โก๋แก่ เจ้าตลาดขนมถั่ว ที่เกิดจากของสะสม

โก๋แก่ เจ้าตลาดขนมถั่ว ที่เกิดจากของสะสม

2 พ.ค. 2021
สโลแกน “โก๋แก่ มันทุกเม็ด” ที่ทุกคนได้ยินผ่านหู
ของขนมถั่วลิสงเคลือบกะทิในตำนานอย่าง โก๋แก่
ที่มาพร้อมกับโลโก เด็กผู้ชายหัวฟูใส่แว่น สวมชุดยูโด อันเป็นเอกลักษณ์
แม้ สโลแกน ชื่อ และโลโกแบรนด์ จะสะท้อนให้เห็นถึงความกวนของแบรนด์
แต่รู้ไหมว่า หากพูดในแง่ผลลัพธ์ทางธุรกิจแล้ว
โก๋แก่ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก
เพราะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดขนมขบเคี้ยวชนิดถั่วในเมืองไทย ที่มีมูลค่าประมาณ​ 4,000-5,000 ล้านบาท
ได้เป็นอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาดถึง 50%
แล้วแบรนด์เจ้าตลาดนี้ มีความเป็นมาอย่างไร
และทำไมต้องใช้ชื่อว่า โก๋แก่ ?
เรื่องราวทั้งหมด มีจุดเริ่มมาจากปี พ.ศ. 2507
คุณชูเกียรติ รวยเจริญทรัพย์ ได้ตั้งโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวประเภทข้าวเกรียบ, ทอฟฟี่นม, ตังเม และถั่วแผ่น
ร่วมกับหุ้นส่วนคนอื่น ๆ บนถนนเอกชัย-บางขุนเทียน
โดยตั้งชื่อโรงงานว่า “โรงงานแม่รวย” เนื่องจากในสมัยนั้น ธุรกิจที่ทำของอร่อยขาย มักใช้ชื่อว่า “แม่” เช่น แม่ประนอม, แม่กิมไล้
ดังนั้นคุณชูเกียรติ จึงนำคำว่า แม่ มารวมกับคำแรกของนามสกุลตัวเอง กลายเป็น แม่รวย นั่นเอง
ซึ่งในการบริหารงาน คุณชูเกียรติจะรับผิดชอบเรื่องการขายและการตลาด
ส่วนหุ้นส่วนจะเป็นคนดูแลเรื่องการผลิต
อย่างไรก็ดี พอดำเนินธุรกิจไปได้ 10 กว่าปี
เหล่าหุ้นส่วนแต่ละคนก็ขอแยกตัวออกไป เพราะต้องการไปเติบโตในแนวทางของตัวเอง
พร้อมกับเอาสูตรขนมไปด้วย และทิ้งโรงงานที่เป็นห้องแถวขนาด 2-3 คูหา ให้คุณชูเกียรติดูแล
เมื่อไม่มีสินค้า คุณชูเกียรติเลยต้องพยายาม คิดค้นสูตรขนมของตัวเองขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มีสินค้าวางขาย
ซึ่งตอนนั้นเขามีโอกาสได้ไปเห็นถั่วเคลือบรสชาติต่าง ๆ ที่ต่างประเทศ เลยรู้สึกว่าน่าสนใจ
จึงนำแรงบันดาลใจนั้นกลับมาคิดค้นสูตรของตัวเอง ที่ผสมผสานความเป็นไทย
และได้ออกมาเป็น “ถั่วลิสงเคลือบกะทิ โก๋แก่” ซึ่งเริ่มวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2519
ส่วนที่มาของชื่อและโลโก โก๋แก่ นั้น
เกิดจากความต้องการของ คุณชูเกียรติ ที่อยากได้ชื่อแบรนด์สั้น ๆ เพียง 2 พยางค์ เพราะอยากให้คนจำง่าย
และมีความคิดว่า หากโลโกเป็นตัวการ์ตูน น่าจะดึงดูดความสนใจของผู้คนได้มาก
เขาจึงไปรื้อ โปสต์การ์ดและสติกเกอร์ญี่ปุ่น ที่เขาเก็บสะสมไว้ออกมาดู เพื่อเป็นไอเดีย
จนไปเจอภาพตัวการ์ตูนญี่ปุ่น ที่มีสไตล์หน้าตากวน ๆ หัวฟู ๆ สวมแว่นตากันแดด คล้ายจิ๊กโก๋
คุณชูเกียรติมองภาพนี้อยู่พักหนึ่ง แล้วตัดสินใจว่า จะนำแครักเตอร์นี้ไปเป็นตัวแทนของแบรนด์
พร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า “โก๋แก่” ซึ่งมาจากคำว่า จิ๊กโก๋ บวกกับ แก่ เพื่อให้เกิดความคล้องจองกัน
โดยช่วงแรก ๆ ที่นำโก๋แก่ไปขาย ก็ได้ผลตอบรับไม่ค่อยดีเท่าไร
เนื่องจากคนไม่รู้จักมาก่อน และแพ็กเกจจิงเป็นซองทึบ จึงมองเห็นแต่ตัวการ์ตูนแปลก ๆ ไม่รู้ว่าขนมภายในมีหน้าตาเป็นอย่างไร ผู้คนเลยไม่กล้าลองซื้อกัน
ภายหลังคุณชูเกียรติจึงลองปรับมาใช้ซองใสชั่วคราว และให้คนชิม
เพื่อจะได้ลิ้มรสของ ถั่วลิสงเคลือบกะทิ
ซึ่งปรากฏว่าแผนนี้ ได้ผลตอบรับที่ดี เพราะคนที่มาซื้อเริ่มติดใจในรสชาติ และเกิดการบอกต่อ
จนโก๋แก่ขายดีและมีคนรู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ
หลังจากแบรนด์ติดตลาดมากขึ้น ก็ได้มีการนำมาสคอต พี่โก๋ มาช่วยสื่อสารผ่านสื่อต่าง ๆ
เช่น การเปิดตัวหนังโฆษณา ที่โก๋แก่ ดีดกีตาร์ร้องเพลง ผ่านทางโทรทัศน์
จากเริ่มแรก ที่ผลิตแค่รสกะทิ แบรนด์ก็มีการเพิ่มรสชาติใหม่ ๆ เช่น รสกาแฟ, วาซาบิ, ต้มยำ จนมีสินค้าหลายสิบรสชาติ
และครอบคลุมทั้งถั่วลันเตา, ถั่วลิสง, อัลมอนด์, เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายนั่นเอง
ถึงจะมีหลายประเภทสินค้า แต่ทางแบรนด์ได้กำหนดตลาดของตัวเองเอาไว้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ถั่วเคลือบ และถั่วเปลือย
ซึ่ง 2 ตลาดนี้ จะมีกลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน การทำการตลาดในแต่ละกลุ่ม จึงต้องแตกต่างกันด้วย
รวมถึงมีการจัดโครงสร้างองค์กร และพนักงาน ให้เหมาะสมกับแต่ละตลาด
สำหรับช่องทางจัดจำหน่าย โก๋แก่ ต้องการกระจายสินค้าไปให้ถึงมือผู้บริโภคมากที่สุด
จึงเป็นพันธมิตรกับร้านโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ เช่น 7-Eleven ที่มีมากกว่า 12,000 สาขาทั่วประเทศ
ซึ่งจำนวนสาขาที่มาก ยังเป็นมากกว่าช่องทางจำหน่ายสินค้า เพราะทำหน้าที่เป็นโชว์รูมสินค้าของแบรนด์ ให้ผู้คนได้รู้จักและจดจำ อีกด้วย
มาดูผลประกอบการของ พี่โก๋ ในช่วงที่ผ่านมากัน
บริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด
ปี 2560 มีรายได้ 2,093 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 2,131 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 2,246 ล้านบาท
โดยสัดส่วนรายได้ประมาณ 80% มาจากภายในประเทศ
อีก 20% มาจากต่างประเทศ​ และบริษัทมีการส่งออกไปขายแล้วกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
ซึ่งบริษัทตั้งเป้าว่า จะโฟกัสกับตลาดต่างประเทศมากขึ้น และลดสัดส่วนรายได้ในประเทศลง
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาบริษัทยังขยายโมเดลธุรกิจ โดยต่อยอดแบรนด์​โก๋แก่
มาทำร้านขายสินค้าของตัวเองในชื่อ Koh Shop (โก๋ช็อป) ที่จำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ของโก๋แก่
รวมถึงขนมและเครื่องดื่มใหม่ ๆ เช่น ไอศกรีมถั่ว, น้ำนมถั่ว, ​ปังโก๋
เพื่อจับกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมถึงคนที่ต้องการซื้อของฝาก และกลุ่มวัยรุ่น
ซึ่งปัจจุบัน Koh Shop มีอยู่ด้วยกัน 9 สาขา ได้แก่ สาขาเอเชียทีค, ไอคอนสยาม, เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก, จตุจักร, กฤษดาดอย (ชลบุรี), เขาชีจรรย์ (ชลบุรี), ​เมญ่า (เชียงใหม่), Think Park (เชียงใหม่) และออล วัน นิมมาน (เชียงใหม่)
ตอนนี้บริษัท โรงงานแม่รวย ถูกบริหารโดยทายาทรุ่นที่สอง ซึ่งก็คือลูก ๆ ทั้ง 3 คนของคุณชูเกียรติ
โดยแต่ละคนจะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละส่วนธุรกิจ ตามความถนัดของแต่ละคน
คุณจุมภฏ รับหน้าที่ดูแลเรื่อง การบริหารภาพรวมทั้งหมดและตลาดต่างประเทศ
คุณกฤษดา รับหน้าที่ดูแลเรื่อง ตลาดภายในประเทศ
และคุณเทิดทูล รับหน้าที่ดูแลเรื่อง การผลิต
ณ​ ตอนนี้ โก๋แก่ ได้ครองตลาดและครองใจลูกค้า ในเมืองไทย มาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน
หลังจากนี้ ก็ต้องติดตามว่าแบรนด์จะออกสินค้าใหม่ ๆ และงัดกลยุทธ์อะไรออกมา เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
และลุ้นว่า โก๋แก่ จะสามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ ตามที่หวังเอาไว้ ได้หรือไม่
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.