CARNIVAL ร้านขายสนีกเกอร์ ที่เกิดจากความหลงใหล

CARNIVAL ร้านขายสนีกเกอร์ ที่เกิดจากความหลงใหล

5 พ.ค. 2021
“ความหายาก” และ “ความแตกต่าง”
2 สิ่งนี้ คือ องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้แบรนด์ดูมีคุณค่า มากกว่าคู่แข่ง ในสายตาของผู้บริโภค
CARNIVAL ร้านมัลติแบรนด์สัญชาติไทย ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายสนีกเกอร์, เครื่องแต่งกายแนวสตรีต, แฟชั่นไฮสตรีต, กระเป๋า, ชุดกีฬา และอื่น ๆ
ภายใต้แบรนด์ระดับโลกมากมาย อาทิ Adidas, Asics, Champion, Converse, Guess, New Balance, Nike, Vans ฯลฯ
โดย CARNIVAL ก็เป็นหนึ่งในร้านที่ชูเรื่อง “ความหายาก” และ “ความแตกต่าง” มาเป็นจุดเด่นในการทำธุรกิจ
และทำให้ร้าน กลายเป็นเหมือนสวรรค์ สำหรับชาวสนีกเกอร์และสตรีตแวร์
เพราะที่ CARNIVAL นอกจากจะมีสินค้าหลากหลาย ให้เลือกชมและซื้อแล้ว
ร้านนี้ ยังได้รับสิทธิพิเศษแบบเอกซ์คลูซิฟจากแบรนด์ต่าง ๆ ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้ารุ่นลิมิเต็ด หรือรุ่นหายากหลายรุ่น ให้ลูกค้าอย่างเรา ๆ สามารถจับจองเป็นเจ้าของกันได้
ที่สำคัญสินค้าบางรุ่น จะมีเพียง CARNIVAL ผู้เดียวเท่านั้น ที่ได้รับสิทธิ์นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย..
มาดูกันว่าบริษัทนี้มีรายได้เท่าไรในช่วงที่ผ่านมา
บริษัท คาร์นิวาล ซัพพลาย จำกัด
ปี 2560 มีรายได้ 167 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 277 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 309 ล้านบาท
ด้วยความพิเศษ ในเรื่องความหายากของสินค้า ที่หากอยากได้สินค้ารุ่นลิมิเต็ด มาครอบครองแล้ว
ก็ต้องนึกถึงร้าน CARNIVAL เป็นรายแรก ๆ
และเทรนด์การแต่งตัวแนวสตรีต ที่กลายเป็นกระแสหลักในบ้านเรา
ทำให้รายได้ของ CARNIVAL เติบโตขึ้นทุกปี จนสามารถแตะระดับ 300 ล้านบาท
ซึ่งปัจจุบัน CARNIVAL มีทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่ สาขาสยามสแควร์, เซ็นทรัล ลาดพร้าว, เซ็นทรัลเวิลด์, เมกาบางนา, สยามพารากอน และเซ็นทรัล วิลเลจ
หรือก็คือ เฉลี่ยแล้ว CARNIVAL หนึ่งสาขา จะสามารถสร้างยอดขายได้ประมาณ 4.3 ล้านบาทต่อเดือน เลยทีเดียว
(หมายเหตุ ยอดขายเฉลี่ยต่อสาขา ยังไม่คำนึงถึงยอดขายจากช่องทางออนไลน์)
แต่รู้ไหมว่า กว่าจะเป็น CARNIVAL ร้านมัลติแบรนด์สัญชาติไทย ที่ประสบความสำเร็จ และได้รับความไว้วางใจ จากแบรนด์ระดับโลก ในวันนี้
CARNIVAL เกิดจากร้านขายรองเท้าเล็ก ๆ ที่ปลุกปั้นโดย เพื่อนสนิท 3 คน
คือ คุณอนุพงศ์ คุตติกุล, คุณดนัย เตชะสมภพ และคุณภัทร์ สุภาโอษฐ์
ซึ่งสมัยอยู่ที่อังกฤษ นอกจากจะเรียนด้วยกันแล้ว ทั้ง 3 คนยังมีความคลั่งไคล้ และชอบสะสมรองเท้าเหมือนกัน
หลังจากเรียนจบ กลับมาเมืองไทย แล้วเริ่มทำงานไปได้สักพัก
พวกเขารู้สึกว่า เมืองไทยยังไม่มีร้านรองเท้าที่ตอบโจทย์พวกเขา เหมือนสมัยอยู่อังกฤษ ที่มีรองเท้าให้เลือกหลากหลาย โดยเฉพาะรุ่นแปลก ๆ ใหม่ ๆ
จากจุดนั้นเอง ทำให้พวกเขาคิดว่าอยากจะนำความหลงใหลในรองเท้าที่มี มาสร้างเป็นเชื้อเพลิงทางธุรกิจ
ด้วยการเปิดร้านขายรองเท้า ที่ไม่เหมือนใครซะเลย
พวกเขาตั้งต้นจากเงินลงทุนประมาณ 500,000 บาท เปิดร้านขนาดเล็ก ๆ เพียง 9 ตารางเมตร ที่สยามสแควร์ ในชื่อร้านว่า “Converse Carnival” ในปี ค.ศ. 2010
ช่วงแรกที่เปิดร้าน จะเน้นขายรองเท้า ที่เป็นรุ่นลิมิเต็ดของแบรนด์ Converse อย่างเดียว
เช่น Converse John Varvatos, Converse Jackass และรุ่นหายากอื่น ๆ
ซึ่งวิธีนำสินค้ามาขายนั้น จะใช้การไปสรรหาจากทั่วโลก แล้วหิ้วมาขายเอง
กระทั่งร้านเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น จึงติดต่อซื้อสินค้ากับตัวแทนจำหน่ายเองโดยตรง
โดยเหตุผลที่เริ่มจากแบรนด์ Converse ก่อน เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ผู้ร่วมก่อตั้ง ชื่นชอบกันมาตั้งแต่วัยรุ่น และสะสมกันอยู่แล้ว
ด้วยคอนเซปต์ธุรกิจที่มาถูกทาง ทำให้กิจการร้านรองเท้าของพวกเขา ไปได้ดีกว่าที่คิด เพราะมีลูกค้าช่วยโฆษณา จนเกิดกระแสปากต่อปาก ในหมู่คนที่ชื่นชอบ Converse ด้วยกันว่า ร้านนี้มีแต่สินค้าแรร์ไอเทม
พวกเขาจึงตัดสินใจขยับขยายกิจการ เปิดสาขา 2 ในปี ค.ศ. 2011
พร้อมกับเพิ่มแบรนด์สินค้าใหม่ ที่จะนำมาวางขายภายในร้าน
เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ มาเป็นร้านมัลติแบรนด์ และเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “CARNIVAL”
ซึ่งเริ่มจาก Vans ต่อมาก็เป็น New Balance
หลังจากนั้นก็ได้ Nike, Adidas และแบรนด์อื่น ๆ เข้ามาเสริมพอร์ตสินค้า
รวมไปถึง มีการสร้างแบรนด์เสื้อผ้า “CARNIVAL” เป็นของตัวเองอีกด้วย
ในส่วนของการตลาด ด้วยความที่มีเงินทุนไม่สูง
บวกกับกลุ่มลูกค้าจำนวนไม่น้อย เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ และวัยรุ่น
CARNIVAL จึงเลือกใช้โซเชียลมีเดีย และทำการตลาดออนไลน์เป็นหลัก
ซึ่งก็ได้ผลตอบรับอย่างล้นหลาม เพราะเพียง 6 เดือนแรก
เพจ CARNIVAL บน Facebook ก็มีเหล่าสาวกสนีกเกอร์ มากดถูกใจถึง 100,000 คน
ซึ่งปัจจุบัน เพจมียอดกดถูกใจ มากกว่า 963,000 คนแล้ว..
ทั้งนี้ ในปี ค.ศ. 2014
CARNIVAL ได้จับมือกับ Nike เพื่อเปิดร้าน Upperground by CARNIVAL ที่เซ็นทรัลเวิลด์
โดยร้าน Upperground เป็นคอนเซปต์สโตร์แห่งใหม่ของ CARNIVAL ที่รวมสินค้าไลน์พิเศษจาก Nike Sportswear มากที่สุด แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งครึ่งหนึ่งของร้าน Upperground จะเป็น Nike Sportswear ส่วนที่เหลือจะเป็นแบรนด์อื่น ๆ กว่า 20 แบรนด์
จุดเด่นของร้าน CARNIVAL ทุกสาขาคือ
นอกจากจะเป็นร้าน ที่วางตำแหน่งการตลาด ให้เป็นร้านที่ชูสินค้ารุ่นลิมิเต็ด เจาะกลุ่มคนรักรองเท้าและนักสะสมแล้ว
CARNIVAL ยังต้องการนำเสนอแบรนด์ใหม่ ๆ และประสบการณ์การช็อปปิงใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า
เพื่อให้เกิดความแตกต่าง และความประทับใจ
อย่างเรื่องประสบการณ์ ทางร้านให้ความสำคัญ ตั้งแต่ตอนลูกค้าเดินเข้ามาสัมผัสบรรยากาศในร้าน สินค้า พนักงาน การบริการ ไปจนถึงถุงใส่ของ และรูปทุกรูปที่โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย
เพื่อให้ลูกค้าสัมผัสได้ว่า CARNIVAL คือคนที่บ้ารองเท้า ตามแฟชั่น และสนุกกับสิ่งที่กำลังทำ
อีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจของ CARNIVAL คือการ Collaboration
หรือการไปจับมือกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อสร้างสรรค์สินค้า หรือการตลาดใหม่ ๆ มาให้ลูกค้าได้ตื่นตาตื่นใจกันอยู่เสมอ อาทิ
- CARNIVAL x Disney เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปี ของแบรนด์ CARNIVAL
โดยออกคอลเลกชันเสื้อยืดลาย “มิกกี้ เมาส์”
- CARNIVAL x ASICS
ขายรองเท้ารุ่นลิมิเต็ด “GEL-KAYANO 5 360 BETTA SPLENDENS” ที่ได้แรงบันดาลใจจากปลากัดไทย
- CARNIVAL x Dell
เปิดตัว “Alienware M15 R2 CARNIVAL Edition” โน้ตบุ๊กเกมมิงสกรีนโลโก CARNIVAL
- CARNIVAL x KFC
นำเอกลักษณ์ของร้านไก่ทอดระดับโลก มาสร้างสรรค์บนเสื้อผ้าสไตล์สตรีตแวร์ ทั้ง Hoodie, LS T-shirt, Tee, Bucket Hat และ Tote Bag
- CARNIVAL X NANGLOY เปิดตัว น้ำอบนางลอย ตรา คาร์นิวาล
แม้เส้นทางความสำเร็จของ CARNIVAL เมื่อ 11 ปีที่แล้ว จะมีจุดเริ่มต้นมาจาก “ความหลงใหล” ในรองเท้า ของผู้ร่วมก่อตั้งร้าน
แต่ส่วนผสมอีกอย่าง ที่ทำให้ CARNIVAL มาถึงเส้นชัย ได้ในวันนี้ คือ “ความพยายาม”
คุณอนุพงศ์ คุตติกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง CARNIVAL เคยเปิดเผยว่า
การเป็นคนที่รักรองเท้า แล้วมาเปิดร้านรองเท้านั้น ย่อมได้เปรียบคนอื่น
เพราะเวลารักอะไร เราจะทำสิ่งนั้นได้ดีกว่า คนที่ไม่ได้รักมัน
แต่อย่าลืมว่าในโลกของธุรกิจ ความรักอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ
ความรัก เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการทำธุรกิจเท่านั้น
ซึ่งยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย ที่เราต้องศึกษาค้นคว้า และทุ่มเทพยายาม
ทั้งเรื่องการตลาด เรื่องเงินทุน วิธีการทำธุรกิจ การเจรจา การบริการ ฯลฯ
เราต้องศึกษา เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ และเติบโตต่อไป
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.