ร้านอาหาร ยุค 2021 กำลังแตกไลน์สินค้า น้ำจิ้ม

ร้านอาหาร ยุค 2021 กำลังแตกไลน์สินค้า น้ำจิ้ม

26 มี.ค. 2021
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมอยู่ดี ๆ เชนร้านอาหารดัง ๆ ถึงพร้อมใจกันลุกขึ้นมาเปิดตัว ซอสปรุงรสและน้ำจิ้ม
เพราะปกติแล้ว ถ้าเลือกได้ เจ้าของร้านอาหารย่อมต้องการให้ลูกค้าที่ติดใจในรสชาติ
อดใจไม่ไหวต้องกลับมากินซ้ำ เพราะต่อให้ถอดสูตรไปทำเองที่บ้านก็ไม่เหมือน หรือ อาจจะยุ่งยาก
แต่พอโควิด 19 มาเยือน ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน
ผู้คนออกไปกินอาหารนอกบ้านน้อยลง
ส่วนหนึ่งหันมาใช้บริการดิลิเวอรี แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อย ที่เลือกหันมาทำอาหารกินเองที่บ้าน
ซึ่งปัจจุบันการทำอาหารกินเองที่บ้าน ก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป
ต่อให้เป็นมือสมัครเล่น ก็สามารถสั่งอาหารแบบกึ่งสำเร็จรูป หรือ Meal Kit
ที่มีการเตรียมส่วนผสมและเครื่องปรุงไว้ให้หมดแล้ว เหลือแค่ทำให้สุก มาทำกินเองที่บ้าน
ด้วยเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป บวกกับสภาพเศรษฐกิจที่ยังซึม ๆ
ทำให้บรรดาร้านอาหาร ที่ก่อนหน้านี้ปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยการหันมาบุกตลาดดิลิเวอรี
ยังต้องหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ ๆ เพื่อชดเชยยอดขายที่หายไป
หนึ่งในนั้น คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่าง ซอสปรุงรสหรือน้ำจิ้ม
ซึ่งเป็นตลาดที่ยังคงเติบโตได้ดีในช่วงโควิด 19
เพราะยิ่งคนเรานิยมหันมาทำอาหาร หรือ กินอาหารที่บ้านมากเท่าไร ตลาดเครื่องปรุงรสก็ได้อานิสงส์ตาม​
ดังนั้น จึงไม่แปลก ที่ร้านอาหารชั้นนำหลายแบรนด์ จะลงมาชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้ ยกตัวอย่าง
-Oishi เจ้าตำรับอาหารญี่ปุ่น ล่าสุด ก็ลุกขึ้นมาเปิดตัวน้ำจิ้มสุกี้ยากี้, ซอสเทอริยากิ และซอสโชยุ
-Bar B Q Plaza ร้านปิ้งย่างชื่อดัง นอกจากจะขายซาลาเปา น้ำพริกเบคอน
ยังเป็นครั้งแรกที่ยอมนำน้ำจิ้มสูตรลับกว่า 30 ปี มาบรรจุขวดขาย
​​
-ตำมั่ว ร้านอาหารสไตล์อีสานในเครือเซ็น กรุ๊ป ทำน้ำปลาร้า แจ่วบองบรรจุขวดขายไม่พอ
ยังเปิดตัวน้ำยำปลาร้าปรุงรส ตอบโจทย์เมนูยำที่เป็นกระแสมาพักใหญ่
นอกเหนือจากจะใช้ ซอสหรือน้ำจิ้ม เพื่อเป็นอาวุธลับในการเข้าไปอยู่ในทุกครัวเรือนแล้ว
ร้านอาหารบางแบรนด์ยังเลือก Collaboration กับแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้วในตลาด
เพื่อจูงมือกันเข้าไปอยู่ในมื้ออาหารของลูกค้า
อย่าง อาฟเตอร์ยำ ร้านยำชื่อดังจากพัทยา ลุกขึ้นมาจับมือกับ ซีเล็คทูน่า
ออกโปรดักต์ใหม่อย่าง ซีเล็คทูน่า สูตรอาฟเตอร์ยำ ที่ทุกคนสามารถ D.I.Y สร้างความอร่อยด้วยตัวเอง
เพียงเติมพริก บีบมะนาว ก็อร่อย ฟิน เหมือนไปกินที่ร้าน
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมองว่า การที่ร้านอาหารพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มยอดขายจากการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทุกครัวเรือนมากขึ้น เป็นแค่สีสันการตลาดหรือเปล่า
เพราะถ้าพูดถึงตลาดเครื่องปรุงรสบ้านเรา นอกจากจะมีตัวเลือกในตลาดมากมาย ทั้งแบรนด์ไทยและต่างชาติ
ด้วยช่องทางการขายที่ยังเจาะกลุ่มอยู่แค่สาขาของร้านอาหารที่มีในเครือ ไม่ได้กระจายในวงกว้างเท่ากับสินค้าที่อยู่ในโมเดิร์นเทรด เช่น 7-Eleven, Lotus's, Big C
ทำให้ฐานลูกค้า จึงยังจำกัดอยู่แค่ฐานแฟนของแบรนด์ ที่คุ้นเคยและถูกใจในรสชาติ
ยกเว้นบางแบรนด์อย่าง ตำมั่ว หรือ อย่างอาฟเตอร์ยำ ที่มีการวางขายในโมเดิร์นเทรดด้วย
แต่โลกธุรกิจยุคนี้ ไม่มีอะไรแน่นอน
ดูอย่างตอนที่ “โออิชิ กรีนที” เริ่มตีตลาดจนเป็นแบรนด์ชาเขียวพร้อมดื่มที่เรารู้จักกัน
รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว “โออิชิ” เป็นชื่อแบรนด์ที่คุณตัน ภาสกรนที ตั้งเป็นชื่อร้านอาหาร ใน พ.ศ. 2542
โดยมีจุดเด่น คือ เป็นร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์แห่งแรกในไทย
พอเห็นว่าธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นไปได้ด้วยดี
จึงใช้ชื่อแบรนด์ "โออิชิ" มาต่อยอดขยายธุรกิจเข้าสู่เครื่องดื่มชาเขียว ในปี พ.ศ. 2546
ทำให้ธุรกิจเติบโต จนไปเข้าตากลุ่มไทยเบฟฯ ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี
ซึ่งตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นต่อจากคุณตัน จนกลุ่มไทยเบฟฯ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโออิชิ
เช่นเดียวกับ เครื่องดื่มชาเขียวฟูจิชะ ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากร้านอาหารญี่ปุ่น ฟูจิ (Fuji)
จากที่เสิร์ฟชาเขียวเป็นเหยือกในร้าน พอเห็นลูกค้าชอบก็เลยต่อยอดไอเดียมาบรรจุขวดขาย
รวมถึง น้ำสลัดซีอิ๊วญี่ปุ่นและน้ำสลัดงาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมนูโปรดของหลาย ๆ คน
ฟูจิก็ทำออกมาขาย
ที่น่าสนใจ คือ ไม่ได้หาซื้อได้แค่ที่ร้านฟูจิ แต่รวมถึงซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำทั่วไป
เพราะฉะนั้น คงจะเร็วเกินไป หากจะตัดสินใจว่า การกระโจนเข้ามาในสมรภูมิเครื่องปรุงรส ของบรรดาร้านอาหาร เป็นแค่กระแส หรือ กลยุทธ์ในการหารายได้ระยะยาว
ต่อให้วันนี้ ถ้าพูดถึง ซอสหอยนางรม เราอาจนึกถึง ตราสามแม่ครัว
ซอสปรุงรส ก็ ภูเขาทอง
ถ้าเป็นซีอิ๊วขาว ก็ ตราเด็กสมบูรณ์
น้ำจิ้มไก่ ก็ ตราแม่ประนอม
แต่ใครจะรู้ว่า ในอนาคต เมื่อเรามีทางเลือกมากขึ้น ก็เป็นไปได้ว่า เราอาจจะอยากลองออกจาก Comfort Zone เพื่อทดลองรสชาติใหม่ ๆ ก็เป็นได้
ดังนั้น สิ่งที่น่าติดตามต่อจากนี้คือ ผู้เล่นหน้าใหม่เดินเกมรุกแล้ว
เจ้าตลาดในกลุ่มซอสปรุงรสหรือน้ำจิ้มเดิม จะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้พื้นที่ในห้องครัวของตัวเองค่อย ๆ ถูกรุกราน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.