ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทย จะโตกว่า 69% ในปีนี้ และอีกไม่เกิน 10 ปี สัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า จะเกินครึ่ง - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทย จะโตกว่า 69% ในปีนี้ และอีกไม่เกิน 10 ปี สัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า จะเกินครึ่ง - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

16 มี.ค. 2021
รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ ตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV
ที่ประกอบด้วยรถยนต์ไฮบริด (HEV), รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วนจากแบตเตอรี่ (BEV) ในตลาดโลกปัจจุบันกำลังพัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊กหรือ PHEV และ BEV
ในปี 2563 ที่แม้ทั่วโลกจะต้องรับมือกับการระบาดของโควิด 19 แต่ยอดขายรถยนต์กลุ่มดังกล่าวรวมแล้วทั่วโลก สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ถึง 43% จากปีก่อนหน้า
ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันนานาประเทศ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์หลักของโลกอย่างสหรัฐฯ ก็แสดงให้เห็นถึงทิศทางการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ในกลุ่ม xEV ที่ชัดเจน เพื่อแทนที่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในล้วน หรือ ICE มากขึ้น
ซึ่งไทยเองก็เช่นเดียวกันที่กำลังมีแผนการก้าวสู่ยุคของรถยนต์ xEV
แม้ในปี 2563 ตัวเลขยอดจดทะเบียนรถยนต์ในกลุ่มรถยนต์ xEV จะยังมีจำนวนไม่มากเพียง 30,705 คัน และคิดเป็นสัดส่วนแค่ 3.9% ของยอดขายรถยนต์รวมในประเทศ
แต่หากมองอัตราการขยายตัว กลับพบว่าโตสวนตลาดถึง 12.8%
และในอนาคตด้วยแผนการลงทุนของค่ายรถ และแรงสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีโอกาสมากที่รถยนต์ xEV จะขยายตัวเพิ่มขึ้น แล้วกินส่วนแบ่งตลาดเกินครึ่งหนึ่งของตลาดรถยนต์ ICE ที่ครองตลาดอยู่เดิมในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า
-รถยนต์กลุ่ม HEV และ PHEV
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2564 นี้ ค่ายรถหลายค่ายจะดันให้รถยนต์รุ่น HEV และ PHEV กลายมาเป็นโมเดลมาตรฐานสำหรับรถยนต์ในหลายรุ่น เพื่อเตรียมพร้อมการเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีการขับเคลื่อนรูปแบบใหม่อย่างสมบูรณ์ในอนาคต
ทั้งในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กไปจนถึงรถยนต์ขนาดใหญ่ โดยคาดว่าจะมียอดขายประมาณ 48,000 ถึง 50,000 คัน หรือขยายตัวกว่า 63% ถึง 70%
-รถยนต์ BEV
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2564 นี้ มีโอกาสเติบโตก้าวกระโดดหลังรถยนต์ BEV สัญชาติจีนเริ่มเข้ามาบุกตลาดมากขึ้นในปีนี้ โดยในระยะแรกใช้สิทธิ์ภาษีนำเข้า 0% ผ่านข้อตกลงการค้าเสรีไทย-จีน ก่อนลงทุนประกอบในไทยในอนาคต
ซึ่งระดับราคาที่จับต้องได้มากขึ้นของรถยนต์ BEV สัญชาติจีน น่าจะทำให้ตลาดเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงเพิ่มการรับรู้และเข้าใจของตลาดมากขึ้นในอนาคต
โดยในปี 2564 ยอดขายรถยนต์ BEV น่าจะแตะที่ประมาณ 4,000 ถึง 5,000 คัน หรือขยายตัวกว่า 210% ถึง 288%
ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักของตลาด BEV ในอนาคต คือ การที่ภาครัฐและเอกชนจะสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตลาดซึ่งมีกำลังซื้อพร้อม แต่ยังขาดความมั่นใจในเรื่องของการวางเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ทั่วถึง
เมื่อเทคโนโลยีรถยนต์ BEV ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในเรื่องระยะทางวิ่งและระยะเวลาในการชาร์จไฟที่ยังใช้เว ลานานอยู่
โดยปัจจุบัน พบการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างค่ายรถหรือหน่วยงานด้านพลังงาน กับสถานีบริการเติมน้ำมันมากขึ้น เพื่อกระจายพื้นที่สถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 647 (1,974 หัวจ่าย) แห่งในปีที่แล้ว
ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่สนใจตัดสินใจซื้อรถยนต์ BEV ได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ในภาพรวมของตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV ปี 2564 (HEV, PHEV และ BEV)
คาดว่า จะมียอดขายทั้งหมดประมาณ 52,000 ถึง 55,000 คัน หรือขยายตัวกว่า 69% ถึง 79%
จากทิศทางการขยายตัวของตลาดรถยนต์ xEV ในประเทศที่จะเติบโตขึ้นดังกล่าว เมื่อผนวกรวมเข้ากับการส่งออกรถยนต์ xEV ที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย
เมื่อการผลิตรถยนต์ xEV ในไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งในรุ่นที่ถูกวางตำเหน่งให้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งกลับไปญี่ปุ่น หรือในรุ่นที่ไทยถูกวางตำแหน่งให้เป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะรถยนต์ HEV และ PHEV ส่งผลให้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศปี 2564 น่าจะทำได้ 72,000 ถึง 80,000 คัน ขยายตัวกว่า 60% ถึง 78% ในกรณีที่ไม่พบการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจให้ชะลอลงกว่าที่คาด
โดยในระยะข้างหน้า ในปี 2573 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีโอกาสที่สัดส่วนยอดขายรถยนต์กลุ่ม xEV จะเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 55% ของปริมาณยอดขายรถยนต์รวมในปีนั้น
ขณะที่การผลิตรถยนต์ในประเทศกลุ่ม xEV ของไทย ก็มีโอกาสที่จะขยับส่วนแบ่งขึ้นไปสูงกว่า 50% เช่นกัน
โดยสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ xEV คาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 47% ของปริมาณการส่งออกรถยนต์รวมของไทย
เนื่องจากตลาดรถยนต์ที่ไทยส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ต้องอาศัยระยะเวลาที่มากกว่าในการตอบรับต่อรถยนต์ xEV
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นตลาดที่อาจช่วยได้ในอนาคตเพิ่มเติมจากประเด็นเรื่องการเพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้า และมาตรการด้านภาษี เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค
ซึ่งอาจจะช่วยเพิ่มศักยภาพของไทย ในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ xEV ที่แข็งแกร่งขึ้นในอนาคต ได้แก่ การสร้างความพร้อมของอุตสาหกรรมกำจัดซากรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพในประเทศ และการออกแบบมาตรการจำกัดและลดปริมาณรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีที่เหมาะสมในอนาคต เพื่อลดความต้องการถือครองรถยนต์เก่าของผู้บริโภคลง และเพิ่มโอกาสหมุนเวียนรถยนต์ในตลาดให้มากขึ้น เป็นต้น
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.