“เรือนเพชร” ตำนานสุกี้ สไตล์ไหหลำ

“เรือนเพชร” ตำนานสุกี้ สไตล์ไหหลำ

27 เม.ย. 2021
แม้จะมีแบรนด์สุกี้ ให้เลือกมากมายแค่ไหน
แต่ถ้านึกถึงร้านสุกี้ ที่มีซิกเนเชอร์ คือ เนื้อสัตว์หมักเต้าเจี้ยวสูตรลับ โปะหน้าด้วยไข่สด เสิร์ฟในจานเปลสเตนเลส
เชื่อว่า หลายคนต้องนึกถึง “เรือนเพชร” ร้านสุกี้ที่ยืนหนึ่ง ด้วยเอกลักษณ์ซึ่งยากจะเลียนแบบ มานานกว่า 56 ปี
แม้วันนี้จะส่งไม้ต่อจากรุ่นอากง มาจนถึงรุ่นหลาน
แต่ก็ยังรักษารสชาติแบบออริจินัลไว้ได้ไม่มีตกหล่น เพิ่มเติมคือ การทำให้แบรนด์ที่ดูเก่า แต่ยังเก๋า
เหมือนกับที่ คุณโอ๊ต พงศ์ธรรศ เลิศธนพันธุ์ ทายาทรุ่นที่ 3 บอกไว้ว่า
เรือนเพชรวันนี้ อาจจะอยู่ในวัยลุง แต่ก็เป็นคุณลุงใจดี ที่พร้อมเปิดรับเทรนด์ใหม่ ๆ ยังสนุกกับการหัดเล่นไลน์ หรือเข้าเฟซบุ๊กไปอ่านข่าว
แล้วเรือนเพชร มีต้นกำเนิดอย่างไร ?
ทำไมถึงขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในร้านสุกี้ยอดฮิต ระดับตำนานของบ้านเรา
คำตอบทั้งหมด เริ่มต้นจาก อากงซือไจ๋ หรือ สิงพร เลิศธนพันธุ์ ผู้ก่อตั้งเรือนเพชร
อากงไม่ได้ตั้งต้นธุรกิจนี้ จากความชอบกินสุกี้ หรือคิดถึงบ้านเกิดที่ไหหลำ
แต่เริ่มต้นธุรกิจนี้ เพราะมองว่า ถึงแม้ธุรกิจที่ตนทำอยู่อย่าง พ่อค้าคนกลาง ซึ่งต่อยอดมาจากอาชีพชาวสวน จะหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้
แต่อากงก็ยังไม่ชอบธุรกิจนี้อยู่ดี เพราะเป็นระบบเครดิต จึงอยากเปลี่ยนมาทำธุรกิจที่ได้เงินสดแบบวันต่อวันแทน
คิดไปคิดมา จะมีธุรกิจไหน ทำมาค้าคล่องไปกว่าร้านอาหาร ที่คนต้องกินทุกวัน
เลยคิดว่าอยากเปิดร้านอาหาร แต่จะขายอาหารอะไรดี
เป็นคำถามที่อากงคิดไม่ตก โชคดีที่เป็นชาวสวนก่อนจะมาเป็นพ่อค้า ทำให้อากงมีความรู้เรื่องวัตถุดิบ
บวกกับตอนที่ขายของอยู่แถวปากคลองตลาด ขายเสร็จก็ชอบแวะมากินของอร่อยที่เยาวราช
ชิมไปชิมมา ก็มาถูกใจเมนูสุกี้ เพราะเห็นว่าทำง่าย มีแค่น้ำซุป เนื้อสัตว์ ผัก และน้ำจิ้ม
เลยคิดว่า เปิดร้านขายสุกี้น่าจะเหมาะ
แต่คิดแล้ว ก็ยังไม่ได้ลงมือทำทันที อากงขอเวลาทดลองจนมั่นใจก่อน
เพราะสุกี้ก็มีหลายแบบ แต่อากงเลือกสไตล์ไหหลำ เพราะบ้านเกิดอยู่ที่นั่น
โดยจุดเด่นของสุกี้ไหหลำ คือ ใช้เต้าเจี้ยวในการหมักเนื้อ และมีน้ำจิ้มที่ใส่เต้าหู้ยี้
แต่แทนที่จะก๊อบปี้สูตรมาเลย อากงเลือกที่จะนำสูตรมาปรับปรุง ให้อร่อยถูกปากคนไทย
เริ่มจาก เต้าเจี้ยวที่ใช้หมักเนื้อ อากงใช้เวลาไม่นานก็ได้สูตรที่ถูกใจ
แต่มาเสียเวลาพัฒนาสูตรน้ำจิ้ม ซึ่งเป็นอาวุธลับสำคัญของร้านสุกี้อยู่หลายปี กว่าจะเจอสูตรที่ใช่
วิธีทดสอบว่าน้ำจิ้มของอากงอร่อย พร้อมเปิดร้านหรือยัง​ คือการเอาไปให้คนรู้จักชิม
แล้วเปรียบเทียบกับน้ำจิ้มสุกี้ที่มีอยู่ในท้องตลาด
ปรากฏว่า ไปกี่ที อากงก็ต้องผิดหวังซ้ำ ๆ เพราะทุกคนต่างบอกว่า น้ำจิ้มของอากง สู้น้ำจิ้มที่วางขายตามท้องตลาดไม่ได้
แต่อากงก็ไม่ท้อ พยายามปรับปรุง จนคิดว่าอร่อยแล้ว
เลยลองออกอุบาย เปลี่ยนวิธีทดสอบ แทนที่จะเอาน้ำจิ้มของตัวเองใส่ชามไปให้ชิมเหมือนทุกที
ลองเปลี่ยนเอาน้ำจิ้มที่ปรุงเองกับมือ กรอกใส่ขวดน้ำจิ้มที่ซื้อมา
แล้วเอาน้ำจิ้มในขวดเทออกมาใส่ชามให้ชิมแทน
ผลปรากฏว่า คำตอบที่ออกมาก็ยังเหมือนเดิม คือ น้ำจิ้มในขวดอร่อยกว่าน้ำจิ้มในชาม
มาถึงตรงนี้ อากงเลยเข้าใจ และมีความมั่นใจที่จะเปิดร้านสักที
แต่แทนที่จะเลือกปักหมุดในย่านของกินอย่างเยาวราช อากงเลือกมาบุกเบิกสาขาแรกที่ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
ในตอนแรกร้านยังไม่มีชื่อร้าน อากงมาตั้งชื่อทีหลัง โดยนำคำว่า “เรือน” ที่แปลว่า บ้าน มารวมกับคำว่า “เพชร” ซึ่งเป็นชื่อถนน
โดยเหตุผลที่อากงกล้ามาเปิดร้านในทำเลที่ถือว่าปราบเซียนในยุคนั้น เพราะเป็นถนนที่เพิ่งตัดใหม่สมชื่อ ยังไม่ได้เจริญเหมือนทุกวันนี้
แต่อากงเชื่อว่า ของอร่อยต่อให้อยู่ที่ไหน คนก็มา และก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ไม่เช่นนั้นเรือนเพชรก็คงไม่เป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว “เรือนเพชร” ขายดีแค่ไหน
ลองมาดูผลประกอบการของเรือนเพชรกัน
บริษัท เรือนเพชรสุกี้ จำกัด
ปี 2560 มีรายได้ 14 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 21 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 21 ล้านบาท
ถ้าถามว่าอะไร ทำให้ “เรือนเพชร” ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในยุคนั้น และยังครองความนิยมไม่เสื่อมคลายมาถึง 56 ปี
1. จุดเด่นที่ยากจะลอกเลียนแบบ
อย่างที่บอกว่า แม้จะเป็นสุกี้สไตล์ไหหลำ แต่ก็มีการปรับสูตรให้ถูกปากคนไทย
มีการทดลองตลาด จึงทำให้ทั้งสูตรเต้าเจี้ยวและน้ำจิ้มของเรือนเพชร มีความแตกต่าง และกลายเป็นสูตรเด็ดมาจนถึงทุกวันนี้
ซึ่งนอกจากเมนูสุกี้แล้ว เรือนเพชรก็ยังมีเมนูอาหารจีนที่เป็นสูตรเด็ดของทางร้านอีกหลายเมนูไว้ให้บริการด้วย
2. สร้างรากฐานจนมั่นคง ก่อนสยายปีก
ถึงร้านจะได้รับความนิยมแค่ไหน แต่เพื่อควบคุมคุณภาพตามแบบฉบับที่รุ่นอากงสร้างไว้
จะเห็นว่า เรือนเพชร มีเพียงสาขาเดียวมาตลอด 30 ปี ก่อนจะขยายมาเปิดสาขา 2 ที่ปากน้ำ สมุทรปราการ เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าที่อยู่ชานเมือง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 จึงมาเปิดสาขาในศูนย์การค้าเป็นครั้งแรก ที่เซ็นทรัลบางนา ตามมาด้วยเซ็นทรัล พระราม 2
เหตุผลที่ต้องรอถึง 48 ปี กว่าเรือนเพชรจะขึ้นศูนย์การค้า ทั้งที่ลูกค้าเรียกร้องมาก่อนหน้านั้นเป็น 10 ปี
เป็นเพราะ​อากงกังวลว่า เรือนเพชรอาจจะยังไม่พร้อมต่อกรกับร้านอาหารอื่น ๆ ในศูนย์การค้า
จนพอมีคนเจเนอเรชันใหม่ ๆ เข้ามาช่วยบริหาร มีแผนธุรกิจที่รัดกุม ว่าจะขยายสาขาอย่างไร​ บวกกับเห็นเทรนด์แล้วว่า​ ถึงเวลาแล้วที่เรือนเพชรจะต้องขยายฐานไปหากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ อากงเลยไฟเขียว
3. ปรับตัวแต่ไม่ทิ้งตัวตน
นอกจากจะขยายสาขา เพิ่มช่องทางการทำตลาดผ่านออนไลน์ เพื่อเข้าถึงลูกค้าวัยรุ่น นอกเหนือจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ขึ้นไป
เรือนเพชรยังมีการปรับระบบภายใน จากที่บริหารแบบกงสี มาเป็นระบบบริษัท
มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการรับออร์เดอร์จากลูกค้า รวมไปถึงช่องทางการชำระเงิน
ถึงจะเป็นร้านสุกี้บ้าน ๆ แต่เรือนเพชรมีบริการชำระเงินออนไลน์ มาหลายปีแล้ว
หลัก ๆ เพื่อแก้ Pain Point ของลูกค้าชาวจีน ที่คุ้นเคยกับสังคมไร้เงินสด
เลยทำให้นอกจากทางร้าน จะเพิ่มเมนูที่มีภาษาจีน ยังรับชำระเงินด้วย e-Payment
เชื่อไหมว่า พอแก้เกมแบบนี้ ช่วยให้ยอดขายต่อบิลเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
จากเดิมเวลาลูกค้าชาวจีนมาจะสั่งอะไร ก็ต้องคอยดูว่ามีเงินสดในกระเป๋าพอจ่ายไหม แต่พอพัฒนาระบบ คราวนี้ ก็สั่งได้ไม่อั้น
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า แม้เรือนเพชรจะมีการปรับตัวให้ทันยุค ตอบโจทย์ลูกค้าให้มากขึ้น
แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน คือ คุณภาพและรสชาติแบบออริจินัล ที่เรือนเพชรยังคงรักษาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
เหมือนกับที่ทายาทรุ่นที่ 3 บอกไว้ตอนต้นว่า ถึงจะเป็นแบรนด์วัยลุง แต่ก็เป็นคุณลุงที่ไม่ยอมตกยุค
ยังสนุกกับการปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ โดยไม่ลืมว่ารากของตัวเองมาจากตรงไหน..
อ้างอิง :
-https://themomentum.co/ruen-petch-suki/
-https://www.smartsme.co.th/content/44898
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.