GDP ของจีน ในไตรมาสแรก เติบโต 18% จากฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่ไตรมาสที่เหลือ ยังคงมีความท้าทาย - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

GDP ของจีน ในไตรมาสแรก เติบโต 18% จากฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่ไตรมาสที่เหลือ ยังคงมีความท้าทาย - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

16 เม.ย. 2021
เศรษฐกิจจีน ในไตรมาสที่ 1/2564 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 18.3% (YoY)
ซึ่งเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจรายไตรมาส ที่สูงสุดในรอบ 29 ปี นับตั้งแต่ที่จีนเริ่มเก็บสถิติในปี 2535
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประสิทธิภาพของทางการจีน ในควบคุมการแพร่ระบาดโควิด 19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้อย่างปกติ
แต่หลัก ๆ แล้วมาจากฐานที่ต่ำในไตรมาส 1/2563 ที่หดตัว -6.8% (YoY)
เนื่องจากหากเปรียบเทียบการเติบโตรายไตรมาส ที่อาจสะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า
จะเห็นว่าเศรษฐกิจจีน เติบโตเพียง 0.6% (QoQ) จากความเปราะบางของการบริโภคภาคเอกชน ภาคการผลิต และการลงทุน ที่ฟื้นตัวไม่เท่ากันในแต่ละหมวดหมู่อุตสาหกรรม
รวมถึงภาพรวมการส่งออก ที่ยังถูกกดดันจากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่
ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ในช่วงไตรมาสที่เหลือของปี 2564
คาดว่าจะฉายภาพการเติบโตต่อเนื่อง แต่ต่ำกว่าที่คาดไว้ จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่ยังล่าช้า
การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ที่อาจชะลอตัวลง จากการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่อาจเร็วเกินไป และความเสี่ยงด้านสงครามการค้า ที่ยังคงไม่แน่นอน
-ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในจีนยังคงล่าช้า
โดยข้อมูล ณ วันที่ 10 เมษายน 2564 ประชากรจีนได้รับวัคซีนแล้วทั้งสิ้น 164.5 ล้านโดส
ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในการได้รับวัคซีนครอบคลุม 560 ล้านคน หรือประมาณ 40% ของประชากรภายในเดือนมิถุนายน 2564
และครอบคลุม 70% ของประชากร เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ภายในเดือนธันวาคม 2564
ซึ่งหากการฉีดวัคซีนยังคงล่าช้า อาจมีความเสี่ยงในการเกิดการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ในบางหัวเมือง ดังเช่นที่เกิดในช่วงต้นปี 2564
ก่อให้เกิดความชะงักงันทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อาจลดลง และการชะลอตัวในภาคการลงทุนได้
-ในขณะที่การถอนมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่อาจเร็วเกินไป
ท่ามกลางความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนยังไม่กลับมา อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจีนในระยะข้างหน้า
การใช้นโยบายทางการเงินและการคลังของจีนในปี 2564 มีทิศทางที่ค่อนข้างระมัดระวัง
รวมถึงการงดการออกพันธบัตรรัฐบาลกรณีพิเศษ (Special Treasury Bond) ในการจัดหาเงินทุนเพื่อนำเม็ดเงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจหลังการอุบัติของโควิด 19 (ปี 2563 : 1 ล้านล้านหยวน)
ในทำนองเดียวกัน ทิศทางการใช้นโยบายทางการเงินของจีน เป็นการเน้นใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน มากกว่าการใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่ได้มีการประกาศใช้นโยบายทางการเงินแบบนอกกรอบ (Unconventional Monetary Policy) เพิ่มเติมจากปีที่แล้ว
-ขณะที่ทิศทางการส่งออกของจีนในปี 2564 ยังเผชิญความท้าทาย
ท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงครามทางการค้าที่อาจขยายเป็นวงกว้าง
แม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับมุมมองเศรษฐกิจโลก ไปในทิศทางเป็นบวกมากขึ้น
โดยปรับประมาณการเติบโตเศรษฐกิจโลกขึ้นมาอยู่ที่ 6.0% ในเดือนเมษายน 2564 (ปรับขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 5.5% ในเดือนมกราคม 2564)
รวมถึงความคืบหน้าในเรื่องของการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่เป็นปัจจัยเร่งสำคัญต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศยังเป็นเหตุให้เศรษฐกิจทั่วโลกกลับมาฟื้นตัวเร็วเกิดคาด อาทิ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ของสหรัฐฯ ที่ล่าสุดที่ได้รับการอนุมัติและเริ่มดำเนินการแล้ว
อย่างไรก็ดี จากความเสี่ยงของประเด็นด้านสงครามทางการค้า จากท่าทีของกลุ่ม G7 ที่มีทิศทางในการรวมกลุ่มเพื่อตอบโต้จีน และกล่าวหาจีนในการใช้นโยบายแทรกแซงกลไกตลาด (non-market oriented policies)
โดยกลุ่ม G7 มุ่งหวังการรวมกลุ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาการแข่งขันไม่เป็นยุติธรรมของจีน เพื่อให้เกิดการค้าที่เสรี มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม อาจลดทอนผลประโยชน์ที่จีนได้รับจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจจีน 2564
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมีมุมมองต่อภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปี ไว้ในกรอบประมาณการเดิมที่ 8.0% – 8.5%
แม้ว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรก จะขยายตัวสูงกว่าที่คาด ซึ่งมาจากปัจจัยฐานที่ต่ำเป็นหลัก
ในขณะที่เส้นทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะถัดไป ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในประเด็นความคืบหน้าและประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีน
รวมไปถึงความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีแนวโน้มที่คลี่คลาย หลังการเข้าดำรงตำแหน่งของไบเดน รวมถึงมาตรการที่กลุ่มประเทศคู่ค้า จะออกมาตอบโต้จีนเพิ่มเติม ทำให้ตัวเลขต่าง ๆ ยังมีความไม่แน่นอนสูง
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังรุมเร้า คาดว่าทางการจีน ยังมีเครื่องมือและทรัพยากรทางการเงินและการคลังมากเพียงพอ
ที่จะประคับประคองให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้ ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวที่คาดการณ์ไว้
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.