ใครคือเจ้าของแบรนด์ ชุดเครื่องครัว “หัวม้าลาย” ที่วางอยู่ในครัว เกือบทุกบ้าน

ใครคือเจ้าของแบรนด์ ชุดเครื่องครัว “หัวม้าลาย” ที่วางอยู่ในครัว เกือบทุกบ้าน

18 เม.ย. 2021
สิ่งที่ต้องมีติดไว้ ในห้องครัวของทุกบ้าน นอกจากซอสกับเครื่องปรุงรสแล้ว
ช้อน, ส้อม และเครื่องครัว ก็นับเป็นไอเทมที่ขาดไม่ได้ ต้องมีติดไว้
ซึ่งแบรนด์ที่คนไทยรู้จัก และไปโผล่อยู่ตามห้องครัวของบ้านต่าง ๆ มากที่สุด ก็คงไม่พ้น “หัวม้าลาย”
ในตลาดเครื่องครัวสเตนเลสสตีล ของเมืองไทยนั้น มีมูลค่าราว 4,000 ล้านบาท
และตราหัวม้าลาย เป็นผู้นำในตลาดนี้ โดยครองส่วนแบ่งตลาดเกือบ 50%
รู้ไหมว่า ในสมัยก่อน คนไทยยังไม่รู้จักและไม่นิยมใช้ ช้อน, ส้อม และเครื่องครัว ที่ทำมาจากสเตนเลส
แต่ หัวม้าลาย เป็นรายแรก ๆ ที่บุกเบิกตลาดนี้อย่างจริงจัง และทำให้คนไทยยอมรับ และมีค่านิยมหันมาใช้เครื่องครัวแบบสเตนเลสกันเหมือนในทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นของ หัวม้าลาย เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509
คุณเสถียร ยังวาณิช ได้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ชุมศิลป์อุตสาหกรรม
เพื่อรับจ้างผลิตตู้แช่และเครื่องครัวสเตนเลส ให้กับโรงแรม, โรงพยาบาล และสายการบินต่าง ๆ ที่มีห้องครัวเป็นของตัวเอง
แต่เริ่มกิจการได้ไม่นาน คุณเสถียรก็รับรู้ว่า ธุรกิจของเขา ต้องพึ่งพาธุรกิจอื่นมากเกินไป
เพราะเป็นธุรกิจรับจ้างผลิต วัน ๆ ต้องรองาน หากไม่มีออร์เดอร์เข้ามา ก็จะไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้
เขาเลยครุ่นคิดว่า งั้นทำไมไม่ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเองขึ้นมา แล้วทำตลาดเองไปเลย
ซึ่งไอเดียในการเข้าสู่ธุรกิจเครื่องครัวสเตนเลส
ก็มาจากการที่คุณเสถียร สังเกตเห็นว่า มักมีเศษสเตนเลสเหลือใช้ จากการรับจ้างผลิตให้กับลูกค้า
จึงอยากนำเศษเหล่านี้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ด้วยการลองผลิตเป็น “ช้อนจีน” หรือช้อนสั้น เพื่อวางขายในตลาด ในปี พ.ศ. 2511 ซึ่งนับเป็นสินค้าชิ้นแรก ภายใต้แบรนด์หัวม้าลาย
ส่วนที่มาของชื่อและโลโกแบรนด์ หัวม้าลาย
เกิดจากในตอนนั้น คุณเสถียร ต้องการทำให้สินค้าเป็นที่จดจำ จึงตัดสินใจไปจดทะเบียนตราสินค้า
ซึ่งเมื่อก่อน คนอ่านหนังสือออกยังมีน้อย ดังนั้นการสร้างตราสินค้า จึงมักใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ช้าง, เสือ, สิงโต ฯลฯ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ
แต่ตอนที่คุณเสถียรไปที่กรมทะเบียน เพื่อไปจดตราสินค้า ปรากฏว่าตรานั้น ตรานี้ ก็ถูกจดทะเบียนไปหมดแล้ว
นายทะเบียน เลยบอกว่า “มีตราหนึ่งเหลืออยู่นะ เหลือแต่ส่วนหัวด้วย เป็นหัวม้าลาย เอาไหม”
ซึ่งคุณเสถียร ก็บอกว่า “ก็ดีนะ เพราะม้า ก็ถือเป็นสัตว์มงคลของคนจีน”
และหัวม้าลาย ก็ถือกำเนิดขึ้น นับแต่นั้นมา
แม้คุณเสถียร จะมีประสบการณ์ ในเรื่องการผลิตเครื่องครัวสเตนเลส ทำให้มั่นใจในเรื่องคุณภาพของสินค้า
แต่ในด้านการตลาด ยังประสบกับความท้าทายอยู่ไม่น้อย
เพราะในสมัยก่อน คนไทยจะไม่ค่อยรู้ว่าสเตนเลส คืออะไร
จึงต้องใช้เวลาในการให้ความรู้ สร้างการรับรู้ และสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของตัววัสดุ
ซึ่งช่วงนั้น ธุรกิจของคุณเสถียร เพิ่งเริ่มได้ไม่นาน จึงมีเงินทุนน้อย
เลยอาศัยการออกบูทเป็นหลัก ในการให้ความรู้กับผู้บริโภคชาวไทย
ว่าสเตนเลสคืออะไร และเครื่องครัวที่ทำจากสเตนเลส ดีอย่างไร
ซึ่งสเตนเลส คือเหล็กกล้า ที่มีธาตุอื่นผสมอยู่ เช่น นิกเกิล, โครเมียม
ทำให้มีความต้านทานการกัดกร่อน ทนต่อสนิม และตัวเนื้อผิวมีความเงางาม
จึงเหมาะนำมาใช้ในการผลิตเครื่องครัวทำอาหาร และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
หลังจากนั้น เมื่อลูกค้าเห็นว่าเครื่องครัวแบบสเตนเลส มีความทนทานและปลอดภัย
และยอมรับในคุณภาพสินค้า ของหัวม้าลาย จึงเกิดกระแสการบอกปากต่อปาก ในหมู่ผู้บริโภค
กิจการของหัวม้าลาย เลยเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ คู่ไปกับสังคมไทย
จนต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ในปี พ.ศ. 2523 และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ในปี พ.ศ. 2539
อีกทั้งขยายไลน์สินค้าให้มากขึ้น จากช้อน เป็นจาน เป็นหม้อ เพิ่มเข้ามา
เพื่อให้ครอบคลุมทุกการใช้งานของลูกค้าในครัว
จนปัจจุบันมีสินค้าที่ผลิตทั้งหมด มากกว่า 2,200 รายการ ภายใต้ 3 แบรนด์ ที่เจาะกลุ่มลูกค้าต่างกัน
-ตราหัวม้าลาย (Zebra)
ตัวอย่างสินค้า ได้แก่ หม้อ, กระทะ, มีด, ตะหลิว, ช้อน, ส้อม, ชาม, ถ้วยน้ำ, ปิ่นโต
-ESTIO แบรนด์เครื่องครัวระดับพรีเมียม
ตัวอย่างสินค้า ได้แก่ กระทะ, จาน, ชาม, ถ้วยกาแฟ
-พระอาทิตย์ (SUN’z) แบรนด์เครื่องครัวที่ราคาย่อมเยา
ตัวอย่างสินค้า ได้แก่ หม้อ, กระทะ, ปิ่นโต, หม้อ, ช้อน, ส้อม, จาน
ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจ จะเป็นกลุ่มครัวเรือน ประมาณ 70%
กลุ่ม HORECA (โรงแรม, ร้านอาหาร และจัดเลี้ยง) 20%
และกลุ่มสถาบันการศึกษา 10%
ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจหัวม้าลาย บริหารงานโดยทายาทรุ่นที่ 2 คือคุณเอกชัย ยังวาณิช
และลูก ๆ อีก 4 คน ของคุณเสถียร
หลังจากคุณเอกชัย จบการศึกษา ป.ตรี ด้านวิศวกรรมอุตสาหการ จากสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2528
ก็กลับมาช่วยดูแลธุรกิจครอบครัวทันที
ซึ่งคุณเอกชัยก็มีความผูกพันกับแบรนด์หัวม้าลาย
เพราะได้มีโอกาสไปช่วยงานที่โรงงานและบูท มาตั้งแต่เด็ก ๆ
ทำให้เกิดการซึมซับ ในเรื่องของผลิตภัณฑ์ และเทคนิคการผลิตของธุรกิจ
แล้วผลประกอบการของธุรกิจ เป็นอย่างไรบ้างในช่วงที่ผ่านมา ?
บริษัท เสถียรสเตนเลสสตีล จำกัด (มหาชน)
ปี 2561 มีรายได้ 1,715 ล้านบาท กำไร 192 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 1,739 ล้านบาท กำไร 135 ล้านบาท
ในปี 2562 ทุก ๆ รายได้ 100 บาท จะเป็น
ต้นทุนสินค้าที่ขาย 71 บาท
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 20 บาท
ดอกเบี้ยจ่ายและภาษี 1 บาท
กำไร 8 บาท
โดยบริษัทมีโรงงานผลิต ตั้งอยู่ ณ กิ่งอำเภอ นิคมพัฒนา จ.ระยอง บนเนื้อที่ 100 ไร่
มีกำลังการผลิตต่อปี จากการใช้เหล็ก ประมาณ 8,000 ตัน
ซึ่งในกระบวนการผลิต จะเน้นการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เป็นหลัก
นอกจากในประเทศไทยแล้ว บริษัทยังมีการบุกตลาดไปยังต่างประเทศอีกด้วย
โดยส่งออกมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ยุโรป, สหรัฐฯ และตะวันออกกลาง
ซึ่งสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศคิดเป็น 70% และต่างประเทศ 30%
การทำตลาดในต่างประเทศนั้น จะพัฒนาและส่งออกสินค้าให้ตรงกับความต้องการใช้งานเครื่องครัว ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น พม่า จะชอบสินค้าประเภทปิ่นโตและช้อนจีน
ประเทศในตะวันออกกลาง จะนิยมกาน้ำ เพื่อเอาไปใช้ต้มชา
ยุโรป นิยมสปาเกตตี หม้อและกระทะที่ส่งออกไป ก็จะคนละแบบ กับที่ขายในไทย เป็นต้น
ส่วนทิศทางของสินค้าหลังจากนี้ บริษัทจะเน้นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และสินค้า ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ถ้าถามว่า ธุรกิจอะไร ที่อาจสามารถอยู่รอดได้หลายสิบปีต่อจากนี้ ในยุคดิสรัปชัน และเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
หนึ่งในนั้นก็คงเป็น ธุรกิจเครื่องครัว เพราะมนุษย์ยังต้องทานอาหาร เพื่อดำรงชีพ หรือ สร้างความสุขให้กับตัวเอง
และ หัวม้าลาย ก็คงอยู่คู่กับครัวไทยและคนไทย ไปอีกแสนนาน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.