ทำไมแบรนด์ ต้องออกรสชาติใหม่ ในเมื่อรสดั้งเดิม ขายดีอยู่แล้ว

ทำไมแบรนด์ ต้องออกรสชาติใหม่ ในเมื่อรสดั้งเดิม ขายดีอยู่แล้ว

31 มี.ค. 2021
เคยสงสัยไหมว่า ? สินค้าบนเชลฟ์วางสินค้า ทำไมถึงมีการออกรสชาติใหม่อยู่ตลอด ในเมื่อรสชาติดั้งเดิมก็ขายได้ดีอยู่แล้ว
ยกตัวอย่างแบรนด์ขนมใกล้ตัว เช่น เลย์รสออริจินัล บาร์บีคิว และโนริสาหร่าย คือรสยอดนิยมที่คนมักจะซื้อ เมื่อนึกถึงยี่ห้อ “เลย์”
ซึ่งต่อให้เลย์รสออริจินัล บาร์บีคิว และโนริสาหร่าย จะขายดีแค่ไหน
แต่ในหลาย ๆ ช่วงเวลา เลย์จะมีการทำการตลาด สร้างสีสันด้วยการออกรสชาติใหม่ ๆ อยู่เสมอ
แล้วทำไม แบรนด์ถึงทำเช่นนั้น ?
ถ้าวิเคราะห์ถึงเหตุผล ของการแตกไลน์รสชาติของตัวสินค้า เราจะพบว่า เหตุผลนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายกรณีด้วยกัน อาทิ
1) ยอดขายรสเดิม เริ่มลดลง
การที่ยอดขายสินค้ารสชาติเดิมลดลง อาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น คนหันไปซื้อกินสินค้าของคู่แข่ง ที่ราคาถูกกว่าหรืออร่อยกว่า ซึ่งคู่แข่งเหล่านี้เรียกว่า คู่แข่งทางตรง
ในอีกกรณีหนึ่ง คือ คนหันไปกินสินค้าทดแทน ยกตัวอย่างเช่น เทรนด์อาหารเนื้อจากพืช หรือ Plant-based ที่กำลังเป็นกระแสในช่วงนี้ ก็อาจจะทำให้คนเลือกกินเนื้อจากพืช แทนการกินเนื้อสัตว์มากขึ้น เพราะรู้สึกต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการรักษ์โลก
การที่แบรนด์โดนแย่งส่วนแบ่งการตลาดไป ทำให้ต้องออกมาแก้เกม ด้วยการออกสินค้ารสชาติใหม่ เพื่อดึงความสนใจ จนเกิดการซื้อและสร้างยอดขาย นั่นเอง
2) สินค้าอิ่มตัว
ในหลักการตลาด เราสามารถใช้ Product Life Cycle (PLC) หรือ วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ เครื่องมือตัวชี้วัดว่า ผลิตภัณฑ์นั้น อยู่ในระดับไหนแล้วในตลาด
โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ขั้นด้วยกัน คือ ช่วงแนะนำ (Introduction), ช่วงเติบโต (Growth), ช่วงเติบโตเต็มที่หรือจุดอิ่มตัว (Maturity) และช่วงถดถอย (Decline)
หากสินค้าอยู่ในช่วงเติบโตเต็มที่หรือจุดอิ่มตัว นั่นก็หมายความว่า ฐานลูกค้าของเรานั้น อาจมีปริมาณมากเพียงพอแล้ว ซึ่งการจะทำให้เติบโตต่อไปได้นั้น เพียงแค่ 1% ก็ถือว่าทำได้ยากมาก
อาจยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น การจะทำให้คนหันมาดื่มโค้กรสชาติดั้งเดิม มากขึ้นนั้น ทำได้ยากขึ้นในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับสมัยก่อน
เพราะเกือบทุกคนดื่มโค้กกันอยู่แล้ว แล้วโค้กก็มีฐานลูกค้าอยู่ทั่วโลกแล้ว จึงยากที่จะขยายการเติบโตของยอดขาย
ดังนั้น โค้ก จึงต้องออกรสชาติใหม่ ๆ อาทิ โค้ก สูตรไม่มีน้ำตาล กลิ่นออร์เรนจ์ โค้กรสกาแฟ
เพื่อกระตุ้นยอดขาย ผ่านการเพิ่มตัวเลือก ให้กับลูกค้าที่ดื่มโค้กอยู่แล้ว ลองซื้อรสชาติใหม่ ๆ มาดื่ม
หรือ คนที่ไม่ได้เป็นลูกค้าประจำ ก็อาจติดใจในรสชาติใหม่ และกลายมาเป็นลูกค้าประจำในอนาคต
3) ตอกย้ำการเป็นผู้นำเทรนด์
แบรนด์ที่มีอายุหลาย 10 ปี มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งคือ แบรนด์อาจอยู่ในช่วงที่ซ้อนทับกับหลายเจเนอเรชัน
ดังนั้น วิธีการทำให้แบรนด์สดใหม่อยู่เสมอ คือการนำกระแสหรือเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาด ณช่วงเวลานั้น มาผสมผสานกับสินค้า จนออกมาเป็นรสชาติใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดความตื่นเต้นและกลายเป็นผู้นำเทรนด์ในสายตาของลูกค้าหลาย ๆ กลุ่ม
เช่น กระแสของไข่เค็มฟีเวอร์ ที่กลายเป็นรสชาติของขนมทุกชนิด ในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่ สาหร่าย ซันไบทส์ เลย์ เทสโต้ ไปจนถึง ซาลาเปาและขนมเปี๊ยะ
4) ตัวเลือกหลากหลาย ช่วยเพิ่มโอกาสการซื้อ
ตัวอย่างสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ชาเขียว ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีการแตกไลน์รสชาติใหม่จำนวนมาก เช่น รสองุ่นเคียวโฮ รสแตงโม และรสแอปเปิลฮันนี่
ข้อดีของการแตกไลน์รสชาติที่หลากหลาย คือการช่วยเพิ่มโอกาสการซื้อ อีกทั้งยังทำให้เชลฟ์วางสินค้าจัดวางได้อย่างสวยงาม รวมถึงช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ ในการที่ลูกค้าจะนึกถึงสินค้าเรา
และอย่าลืมว่าการแข่งขันในประเภทสินค้าเดียวกัน ก็ถือว่าแข่งขันสูงแล้ว ดังนั้นการมีสินค้าให้เลือกเยอะ จึงหมายถึงความหลากหลายที่ครอบคลุมความต้องการได้มากกว่า
สรุปแล้ว การออกรสชาติใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เดิม ก็เหมือนกับกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้สินค้าที่อิ่มตัวแล้วในตลาด เกิดยอดขายใหม่ ๆ กระจายไปในตัวสินค้ารสชาติใหม่
เพราะสินค้าก็เหมือนกับนักแสดงหนึ่งคน ที่มีช่วงเข้าวงการใหม่ ๆ มีช่วงแจ้งเกิด ดาวค้างฟ้า หรือช่วงถดถอย ซึ่งการทำรสชาติใหม่ ๆ ออกมา ก็เหมือนกับการแย่งพื้นที่สื่อ ให้ผู้คนยังคงจดจำเราได้อย่างต่อเนื่อง นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.