Animal Marketing การตลาดที่ให้ ​“สัตว์” ช่วยสื่อสารแทนแบรนด์​

Animal Marketing การตลาดที่ให้ ​“สัตว์” ช่วยสื่อสารแทนแบรนด์​

25 เม.ย. 2021
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมแบรนด์ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะดังระดับตำนาน เป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือแม้แต่แบรนด์สินค้าในบ้านเรา มักเลือกใช้ “สัตว์” มาเป็นสัญลักษณ์ หรือหนึ่งในกลยุทธ์การตลาด
ไม่ว่าจะเป็นการนำรูปสัตว์มาใช้ในโลโก ออกแบบมาสคอตเป็นรูปสัตว์ ไปจนถึงการทำโฆษณา​ โดยมีสัตว์เข้ามาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ ทั้งที่มีเครื่องมือการตลาดอื่นให้เลือกมากมาย
หลายคนอาจจะมองว่า เพราะความน่ารักของบรรดาสิงสาราสัตว์ ที่มีอานุภาพดึงดูดให้คนสนใจ และอยากจะหยุดดู
จริง ๆ แล้วก็ไม่ผิด แต่คงไม่ใช่เหตุผลเดียว ที่ทำให้เหล่าสัตว์กลายเป็นไพ่ใบสำคัญที่แบรนด์มักเลือกใช้
เพราะไม่เช่นนั้น คงไม่มีแบรนด์ไหน เลือกใช้สัตว์ที่อาจจะไม่ได้เป็นตัวแทนความน่ารัก อย่างกระทิง ลิง มังกร หรือแม้แต่ตะขาบ
ยกตัวอย่าง
-Red Bull แบรนด์เครื่องดื่มชูกำลัง ใช้กระทิงสองตัวหันหน้าชนกัน เป็นโลโก
-Lacoste แบรนด์เสื้อผ้าจากฝรั่งเศส ใช้จระเข้ เป็นโลโก
-Jaguar แบรนด์รถหรูจากสหราชอาณาจักร ใช้เสือจากัวร์ เป็นโลโก
แล้วอะไรคือเหตุที่ทำให้หลายแบรนด์ นิยมใช้ “สารพัดสัตว์” เข้ามาสร้างสีสันให้แบรนด์และการทำตลาด
นอกจากความน่ารักที่เฉลยไปแล้ว
​อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายแบรนด์เลือกใช้ Animal Marketing หรือ การตลาดที่ใช้สัตว์เป็นตัวช่วยสื่อสารแทนแบรนด์
เพราะธรรมชาติของคนเรา มีความรักสัตว์อยู่ในตัว
ดังนั้น เวลาเห็นสัตว์ที่ต่อให้เป็นสัตว์ป่า ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงอย่างหมา-แมวก็จะให้ความสนใจ​
หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ ตอนที่ Coca-Cola ออกโฆษณาชุด Northern Lights เมื่อปี ค.ศ. 1993
ใครจะคิดว่า ด้วยความน่ารักของครอบครัวหมีขั้วโลกขนปุย ที่ชวนกันมานั่งดื่ม “โค้ก”
ไม่เพียงสร้างภาพจำที่สร้างความประทับใจให้ลูกค้า แต่ความชื่นชอบในแครักเตอร์ของหมีขั้วโลก
ทำให้ Coca-Cola สามารถต่อยอดมาสู่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับนักสะสมอีกมากมาย เช่น ตุ๊กตา เสื้อยืด หมวก แก้ว พวงกุญแจ หรือแม้แต่กางเกงบอกเซอร์
มาถึงวันนี้ เทรนด์รักสัตว์ยิ่งทวีความรุนแรง คนยุคนี้ไม่ได้เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นแค่เพื่อนคลายเหงาอีกต่อไป แต่เจ้าของบางคน เลี้ยงแล้วรักสัตว์เลี้ยงเหมือนเป็นลูก (Pet Parent)
จึงไม่แปลกที่นอกจากจะได้เห็นลักชัวรีแบรนด์ พาเหรดกันออกไอเทมสำหรับทาสหมา ทาสแมวมายั่วใจเหล่าสาวก
แบรนด์ส่วนใหญ่ยังมักให้น้องหมา-แมว มาร่วมถ่ายแบบกับเหล่านายแบบ-นางแบบ หรือสินค้า
เพื่อหวังว่า บรรดา Pet Parent เห็นแล้ว อาจจะห้ามใจไม่อยู่ อยากจะควักกระเป๋าเป็นเจ้าของสินค้านั้น
หรือต่อให้ไม่ซื้อวันนี้ อย่างน้อยแค่รู้สึกชื่นชอบแบรนด์นั้นขึ้นมาบ้างก็พอแล้ว
นอกจากกลยุทธ์ Animal Marketing จะใช้ความเอ็นดูที่คนเรามีต่อสัตว์ มาพิชิตใจลูกค้า​
ในอีกมุมหนึ่ง กลยุทธ์นี้ยังช่วยให้แบรนด์สื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายขึ้น โดยใช้สัตว์เป็นสื่อกลาง
เพราะธรรมชาติของสัตว์มีความเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน ภาษาไหน
ถ้าพูดถึงสุนัข ก็ต้องนึกถึงความซื่อสัตย์
แมว นึกถึงความสุขุม ขี้เล่น
สิงโต นึกถึงความยิ่งใหญ่ เป็นเจ้าป่า
เสือ นึกถึงความปราดเปรียว ว่องไว
ด้วยจุดแข็งนี้เอง ทำให้หลายแบรนด์เลือกนำสัตว์ ที่มีแครักเตอร์ตรงกับแบรนด์ไปใช้เป็นโลโกหรือมาสคอต
เพื่อสะท้อนตัวตนของแบรนด์ให้ลูกค้าเห็นภาพ และเกิดการจดจำได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง
-Puma แบรนด์รองเท้ากีฬาระดับโลก ใช้เสือพูมา ในโลโก เพื่อสื่อถึงความแข็งแรงและกระฉับกระเฉงว่องไว
-Lamborghini แบรนด์ซูเปอร์คาร์สัญชาติอิตาลี ใช้วัวกระทิง ในโลโก เพื่อสื่อถึงความแข็งแกร่ง ทนทาน เร็วแรง
-ยาอมแก้ไอตราตะขาบ 5 ตัว ใช้ตะขาบเป็นชื่อแบรนด์และตราสินค้า เพราะมองว่าตะขาบเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขาม แถมยังมีพิษ ซึ่งคนจีนเชื่อว่าการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต้องใช้ “พิษล้างพิษ” คล้ายหลักการของเซรุ่ม
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ Animal Marketing เป็นทางเลือกที่ไม่เคยล้าสมัย คือ สามารถนำความน่ารักหรือจุดเด่นของสัตว์ต่าง ๆ มาต่อยอดได้ง่าย
ไม่ว่าจะเป็นมาสคอต สติกเกอร์ไลน์ หรือใช้เป็นตัวแทนแบรนด์ในการสื่อสาร เพื่อเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น
หนึ่งในกรณีศึกษาของแบรนด์ที่ใช้สัตว์มาสร้างภาพจำให้กับแบรนด์ได้ดีที่สุด
คงหนีไม่พ้น Bar B Q Plaza เชนร้านปิ้งย่างชื่อดัง ที่ใช้มังกร สัตว์ที่เป็นตัวแทนของความโชคดี
แต่ในบางมุมก็อาจจะมองว่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย มาเติมความน่ารักให้ดูขี้เล่น
เพื่อใช้เป็นมาสคอตแบรนด์ และอยู่ในทุกช่องทางการสื่อสารของแบรนด์
หรืออย่าง ปตท. ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทย
เลือกนำก็อดซิลลา มาเพิ่มความน่ารักด้วยการใส่เหล็กดัดฟัน เป็นตัวเอกในหนังโฆษณา
ก่อนจะมาปรับภาพลักษณ์ให้น่ากอดมากขึ้น พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น ก๊อดจิ
ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นกิมมิกในการสื่อสารของแบรนด์ ยังต่อยอดไปสู่การผลิตเป็นสินค้า เช่น ตุ๊กตา กระเป๋าผ้า สติกเกอร์ไลน์
ขณะที่ Amazon เชนร้านกาแฟที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย ก็ใช้นกแก้ว เป็นโลโก
ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซปต์และชื่อร้านกาแฟ ที่ตั้งใจให้เหมือนเป็นโอเอซิสแห่งการพักผ่อนของคนเดินทาง
อ่านมาถึงตรงนี้ คงพอเห็นภาพกันแล้วว่า ทำไมการตลาดที่ใช้ สิงสาราสัตว์ มาสร้างกิมมิกถึงไม่เคยตกยุค
และอนาคตต่อจากนี้ ก็จะยังมีให้เห็นอีกเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่มนุษย์ยังมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับบรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย
เพียงแต่ต้องจับตาดูว่า แบรนด์ไหนจะหยิบกลยุทธ์สุดคลาสสิกนี้ มาปัดฝุ่นได้น่าสนใจกว่ากัน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.