"เซ็นทรัล ทำ" โครงการ CSV ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 1,200 ล้านบาท และพัฒนาคุณภาพชีวิต 500,000 คน

"เซ็นทรัล ทำ" โครงการ CSV ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 1,200 ล้านบาท และพัฒนาคุณภาพชีวิต 500,000 คน

25 มี.ค. 2021
ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง CSR กับ CSV กันก่อน
CSR ย่อมาจากคำว่า Corporate Social Responsibility ซึ่งหมายถึง ความรับผิดขององค์กรที่มีต่อสังคม โดยส่วนใหญ่จะเป็นการจัดกิจกรรม เพื่อคืนประโยชน์ให้กับสังคมในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบของการ “ให้” เป็นหลัก ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนหรือถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างองค์กรกับชุมชุน
ยกตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรมปลูกป่า, การรวบรวมอาสาสมัครเพื่อเข้าไปเก็บขยะ ณ พื้นที่ใด พื้นที่หนึ่ง, การบริจาคสิ่งของหรือเงิน
ส่วน CSV ย่อมาจากคำว่า Creating Shared Value ซึ่งหมายถึง การถ่ายทอดองค์ความรู้ขององค์กรสู่ชุมชน จนเกิดเป็นผลผลิตรูปแบบใหม่ ที่มีคุณค่าและมูลค่าในเวลาเดียวกัน
หรืออาจเป็นรูปแบบของการสร้างระบบใหม่ ที่ส่งผลดีกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ
ดังนั้น CSV จึงลงลึกมากกว่า ทำได้ยากกว่า แต่ก็สร้างผลกระทบที่ดีกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้มากกว่าเช่นกัน
ซึ่ง ”เซ็นทรัล ทำ” คือโครงการ CSV ที่ริเริ่มโดยกลุ่มเซ็นทรัล จุดประสงค์ที่สร้างขึ้น เพื่อการสร้างงานและอาชีพ รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมชุมชน พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานและผู้คนในชุมชนอย่างยั่งยืน
ที่สำคัญคือ ตลอด 73 ปีของการดำเนินธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัล เจตนารมณ์หลักคือ การร่วมรับผิดชอบและมีส่วนร่วมต่อสังคม ด้วยการขับเคลื่อนโครงการ เซ็นทรัล ทำ ผ่านความร่วมมือจากทั้งพนักงาน ประชาชน ภาคีเครือข่าย
โดยกลุ่มเซ็นทรัลเชื่อมั่นว่า การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ต้องเริ่มจากความร่วมมือและการลงมือทำจริง ๆ
ความสำเร็จของโครงการเซ็นทรัล ทำ ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปี 2563
สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากกว่า 1,200 ล้านบาท
พัฒนาคุณภาพชีวิตกว่า 500,000 คน ครอบคลุมกว่า 100,000 ครัวเรือน จากการพัฒนาพื้นที่ชุมชนใน 44 จังหวัด
และสำหรับตัวอย่างโครงการสำคัญของ “เซ็นทรัล ทำ” ในปี 2563 ที่ทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ
-โครงการศูนย์ Contact Center สำหรับคนพิการ
การสร้างโอกาสให้กับคนพิการ เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่กลุ่มเซ็นทรัลให้ความสำคัญอย่างมาก
ดังนั้นจึงมุ่งมั่นและส่งเสริมพัฒนาการของคนพิการ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดยปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัล ได้ช่วยเหลือคนพิการไปแล้ว 770 คน ผ่านการส่งเสริมในการประกอบอาชีพตามจังหวัดต่าง ๆ ที่มีคนพิการเข้าไปทำงานอยู่ด้วย ทั้ง Contact Center ของ Power Buy, ไทยวัสดุ, ศูนย์พระมหาไถ่ และบริษัทในเครือ
ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้คนพิการ มีอาชีพที่มั่นคง ได้ทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีความสุขในการทำงาน ลดปัญหาการลาออก และเป็นการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต
-โครงการภูชี้เดือน
จากเดิมที่ภูชี้เดือนเคยเป็นเขาหัวโล้น เพราะการถางพื้นที่ไว้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้ส่งผลต่อชุมชนบนที่สูงและที่ราบด้วย ดังนั้นจึงมีการวางแผนสร้างพื้นที่ป่าบนเขาหัวโล้น ผนวกกับการปลูกกาแฟร่วมด้วย
นอกจากปลูกกาแฟแล้ว ยังมีการส่งเสริมให้ปลูกผลไม้อย่างน้อย 4-5 ชนิด เพื่อให้พอมีร่มเงาที่จะปลูกกาแฟแซมเข้าไปได้
หลังจากมีการเข้าไปส่งเสริมด้านการเกษตร ด้วยการริเริ่มการปลูกกาแฟเมื่อปี 2527
ทำให้ปัจจุบันพื้นที่สีเขียวของป่าคืนกลับมา รวมถึงเริ่มมีชาวเขาเข้าไปปลูกต้นไม้และช่วยกันดูแลพื้นที่ไม่ให้มีการตัดต้นไม้อีกด้วย
และในปี 2563 ที่ผ่านมา การฟื้นฟูผืนป่าด้วยการร่วมรณรงค์ปลูกป่า กับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สามารถฟื้นคืนผืนป่าไปแล้วกว่า 500 ไร่
-โครงการตลาดจริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต
คือตัวอย่างกลยุทธ์แบบ Win-Win ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการสร้างตลาดจริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต ทำให้เกษตรกรสามารถกระจายสินค้าผ่านศูนย์การค้าของกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล เช่น ท็อปส์ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอล
และช่วยยกระดับผู้ประกอบการให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้คนเมือง คนเดินห้างได้สินค้าคุณภาพ ราคาถูก ปลอดภัย
ตัวอย่างเคสธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ในโครงการตลาดจริงใจ คือ ข้าราชการที่เคยขายข่าวจี่ได้ 100-200 ไม้ต่อวัน หลังจากร่วมโครงการ ทำให้ขายได้กว่า 800 ไม้ต่อวัน
นอกจากนั้นภายในตลาด ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่จะไม่สร้างขยะให้เกิดขึ้น ด้วยการใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติกหูหิ้ว หรือใช้ภาชนะและบรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ
ตลาดจริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต แห่งแรก ตั้งอยู่ที่จังหวัด เชียงใหม่และอุดรธานี
โดยปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 23 สาขา และมีแผนจะเพิ่มเป็น 34 สาขาในปี 2564
ซึ่งในปี 2563 ได้สร้างรายได้ให้กับชุมชน มากกว่า 193 ล้านบาท
-โครงการสมุยโมเดล
เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เป็นเมืองต้นแบบ ด้านการจัดการขยะตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ชื่อ “Samui Zero Waste” ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยเน้นการจัดการขยะจากต้นทาง ด้วยการนำเศษอาหารที่คัดแยกจากพนักงาน มาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อต่อยอดเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ และแก๊สชีวภาพที่สามารถนำไปประกอบอาหารกลางวันให้กับนักเรียน และใช้เพื่อการเรียนรู้ด้านการทำอาหารและการโรงแรมของนักศึกษา
-โครงการนาหมื่นศรี
กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าไปส่งเสริมพัฒนาชุมชนให้แข็งแรง ผ่านพิพิธพัฒน์ผ้าทอนาหมื่นศรี ที่เป็นศูนย์รวมผ้าทอที่มีเอกลักษณ์ของไทย ด้วยประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี
โดยกลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าไปปรับปรุงและส่งเสริมให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งยังมุ่งเน้นการสร้างอาชีพให้กับชุมชนโดยรอบ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 159 คน
ที่น่าสนใจคือหลังจากกลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปพัฒนา รวมถึงการเข้าไปช่วยออกแบบดีไซน์และยกระดับผ้าทอของไทย โดย คุณโม่ ภูมิศักดิ์ เฑียรฆประสิทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ PAINKILLER
จากยอดขายผ้าทอที่ขายได้ 20,000 ต่อเดือน เพิ่มขึ้นเป็นขายได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรเอกชน คือกำลังสำคัญที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดพร้อม
ให้เติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะพวกเขามีองค์ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ที่มากกว่า
จากจุดแข็งของทรัพยากรไทย ที่มีอยู่ครบ ทั้งสินค้า บริการ พืชผลทางการเกษตร และสถานที่ท่องเที่ยว
ก็เรียกได้ว่าประเทศของ “มีของ” ที่ทำให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้ แต่สิ่งเหล่านี้แค่ต้องการองค์ความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปถ่ายทอดและยกระดับเพิ่มมูลค่าขึ้น
ซึ่ง “เซ็นทรัล ทำ” ได้พิสูจน์แล้วว่าเขาได้ลงมือทำ “อย่างต่อเนื่อง” จนส่งผลกระทบที่ดีกับสังคมและวัดผลได้จริง ๆ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.