รู้จัก “SOAR” เครื่องมือการวางแผนกลยุทธ์ ที่ดีกว่า SWOT Analysis

รู้จัก “SOAR” เครื่องมือการวางแผนกลยุทธ์ ที่ดีกว่า SWOT Analysis

24 เม.ย. 2021
หลักการที่ผู้บริหารมักนำมาใช้ในการวิเคราะห์องค์กรหรือธุรกิจของตัวเอง เพื่อวางแผนกลยุทธ์ มักจะเป็น SWOT Analysis ที่มีการเริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940
โดยหน้าที่ของ SWOT คือการวิเคราะห์ถึง จุดแข็ง (Strengths) จุดอ่อน (Weaknesses) ภายในองค์กร และการมองหาโอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Threats) ที่อยู่ภายนอกองค์กร
เมื่อวิเคราะห์ได้แล้ว ก็จะนำเอาข้อมูลที่ได้ มาวางแผนด้านกลยุทธ์ในลำดับถัดไป
ซึ่งในปัจจุบัน SWOT ค่อนข้างที่จะไม่นิยมใช้แล้ว เพราะมีข้อด้อยหลายอย่าง เช่น
1. เป็นมุมมองที่เกิดขึ้นจากผู้บริหารหรือกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว ดังนั้นข้อมูลที่ได้ อาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมด
2. เป็นการวิเคราะห์เพียงภาพรวมกว้าง ๆ ไม่ได้มีวิธีการหรือขั้นตอน ที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น
3. เป็นการวิเคราะห์ที่อ้างอิงจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อเวลาผ่านไป อาจทำให้หลักการนี้ ใช้ไม่ได้ผลแล้วนั่นเอง
ดังนั้นจึงเกิดหลักการ SOAR Analysis หรือที่อ่านว่า “ซออาร์” ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้วิเคราะห์องค์กรหรือธุรกิจเพื่อวางแผนกลยุทธ์ เหมือนกับ SWOT เพียงแต่มีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากขึ้น
เพื่อให้เข้าใจอย่างละเอียด เราต้องย้อนกลับไปต้นกำเนิดของ SOAR กันก่อน
จริง ๆ แล้ว หลักการ SOAR เดิมคือหลักการ SWOT ที่นำวิธีคิดแบบ Appreciative Inquiry เรียกสั้น ๆ ว่า “AI” เข้ามาผสมผสาน โดยวิธีคิดนี้หมายถึง การตั้งคำถามเชิงบวกกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ จุดแข็ง (Strengths) โอกาส (Opportunities) แรงบันดาลใจ (Aspiration) และผลดีที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Results) ร่วมกัน
เพื่อใช้ค้นหาแนวทางที่ดีที่สุด สำหรับการนำไปปฏิบัติ ให้บรรลุเป้าหมาย
ที่น่าสนใจคือ วิธีคิดแบบ AI มีสมมติฐานว่า “ในทุกระบบหรือทุกคน มักมีเรื่องราวดี ๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนั้น แล้วทำไมเราไม่ดึงเรื่องราวดี ๆ มาสร้างการเปลี่ยนแปลง จากเรื่องที่ดูไม่น่าเป็นไปได้ ให้เป็นไปได้ขึ้นมา”
และถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 ผู้บริหารและนักพัฒนาองค์กรได้นำวิธีคิดแบบ AI ไปประยุกต์ใช้ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการบริหาร, ด้านการแพทย์, ด้านวิศวกรรม, ด้านการพัฒนาองค์กร และการวางแผนกลยุทธ์ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า วิธีคิดนี้ได้ผลนั่นเอง
หลังจากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว SOAR ดีกว่า SWOT อย่างไร ?
ความแตกต่างระหว่าง SWOT และ SOAR คือ
SWOT จะวิเคราะห์ถึงสภาพแวดล้อมภายใน และสภาพแวดล้อมภายนอกขององค์กร ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เพียงภาพรวมกว้าง ๆ ไม่ได้มีวิธีการหรือขั้นตอนที่นำไปสู่เป้าหมาย
แต่ในทางตรงกันข้าม SOAR จะวิเคราะห์ทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน รวมถึงแรงบันดาลใจ และกำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการในอนาคต ดังนั้น SOAR จึงมีขั้นตอนที่ละเอียดกว่า สมเหตุสมผลกว่า และนำไปใช้จริงได้ง่ายกว่านั่นเอง
ซึ่งวิธีการนำ SOAR ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง จะเป็นการตั้งคำถามเชิงบวกในแต่ละประเด็น แล้วนำไปสอบถามผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนในองค์กร เมื่อได้คำตอบมาแล้ว ก็นำคำตอบนั้นมาร้อยเรียงตามตัวชี้วัด 4 ตัว ได้แก่
1) จุดแข็ง (Strengths)
2) โอกาส (Opportunities)
3) แรงบันดาลใจ (Aspiration)
4) ผลดีที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Results)
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จะขอยกตัวอย่างคำถามเชิงบวกใน 2 แง่มุม ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ และแรงจูงใจจากภายใน โดยเริ่มจากตัวชี้วัดแรก
1) จุดแข็ง (Strengths)
คือเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร โดยอาจเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร กับใครก็ได้
และอาจอยู่ในรูปแบบของความรู้ ทัศนคติ ที่อยู่ในบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
ในกระบวนการค้นหาจุดแข็ง จึงเป็นเหมือนกระบวนการที่ใช้ค้นหาเรื่องดี ๆ จากความสำเร็จ
แม้เพียงเล็กน้อย จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนในองค์กร ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
-การเรียนรู้
เริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า “ถ้าให้นึกถึงครั้งที่เราทำงานได้มีประสิทธิภาพ แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
จุดเปลี่ยนนั้นมาจากอะไร” ยกตัวอย่างเช่น พนักงานคนหนึ่งเล่าเรื่องราวดี ๆ ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งได้สอบถามหัวหน้าไปตรง ๆ ว่า
จุดที่เราต้องปรับปรุงมีอะไรบ้าง และหลังจากที่หัวหน้าตอบ ผลงานของเราก็มีการพัฒนามากขึ้น
เพราะรู้จุดบกพร่องของตัวเอง ดังนั้นการให้ Feedback อย่างจริงใจ ระหว่างหัวหน้าและคนในทีม
ทำให้ทำงานได้ดีขึ้น เรื่องนี้จึงเป็นจุดแข็ง ที่สามารถนำมาเป็นหลักปฏิบัติถาวรในองค์กรได้
-แรงจูงใจจากภายใน
โดยให้นึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เรา เต็มใจทำงานอย่างดีที่สุด โดยงานนั้นไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ขององค์กร งานนั้นคืองานอะไร ?
เช่น ตัวอย่างการสัมภาษณ์พนักงานรายหนึ่ง บอกว่า การที่บริษัทพาพวกเขาไปสร้างห้องสมุดให้กับโรงเรียนในชนบท ทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุข
และมีความภูมิใจ ที่องค์กรได้พาไปทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ดังนั้นเรื่องนี้จึงสามารถนำไปต่อยอด เป็นโครงการรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในระยะยาว ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้พนักงานได้
2) โอกาส (Opportunities)
คือสิ่งที่เกิดจากการวิเคราะห์จุดแข็ง โดยสามารถวิเคราะห์ออกมาได้ ดังนี้
-โอกาสในการส่งเสริมการเรียนรู้
การให้ Feedback ร่วมกันระหว่างทีม จะทำให้ทำงานได้ดีขึ้น มีประสิทธิผลมากขึ้น
-โอกาสในการสร้างแรงจูงใจจากภายใน
พนักงานได้ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคม ทำให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงาน มีความภูมิใจในองค์กร ดังนั้นแสดงว่าองค์กรสามารถใช้กิจกรรมเพื่อสังคม เป็นตัวช่วยในการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานได้
3) แรงบันดาลใจ (Aspiration)
-แรงบันดาลใจจากโอกาสในการส่งเสริมการเรียนรู้
เมื่อพนักงานทำงานได้ดีขึ้น มีขีดความสามารถสูงขึ้น มีทัศนคติในเชิงบวก เนื่องจากผ่านการ Feedback ร่วมกันระหว่างทีม จึงทำให้งานที่ออกมามีคุณภาพ และ KPI ทุกตัวจากทุกแผนกก็สูงขึ้นตาม
-แรงจูงใจจากโอกาสในการสร้างแรงจูงใจจากภายใน
เมื่อองค์กรสร้างกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ได้ภาพลักษณ์ที่ดี
พนักงานมีความภาคภูมิใจ และมีความผูกพันกับองค์กรมากขึ้น
4) ผลดีที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Results)
-KPI จากการส่งเสริมการเรียนรู้
KPI ของทุกแผนกสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
-KPI จากการสร้างแรงจูงใจจากภายใน
อัตราการลาออกของพนักงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว สิ่งที่ต้องทำในขั้นต่อไปคือ การวางแผนเชิงกลยุทธ์ ซึ่งก็ต้องมีการวัดผล SOAR Analysis ระหว่างทางอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้แน่ใจว่าคำถามเชิงบวกที่เราใช้นั้น นำไปสู่ผลดีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจริง ๆ..
อ้างอิง:
-งายวิจัยของ ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น https://so04.tci-thaijo.org/…/mba…/article/view/64500/52899…
-https://expertprogrammanagement.com/2019/11/soar-analysis/
-https://www.gotoknow.org/posts/441791
-https://www2.si.mahidol.ac.th/…/kmexperien…/kmarticle/14531/
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.