การลงทุนปลูกกัญชง ในเมืองไทย กับความท้าทาย ที่ต้องเผชิญ - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

การลงทุนปลูกกัญชง ในเมืองไทย กับความท้าทาย ที่ต้องเผชิญ - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

23 เม.ย. 2021
ตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ภาครัฐ ได้ปลดล็อกกัญชาและกัญชง จากการเป็นยาเสพติดในหลายส่วน (ยกเว้นช่อดอก และเมล็ดกัญชา) ได้จุดกระแสความสนใจให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้ผลิต
นำมาสู่คำถามว่า กัญชาและกัญชง จะสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ได้หรือไม่ มีเงื่อนไขอะไรที่ต้องคำนึงถึง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงขอสรุปมุมมองที่มีต่อประเด็นนี้ ดังนี้
-กัญชง น่าจะมีศักยภาพในการเป็นพืชเศรษฐกิจหรือ Cash Crop ที่เปิดกว้างสำหรับเกษตรกรและผู้ลงทุนได้มากกว่า กัญชา
เนื่องจากเงื่อนไขการปลูก การสกัด การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายกัญชา ยังคงมุ่งเน้นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหลัก จากการที่กัญชามีสาร THC ที่มีผลต่อระบบประสาท
ขณะที่การปลูกและการใช้ประโยชน์จากกัญชง ทั้งเพื่อสารสกัด CBD น้ำมันเมล็ดกัญชง และเส้นใย (Fiber) จะมีความผ่อนคลายมากกว่า แม้ตลอดซัปพลายเชนของทั้งคู่ ยังต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ
โดยคาดว่า ผลผลิตกัญชงต้นน้ำของไทยรอบแรกหลังการปลดล็อก น่าจะทยอยออกสู่ตลาดได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
-ความต้องการสารสกัด CBD และน้ำมันเมล็ดกัญชง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยา, เครื่องสำอาง, อาหารและเครื่องดื่ม, อาหารเสริม, อาหารสัตว์ รวมถึงเส้นใยสำหรับเป็นวัตถุดิบในสินค้านวัตกรรม เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์, พลาสติกชีวภาพ เป็นต้น
ที่มีแนวโน้มเติบโตทั้งในประเทศและตลาดโลก จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการลงทุนเพาะปลูกกัญชงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
โดยมีการประเมินว่า ตลาดกัญชงโลกในปี 2563 มีมูลค่าราว 4,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (149,230 ล้านบาท)
จะเร่งตัวขึ้นไปแตะ 18,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (584,849 ล้านบาท) ในปี 2570
หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 22.4% ต่อปี
ทั้งนี้ แม้อุปสงค์ในผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ จะมีแนวโน้มเติบโตดี แต่ประเด็นสำคัญสำหรับการลงทุนเพาะปลูกกัญชงของไทย คงจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพและราคา โดยเฉพาะหากในอนาคตมีการเปิดเสรีนำเข้าวัตถุดิบหรือสารสกัดกัญชงจากต่างประเทศได้
ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากการชั่งน้ำหนักระหว่างคุณภาพและราคาของกัญชง เมื่อเทียบกับสินค้าทดแทนอื่น ๆ แล้ว กัญชงต้นน้ำของไทยจำเป็นต้องมีคุณภาพดี ราคาไม่สูงเกินไป และแข่งขันได้กับวัตถุดิบและสารสกัดกัญชงจากต่างประเทศด้วย กล่าวได้ว่า การลงทุนเพาะปลูกกัญชง จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นนี้
-นอกจากประเด็นความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมปลายน้ำแล้ว
ความสำเร็จของการปลูกกัญชง ยังต้องอาศัยเงื่อนไขหลายประการโดยเฉพาะความรู้ในการปลูกที่ถูกต้อง, การลงทุนโรงเรือน (Outdoor/Greenhouse/Indoor), การบริหารจัดการผลผลิตที่เหมาะสม เป็นต้น
ดังนั้น จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจต้องลองผิดลองถูกในระยะเริ่มต้น ส่งผลให้ผู้ลงทุนจำเป็นต้องศึกษาและมีศักยภาพในการรองรับการคืนทุน ที่อาจต้องใช้ระยะเวลาหลายปี
-ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2564 รายได้จากช่อดอกกัญชงจากการปลูกแบบระบบเปิด (Outdoor) ที่ให้ผลผลิตช่อดอกกัญชงแห้งราว 20-40 กิโลกรัมต่อไร่ อาจจะอยู่ที่ราว 0.2-1.0 ล้านบาทต่อไร่
เนื่องจากราคารับซื้อที่สูง เพราะผลผลิตที่ยังมีจำกัดเป็นหลัก ขณะที่ต้นทุนการปลูกที่คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 0.3-1.5 ล้านบาทต่อไร่ ทำให้เป็นไปได้ว่า ผู้ลงทุนปลูกกัญชงอาจต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 4-5 ปี
สำหรับการปลูกเพื่อเส้นใยกัญชงนั้น แม้ราคารับซื้อจะถูกกว่าช่อดอก แต่ผลผลิตที่ได้จะมากกว่า ทำให้รายได้, ต้นทุน และระยะเวลาคืนทุน อาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก
อย่างไรก็ดี หากผู้ลงทุนสามารถยกระดับการปลูกกัญชงแบบระบบปิด (Indoor) ได้ แม้เงินลงทุนจะสูงกว่าระบบเปิด แต่ผลผลิตช่อดอกที่ได้จะมีราคาที่สูงกว่า เช่น Medical Grade จะทำให้มีโอกาสคืนทุนเร็วกว่าได้เช่นกัน
ในระยะข้างหน้า เมื่อมีผู้ลงทุนปลูกกัญชงมากขึ้น อุปทานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่กดดันราคาผลผลิตกัญชงให้มีแนวโน้มไม่สามารถ ยืนระดับสูงไปได้ตลอดเช่นในปีแรก ๆ นี้
โดยเฉพาะถ้าในอนาคตภาครัฐ มีการอนุญาตให้มีการนำเข้าวัตถุดิบหรือสารสกัดกัญชงจากต่างประเทศได้ (เบื้องต้นในกรอบ 5 ปีจากนี้) ก็จะส่งผลต่อรายได้ของผู้ลงทุนปลูกกัญชง ที่อาจให้ภาพที่ลดลงอย่างยาก จะหลีกเลี่ยง
ดังนั้น ผู้ที่คิดจะลงทุนปลูกกัญชง คงต้องคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ให้รอบคอบ ซึ่งการวางแผนเพื่อให้สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลารวดเร็ว และการพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ทั้งในประเทศและตลาดโลก จะเป็นกุญแจสำคัญที่สนับสนุนการสร้างรายได้สุทธิให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.