กว่าจะมาเป็น “ลูกชิ้นแชมป์-นายฮั้งเพ้ง” ร้านก๋วยเตี๋ยว ที่มีมากกว่า 3,000 สาขา

กว่าจะมาเป็น “ลูกชิ้นแชมป์-นายฮั้งเพ้ง” ร้านก๋วยเตี๋ยว ที่มีมากกว่า 3,000 สาขา

3 พ.ค. 2021
ถ้าพูดถึงแฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยว ที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี
หนึ่งในนั้น ต้องมีชื่อ “ลูกชิ้นแชมป์-นายฮั้งเพ้ง” อย่างแน่นอน
ซึ่งจุดเด่นของแบรนด์ ลูกชิ้นแชมป์-นายฮั้งเพ้ง คือ ลูกชิ้นหมูและลูกชิ้นเนื้อ ที่ใครหลายคน เมื่อได้ลองกินแล้ว มักเอ่ยชมเป็นเสียงเดียวกันว่า “อร่อย”
และแม้ลูกชิ้นแชมป์-นายฮั้งเพ้ง จะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 หรือเมื่อ 37 ปีก่อน
แต่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้ที่มาที่ไป ของแบรนด์​ที่คุ้นหูคุ้นตานี้ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ผ่านบททดสอบอะไรมาบ้าง จนสามารถขยายแฟรนไชส์ได้กว่า 3,000 สาขาในปัจจุบัน
เรื่องราวทั้งหมด เริ่มต้นจากคุณบดินทร์ ฉัตรมาลีรัตน์ หรือ ฮั้งเพ้ง ผู้ซึ่งมีนิสัยชอบค้าขายตั้งแต่เด็ก
ชีวิตในวัยเด็กของคุณบดินทร์ ไม่ได้สวยหรูหรือร่ำรวยมาก่อน ต้องเริ่มทำงานตั้งแต่ 9 ขวบ
ด้วยการหยิบจับสิ่งรอบตัว อาทิ ปากกาลูกลื่น, ปลา, กระเป๋า, รองเท้า มาสร้างรายได้
รวมถึงรับจ้างทำงานทุกอย่าง ที่สามารถทำได้
จนถึงวันหนึ่ง คุณบดินทร์อยากมีธุรกิจของตัวเอง จึงไปเรียนทำราดหน้า และตัดสินใจกู้เงินนอกระบบ ด้วยอัตราร้อยละ 10 เพื่อซื้อสูตรราดหน้าในราคา 4,500 บาท ซึ่งถือว่าแพงมากในยุคนั้น
เพราะทองคำหนัก 1 บาท คิดเป็นมูลค่าเพียง 400 บาท เท่านั้น
หลังจากที่กู้เงินมาทำร้านราดหน้า ร้านก็ขายได้ดี มีลูกค้าแวะเวียนมาตลอด
แต่สุดท้ายต้องปิดกิจการ เพราะตอนนั้นภรรยาตั้งท้อง​ จึงไม่มีเวลาดูแลร้าน และทำธุรกิจ
กระทั่งลูก ๆ เริ่มเข้าเรียน คุณบดินทร์จึงได้กลับมาทำธุรกิจอีกครั้ง
เหตุผลที่สนใจธุรกิจเกี่ยวกับลูกชิ้น เพราะเห็นว่าคนไทยชอบกินลูกชิ้น และลูกชิ้นก็เป็นเมนูที่เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย
ดังนั้นคุณบดินทร์จึงนำเงินที่สะสมไว้ มาซื้อเครื่องตีลูกชิ้น แล้วเริ่มบีบลูกชิ้นด้วยมือ
ผลปรากฏว่าลูกชิ้นเหนียว เพราะทิ้งไว้นานเกินไป
ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้คุณบดินทร์รู้ว่า “ถ้าเราทำสิ่งใดก็ตาม โดยปราศจากความรู้ ก็มีแต่เจ๊งกับเจ๊งเท่านั้น”
ดังนั้นคุณบดินทร์จึงไปเรียนและฝึกฝนการทำลูกชิ้น
และได้ค้นพบว่า เคล็ดลับการทำลูกชิ้นให้ อร่อย นุ่ม เด้ง อยู่ที่ขั้นตอนการบีบ
ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 10 นาที ไม่เช่นนั้นเนื้อลูกชิ้นจะแข็งและไม่อร่อย
หลังจากเรียนรู้ ลองผิดลองถูกได้สักพัก
คุณบดินทร์ก็ตัดสินใจนำเงินทุนที่มีติดตัวอยู่ 10,000 บาท มาซื้อเครื่องทำลูกชิ้นและรถเข็นเล็ก ๆ สำหรับทำร้านก๋วยเตี๋ยว
โดยจุดเด่นของร้านในช่วงแรก จะเน้นที่เนื้อและลูกชิ้น มากกว่าเส้น
พอลูกค้าได้ลอง ก็ติดใจ เริ่มบอกปากต่อปาก รวมถึงมีคนติดต่อขอซื้อธุรกิจไปทำต่อ จนขยายร้านได้ 10 สาขาด้วยกัน
เมื่อลูกชิ้นได้รับความนิยมมากขึ้น กิจการก็ขยายตัวมากขึ้น ทำให้คุณบดินทร์ ตัดสินใจเปิดโรงงานผลิตลูกชิ้นในย่านลาดพร้าว และซื้อเครื่องจักรจากประเทศเยอรมนี ด้วยราคา 2,800,000 บาท
แต่ราคาที่สูง ก็ไม่ได้หมายความว่า เครื่องจักรจะใช้งานได้ดี
เพราะสเปกของเครื่องจักร ผลิตไส้กรอกได้อย่างเดียว บวกกับในช่วงนั้น ยังไม่มีใครทำเครื่องผลิตลูกชิ้นออกมาขาย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น
ดังนั้นพอซื้อเครื่องจักรมาแล้ว คุณบดินทร์จึงต้องไปจ้างช่างมาช่วยดัดแปลงเครื่องจักรผลิตไส้กรอก จากประเทศเยอรมนี ให้ออกมาเป็น เครื่องจักรผลิตลูกชิ้นของไทยจนสำเร็จ
พอได้เครื่องจักรที่ตรงตามสเปก และกำลังการผลิตตามต้องการแล้ว จึงได้ตั้งชื่อให้กับแบรนด์ลูกชิ้นของตัวเองว่า ลูกชิ้นหมูนายฮั้งเพ้ง และลูกชิ้นเนื้อวัวแชมป์
ซึ่งต่อมาพัฒนาจนกลายเป็นแฟรนไชส์ ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นแชมป์-นายฮั้งเพ้ง และสืบทอดโดยรุ่นลูก จนถึงปัจจุบัน และขยายแฟรนไชส์ได้มากกว่า 3,000 สาขา
สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากกรณีศึกษานี้ คือ การเริ่มต้นธุรกิจ ทุกคนต้องเจอปัญหา
ซึ่งปัญหาก็เปรียบเสมือนความท้าทาย ที่สอนเราให้เติบโตขึ้น
อย่างแบรนด์ลูกชิ้นแชมป์-นายฮั้งเพ้ง ที่ต้องเหนื่อยในช่วงเริ่มต้น จากการสร้างรากฐานให้แข็งแรง ทั้งในเรื่องการควบคุมวัตถุดิบ คุณภาพ การจัดส่งสินค้า การหาทำเล ฯลฯ
หลังจากนั้น เมื่อแบรนด์แข็งแกร่งและติดตลาดแล้ว โจทย์เรื่องการขยายสาขา ก็จะเป็นปัญหาที่ต้องแก้ต่อไป
บางคนอาจมองว่า การเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ คือ “เสือนอนกิน”
ซึ่งหมายถึง คนที่ได้รับผลประโยชน์หรือกำไร โดยที่ไม่ต้องลงทุนหรือลงแรงใด ๆ
แต่ความจริงแล้ว อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
เพราะการบริหารจัดการแฟรนไชส์ ต้องพร้อมรองรับการเติบโตในอนาคต และการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
รวมถึงความท้าทายอีกอย่างของธุรกิจแฟรนไชส์ ที่ต้องควบคุมคุณภาพและภาพลักษณ์ของแบรนด์ ให้เทียบเท่ากันทั้งหมดทุกสาขา โดยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ซึ่งจุดนี้ ก็เป็นความท้าทายที่สุด ของเจ้าของแฟรนไชส์ ที่จะทำอย่างไร ให้ขยายสาขาได้มากที่สุด ในขณะที่คุณภาพและภาพลักษณ์ ยังคงดีสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.