส่วนการส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยจากข้อมูลการส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในช่วง 2-3 เดือนล่าสุด พบว่ามีการฟื้นตัวต่อเนื่องสะท้อนการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลก
ซึ่งในส่วนของไทย พบว่ามูลค่าส่งออกในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม มีระดับเทียบเท่ากับในช่วงก่อนเกิด COVID-19 แล้ว นับเป็นการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่เคยคาดไว้ ขณะที่ในระยะต่อไป คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว จากการเร่งฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ
ดังนั้น จึงทำให้ EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าส่งออกของไทยในปี 2564 เป็นขยายตัวที่ 6.4% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4.0%
- ภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ดี ภาคท่องเที่ยวของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เพียง 3.7 ล้านคน เนื่องจากการเดินทางระหว่างประเทศ จะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อ ประเทศส่วนใหญ่มีภาวะภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว
แต่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีโอกาสได้รับภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ กลับไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย
ดังนั้นการท่องเที่ยวของไทยจึงมีแนวโน้มฟื้นช้า โดยคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้และต้นปีหน้า
ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย จะทยอยมีภูมิคุ้มกันหมู่มากขึ้น
สำหรับค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 EIC คาดว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากสิ้นปีก่อนมาอยู่ในช่วง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญ ประกอบด้วย
1) การระบาดของ COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งในไทยและต่างประเทศ ตราบใดที่ยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
2) การฉีดวัคซีนในไทย ที่อาจล่าช้ากว่าแผน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
3) ภาระหนี้เสียที่อาจสูงกว่าคาด ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพภาคการเงิน
4) ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะด้านการลงทุน
5) ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจปะทุขึ้นอีก จากการแข่งขันทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
สุดท้ายแล้ว EIC ประเมินว่า ระดับ GDP ของไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 ได้ในช่วงปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 ซึ่งถือว่าค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่
สะท้อนการพึ่งพาของเศรษฐกิจไทยต่อภาคท่องเที่ยวในระดับสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก (12% ของ GDP) และการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จนกว่าการฉีดวัคซีนจะกระจายจนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ทั้งในไทยและในประเทศที่เป็นแหล่งนักท่องเที่ยวหลักของไทย
นอกจากนั้น มีโอกาสสูงที่ GDP ของไทย จะไม่กลับไปสู่ระดับเดียวกับก่อนเกิด COVID-19
ซึ่งการที่เศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้รายได้ การจ้างงาน และกำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ
ขณะที่ปัญหางบดุลและฐานะทางการเงินของภาค SME และภาคครัวเรือน จะต้องใช้เวลานานขึ้นในการซ่อมแซม ปัจจัยด้านอุปสงค์เหล่านี้ จะทำให้ปัญหาการว่างงานในระยะยาวมีมากขึ้น รวมทั้งการลงทุนของภาคธุรกิจชะลอลง ทำให้การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มายกระดับประสิทธิภาพการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันมีจำกัด
EIC แนะนำว่า ภาครัฐอาจพิจารณาใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อลดระดับแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ผ่านการเร่งดำเนินการฉีดวัคซีน และการประสานงานการเปิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
รวมถึงการใช้มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูให้กับ SME และแรงงานที่มีในลักษณะแบบเจาะจง ที่ไม่ใช่การช่วยเหลือในเรื่องตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการสร้างงาน การจับคู่งาน และการลดข้อจำกัดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ
ตลอดจนผลักดันมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและโอกาสด้านธุรกิจใหม่ ๆ ภายหลัง COVID-19 จบลง ผ่านการลงทุนและการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ในการปรับทักษะแรงงาน และการเพิ่มศักยภาพของ SME โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี่ดิจิทัลมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
------------------------------
บทวิเคราะห์โดย EIC - ธนาคารไทยพาณิชย์
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.