Lobo ผงปรุงรสสำเร็จรูป ที่เกิดจากความคิดถึง

Lobo ผงปรุงรสสำเร็จรูป ที่เกิดจากความคิดถึง

4 พ.ค. 2021
ใครจะไปคิดว่า “ความคิดถึง” ก็สร้างเป็นธุรกิจได้เหมือนกัน
เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงแล้วกับ ธุรกิจผงปรุงรสสำเร็จรูป ที่ชื่อว่า “Lobo”
รู้หรือไม่ว่า ธุรกิจที่ดูไม่ได้มีความโรแมนติกแม้แต่น้อยนี้
เกิดขึ้นมาจากหนุ่มนักเรียนนอก ที่ได้ลิ้มรสว่า ความคิดถึง (อาหารไทย) มันทรมานแค่ไหน
เลยตั้งใจว่า เรียนจบกลับมาเมื่อไร จะกลับมาสร้างธุรกิจที่ช่วยคลายความคิดถึง ให้คนไทยยามต้องไกลบ้าน
เลยกลายเป็นที่มาของผงปรุงรสสำเร็จรูป ที่ช่วยให้ไม่ว่าใคร ก็สามารถรังสรรค์สารพัดเมนูได้อร่อย ราวกับร่ายมนตร์
แล้วธุรกิจที่ตั้งต้นจากความคิดถึง สร้างผลตอบแทน ได้มากขนาดไหน ?
ลองดูผลประกอบการของ Lobo ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท โกลโบ ฟู้ดส์ จำกัด
ที่ทำธุรกิจผงปรุงรสสำเร็จรูปเหมือนกัน แต่ลูกค้าของโกลโบ ฟู้ดส์ คือ บรรดาธุรกิจอาหารรายใหญ่ อย่าง ร้านฟาสต์ฟูด โรงงานแปรรูปอาหารทะเลและสัตว์ปีก ไปจนถึงโรงงานขนมขบเคี้ยว
คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 55% ของบริษัท
ส่วน Lobo เป็นแบรนด์ลูกที่แตกออกมา ลูกค้าหลัก คือ ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ที่มองหาสินค้าที่เข้ามาตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบาย
ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้อยู่ที่ประมาณ 45% ของบริษัท
บริษัท โกลโบ ฟู้ดส์ จำกัด
ปี 2560 มีรายได้ 1,542 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 1,560 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 1,670 ล้านบาท
หมายความว่า ในปี 2562
แบรนด์ Lobo จะมีรายได้ประมาณ 752 ล้านบาท
หลายคนอาจสงสัยว่า Lobo น่าสนใจอย่างไร
ทำไมผงปรุงรสสำเร็จรูปราคาหลักสิบ ถึงสามารถทำรายได้ปีละหลายร้อยล้านบาท ทั้งที่มีแบรนด์คู่แข่งไม่น้อย
1. ทำธุรกิจโดยตั้งต้นจาก Pain Point
หนึ่งในสูตรสำเร็จของการทำธุรกิจตลอดกาล คือ การตามหาปัญหาของลูกค้าให้เจอ แล้วพัฒนาสินค้าที่สามารถสลายปัญหานั้น
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า Lobo ตั้งต้นจากความมุ่งมั่นที่จะสลายอาการคิดถึงอาหารไทย
ซึ่งคุณอาคม พลานุเวช ผู้ก่อตั้ง Lobo ค้นพบ Pain Point นี้ด้วยตัวเอง
จากการไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐฯ เลยคิดว่า น่าจะมีหลายคนไปเรียนต่างประเทศแล้วรู้สึกแบบเดียวกัน
พอกลับมาเมืองไทย ด้วยความที่ครอบครัวทำธุรกิจจำหน่ายผงปรุงรสสำเร็จรูปอยู่แล้ว ในชื่อบริษัท โกลโบ ฟู้ดส์ จำกัด
คุณอาคมเลยมาสร้างแบรนด์ลูกที่ชื่อว่า Lobo หรือ โลโบ ในปี 2520
ซึ่งเหตุผลที่ตั้งชื่อว่า โลโบ เป็นไปได้ว่า มาจากการตัดตัวอักษร ก.ไก่ จากชื่อบริษัท “โกลโบ”
เลยกลายเป็น “โลโบ”
จุดเด่นของ Lobo ในเวลานั้น คือ เน้นตีตลาด Mass เพื่อเข้าถึงทุกครัวเรือน
ซึ่งถ้ามาดูมูลค่าตลาดซอสและเครื่องปรุงรส จะพบว่า มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2562 ตลาดซอสและเครื่องปรุงรส มีมูลค่าสูงถึง 45,770 ล้านบาท
และหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตจนน่าจับตามอง คือ กลุ่มผงปรุงรสสำเร็จรูป
ซึ่งสามารถตอบโจทย์ครอบครัวยุคใหม่ ที่มีวิถีชีวิตเร่งรีบ จึงมองหาตัวช่วยอำนวยความสะดวก​
2. พัฒนาสินค้าให้พร้อมตอบ “ทุก” โจทย์ที่ลูกค้ามองหา
อีกหนึ่งจุดเด่นของ Lobo คือ มีผลิตภัณฑ์ที่แทบจะครอบคลุมทุกเมนู ทั้งคาวและหวานที่ลูกค้ามองหา
ตั้งแต่เมนูสามัญประจำบ้าน อย่าง​ผงปรุงข้าวผัด ผัดไทย ผงพะโล้
ไปจนถึงเมนูปราบเซียน อย่างสารพัดแกง
รวมไปถึงผงปรุงอาหารสไตล์ตะวันออกและตะวันตก อย่างเครื่องปรุงอาหารเกาหลี เช่น ผงทำกิมจิ โคชูจัง (ซอสพริกเกาหลี) น้ำซุปบักกุ๊ดเต๋ ผงทำน้ำเกรวี
หรือต่อให้เป็นสายหวาน Lobo ก็มีผงวุ้นกลิ่นต่าง ๆ อย่างเต้าฮวย สังขยา แม้แต่น้ำปลาหวานก็ยังมีขาย
3. เจาะกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย
ถ้าถามว่า ใครคือลูกค้าของ Lobo
หลายคนอาจคิดว่า มีแค่กลุ่มคนไทยที่จะไปเรียนต่อหรือทำงานต่างประเทศ กลุ่มพ่อบ้าน-แม่บ้านที่มองหาตัวช่วยในการทำอาหาร และกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้า
แต่จริง ๆ แล้ว นักท่องเที่ยว ก็เป็นอีกกลุ่มลูกค้าคนสำคัญ
รู้หรือไม่ว่า Lobo เป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยมในช็อปปิงลิสต์ของนักท่องเที่ยว ที่จะต้องซื้อกลับบ้าน โดยเฉพาะ “เครื่องต้มยำ” ที่มักอยู่ในท็อปลิสต์
ทำให้นอกจากช่องทางการขายหลัก ๆ ที่คนไทยคุ้นเคย อย่างซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ
เรายังเห็น Lobo วางขายในร้านขายของฝาก ที่กระจายอยู่ในเมืองท่องเที่ยวด้วย​
มาถึงตรงนี้ คงพอเห็นภาพแล้วว่า ทำไม Lobo ถึงกลายเป็นแบรนด์เครื่องปรุงรสที่เข้าไปนั่งอยู่ในใจลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และมียอดขายเติบโตต่อเนื่องทุกปี
แม้ว่าช่วงหลัง ๆ จะไม่ได้อัดงบโฆษณาหนัก แต่ลูกค้าก็ยังนึกถึง
โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด 19
Lobo ก็น่าจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้อานิสงส์ จากการที่คนเลี่ยงออกไปกินอาหารนอกบ้าน​
นั่นหมายความว่า ถ้าอยากกินของอร่อย แต่ไม่อยากเสียเวลาไปเดินจ่ายตลาด หาซื้อวัตถุดิบทีละอย่าง
หรือไม่ได้มีฝีมือในการทำอาหารมากนัก
ก็คงไม่มีอะไรตอบโจทย์ไปกว่า การซื้อผงปรุงรสสำเร็จรูป ที่แค่ฉีกซอง แล้วปรุงตามขั้นตอนก็อร่อยแล้ว
ซึ่งช่วงนี้ ใครหลายคนที่กักตัว
ถ้าเริ่มเบื่ออาหารจากดิลิเวอรีแล้ว อาจลองเปลี่ยนบรรยากาศ มารังสรรค์เมนูอาหารด้วยตัวเอง
โดยมีผู้ช่วยเชฟอย่าง “Lobo” แสดงฝีมือให้เห็นว่า การทำอาหาร ก็อาจไม่ใช่เรื่องยาก อย่างที่คิด..
อ้างอิง:
-https://www.lobo.co.th/th/home
-https://www2.globofoods.com/home
-http://fic.nfi.or.th/FoodMarketShareInThailandDetail.php…
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.