รู้จัก เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่ม เซ็ปเป้, โมกุ โมกุ และเพรียว

รู้จัก เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่ม เซ็ปเป้, โมกุ โมกุ และเพรียว

9 พ.ค. 2021
เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้หญิง “เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์” ที่ช่วยเรื่องผิวพรรณและการขับถ่าย
น้ำผักและผลไม้ 100% “เซ็ปเป้ ฟอร์ วัน เดย์”
น้ำผลไม้ผสมวุ้นมะพร้าว “โมกุ โมกุ”
เครื่องดื่มผสมวิตามิน “บลู”
กาแฟควบคุมน้ำหนัก “เพรียว”
น้ำมันมะพร้าวหอม “ออล โคโค”
ตัวอย่างแบรนด์เหล่านี้ ที่หลายคนรู้จัก ต่างมีเจ้าของเดียวกัน คือ บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน)
ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น ด้วยมูลค่าบริษัทกว่า 8,100 ล้านบาท
เซ็ปเป้ ก่อตั้งขึ้นมาโดยคุณอดิศักดิ์ รักอริยะพงศ์
เดิมที คุณอดิศักดิ์ เกิดในครอบครัวที่ผลิตขนมครองแครง ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ปิยจิต” ขายตามสถานีรถไฟและสถานีขนส่ง ซึ่งเริ่มธุรกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516
เส้นทางชีวิตของคุณอดิศักดิ์ หลังจากเรียนจบ ป.ตรี ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ก็ไม่ได้สานต่อธุรกิจของครอบครัวทันที แต่เขาออกมาขายข้าวโพดคั่ว ถุงละ 10 บาท ตามท้องถนน
ซึ่งช่วงแรก ๆ ขายดีมาก แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง ยอดขายก็ซาลงไปทันที เลยต้องหยุดทำอาชีพนั้นไป
ต่อมาเขาจึงไปทำงานกับบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งทำได้ประมาณเกือบปี แล้วก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น
การไปเรียนต่างประเทศนี้ คุณอดิศักดิ์เอาเงินเก็บของตัวเอง จากการขายข้าวโพดคั่ว
กับทํางานพาร์ตไทม์ที่ญี่ปุ่น ควบคู่ไปด้วย เพื่อส่งเสียตัวเองเรียน
โดยไม่ขอเงินสนับสนุนจากพ่อแม่เลย แม้ครอบครัวของเขาจะค่อนข้างมีฐานะ
เพราะคุณอดิศักดิ์ มองว่า การหาเงินด้วยตัวเอง เท่กว่า
ช่วงที่อยู่ญี่ปุ่น คุณอดิศักดิ์ได้ทำงานแรกคือ เรียงแฮม ในร้านอาหาร จากนั้นก็ทำอยู่หลายอาชีพ เช่น เก็บขยะ, ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในผับ-บาร์
ซึ่งตอนที่ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟ เขาเคยกินอาหารเหลือ ที่ลูกค้าทานไม่หมดเป็นประจำ
และก็เคยหยิบอาหารจากถังขยะมากิน เพราะมีเด็กเสิร์ฟคนหนึ่ง เอาอาหารเหลือไปทิ้งถังขยะ ซึ่งคุณอดิศักดิ์รู้สึกเสียดาย เลยหยิบมากิน
การยอมทนใช้ชีวิตที่ลำบากในญี่ปุ่นนั้น ทำให้คุณอดิศักดิ์ ได้ซึมซับความเป็นนักสู้ของคนญี่ปุ่นมาด้วย
หลังจากเรียนจบ ป.โท ด้านบริหาร ที่ Nagoya University
คุณอดิศักดิ์ได้ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งทางบริษัทก็ได้ส่งเขาให้มาดูแลสาขาในเมืองไทย
แต่เหตุการณ์พลิกผัน ที่ทำให้คุณอดิศักดิ์ตัดสินใจกลับมาช่วยกิจการครอบครัว
คือวันหนึ่ง คุณแม่ของเขา ได้ขอให้เขาไปเข้าร่วมงานนิทรรศการโชว์สินค้า ที่ประเทศกัมพูชา
โดยเอาสินค้าของครอบครัวอย่าง ครองแครงกรอบ ไปร่วมโชว์ด้วย
ตอนแรกคุณอดิศักดิ์ คิดว่าสินค้าของเขาน่าจะขายได้ เพราะมีแพ็กเกจจิงพื้น ๆ ที่เหมาะกับตลาดกำลังซื้อต่ำ
แต่พอไปงานจริง ๆ ก็พบว่า สินค้าของคนอื่นที่เอาไปโชว์ภายในงาน มีแต่สินค้าดูดี แพ็กเกจจิงสวย ๆ ด้วยกันทั้งนั้น
เรื่องนี้เลยทำให้เขาเข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นคนมีฐานะ หรือผู้ที่มีรายได้น้อย ทุกคนต่างต้องการสินค้าที่ดูดี
ไม่จำเป็นที่คนมีรายได้น้อย ต้องการซื้อสินค้าที่แพ็กเกจจิงบ้าน ๆ
คุณอดิศักดิ์จึงตัดสินใจว่า ต้องกลับมาทำอะไรสักอย่าง กับธุรกิจที่บ้านบ้างแล้ว
ซึ่งพอกลับมา คุณพ่อของเขาก็มีความคิดที่อยากแตกไลน์สินค้า ทำเครื่องดื่มขายอยู่พอดี
บวกกับคุณอดิศักดิ์มองว่า ตอนนั้นในเมืองไทย ยังมีเครื่องดื่มไม่หลากหลายเหมือนที่ญี่ปุ่น
แต่คุณอดิศักดิ์รู้ดีว่า ถ้าจะทำเครื่องดื่มหรือน้ำผลไม้ธรรมดาขาย ก็คงสู้แบรนด์ใหญ่ ๆ ไม่ได้
หากอยากรอดในธุรกิจนี้ ต้องทำอะไรให้แตกต่าง และมีนวัตกรรม
ซึ่งเขาเคยเข้าร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับวุ้นมะพร้าว เลยลองเอาไอเดียนี้ มาประยุกต์ใช้กับน้ำผลไม้ดู
ปรากฏว่า ได้ออกมาเป็นสูตรที่อร่อย และกำเนิดเป็นแบรนด์น้ำผลไม้ผสมวุ้นมะพร้าว “โมกุ โมกุ” ในปี พ.ศ. 2544
หลังจากนั้นบริษัทก็มีการสร้างสรรค์ เปิดตัวสินค้าใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์ ในปี พ.ศ. 2547
โดยจุดเริ่มต้นของ เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์ มาจากตอนนั้นคุณอดิศักดิ์คิดเล่น ๆ ว่า ถ้ามีสินค้าอะไร ที่ดื่มแล้วผอม ดื่มแล้วสวยได้ มันน่าจะขายได้
อย่างที่ญี่ปุ่นเอง ก็มีการนำคอลลาเจนมาผสม เพื่อเป็นตัวช่วยในเรื่องของผิวพรรณ
หรือไฟเบอร์, แอลคาร์นิทีน มาเป็นตัวช่วยเรื่องการเผาผลาญไขมัน และระบบขับถ่าย
เลยเอาคอนเซปต์เหล่านี้ มาลองทำเป็นสินค้า ซึ่งก็พัฒนาอยู่นาน กว่าจะได้สูตรที่เหมาะสมกับร่างกายคน
ช่วงแรก ๆ ที่ เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์ วางขายใน 7-Eleven ปรากฏว่าขายไม่ดี เพราะเป็นสินค้าแปลกใหม่ ไม่มีใครรู้จัก
จึงต้องให้ความรู้แก่ผู้บริโภค ว่าสินค้าคืออะไร มีประโยชน์อะไร
แต่คุณอดิศักดิ์ ไม่มีเงินไปโฆษณา
จึงต้องทำการตลาดแบบคิดนอกกรอบ ซึ่งก็คือ “ขวดพูดได้” ด้วยการเอาป้ายที่บอกสรรพคุณของสินค้า มาแขวนที่คอขวด เพื่อเป็นการโฆษณาสินค้าไปในตัว โดยไม่ต้องเสียค่าโฆษณาออกสื่อ
ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร สินค้าเริ่มมีคนให้ความสนใจ และขายออกมากขึ้น
ปัจจุบัน บริษัท เซ็ปเป้ มีแบรนด์ภายใต้หลากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ อาทิ
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม
เช่น เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์, เซ็ปเป้ บิวติ ชอท, เซนต์ แอนนา, บลู (B'lue) เครื่องดื่มน้ำผสมวิตามิน
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มน้ำผลไม้
เช่น เซ็ปเป้ อโล เวร่า น้ำผลไม้ใส่ว่านหางจระเข้, เซ็ปเป้ ฟอร์ วัน เดย์ น้ำผักและผลไม้เข้มข้น 100%, โมกุ โมกุ, กุมิ กุมิ by โมกุ โมกุ, ออล โคโค น้ำมะพร้าวน้ำหอม
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทผงพร้อมชง เพื่อสุขภาพและความสวยงาม
เช่น เพรียว คอฟฟี่ และสลิมฟิต คอฟฟี่ กาแฟควบคุมน้ำหนักเพื่อสุขภาพ, เพรียว คลอโรฟิลล์ คลอโรฟิลล์แบบผง
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทขนมเพื่อสุขภาพ
เช่น เซ็ปเป้ บิวติ เจลลี่, ซีแม็กซ์ (ZEAMax) ขนมปลาย่างอบกรอบ, ชิมดิ (Chimdii) ขนมคางกุ้ง, เพรียว พุดดิ้ง
เห็นวางขายสินค้าหลากหลายขนาดนี้ แล้วบริษัทมีรายได้มากขนาดไหน ?
บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน)
ปี 2561 มีรายได้ 2,878 ล้านบาท กำไร 352 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 3,369 ล้านบาท กำไร 403 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 3,324 ล้านบาท กำไร 380 ล้านบาท
ปีล่าสุด มีสัดส่วนรายได้ 45% มาจากในประเทศ
และ 55% มาจากต่างประเทศ ซึ่งมีการส่งออกไปกว่า 94 ประเทศทั่วโลก
ทั้งในทวีปเอเชีย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ตะวันออกกลาง, ยุโรป, แอฟริกา, อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้
จะเห็นว่าปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด 19
แต่ที่ไม่ได้รับผลกระทบหนักเหมือนธุรกิจอื่น ๆ เป็นเพราะว่า กระแสรักสุขภาพ และตลาดเครื่องดื่ม Functional Drink ภายในประเทศที่กำลังเติบโต
ทำให้สินค้ากลุ่ม เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์ และบลู (B'lue) ของบริษัท มีการเติบโตตามไปด้วย และช่วยพยุงยอดขายโดยรวมของบริษัท
ปัจจุบัน บริษัท เซ็ปเป้ มีเจ้าของคือ ตระกูลรักอริยะพงศ์ ซึ่งมีการถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 68.5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
ส่วนคุณอดิศักดิ์ รักอริยะพงศ์ ถือหุ้นในสัดส่วน 17.2% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
สรุปแล้ว จากธุรกิจขนมครองแครง ที่หลายคนไม่รู้จัก
สู่อาณาจักรธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่มีคนรู้จักไปทั่วประเทศ รวมถึงต่างประเทศ
เส้นทางทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้จาก “การคิดต่าง” และ “คิดนอกกรอบ”
ซึ่งกลายเป็นดีเอ็นเอ ของบริษัท เซ็ปเป้ เวลาจะทำสินค้า หรือการตลาด อะไรออกมาสักอย่าง นั่นเอง
อ้างอิง :
-ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
-แบบฟอร์ม 56-1
-https://www.sappe.com/
-https://www.youtube.com/watch?v=-FvuIqDd6c4&t=686s
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.