CJ Express ร้านสะดวกซื้อสัญชาติไทย ที่มีรายได้เกินหมื่นล้าน

CJ Express ร้านสะดวกซื้อสัญชาติไทย ที่มีรายได้เกินหมื่นล้าน

10 พ.ค. 2021
เชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ในบ้านเรา ส่วนใหญ่มักเป็นแบรนด์ที่มาจากต่างประเทศ
ที่บริษัทไทยไปขอซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์มาเปิด หรือซื้อหุ้นต่อมาอีกทอดหนึ่ง
แต่ในสมรภูมิร้านสะดวกซื้อนี้ มีผู้เล่นอยู่รายหนึ่ง ที่น่าจับตามอง
ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากในประเทศไทย และมีเจ้าของเป็นคนไทย
นั่นคือ “CJ Express”
CJ Express ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยคุณวิทย์ ศศลักษณานนท์
ภายใต้บริษัท พี เอส ดี รักษ์ไทย จำกัด
ซึ่งเปิดให้บริการสาขาแรกในจังหวัดราชบุรี ในลักษณะร้านค้าส่งขนาด 2 คูหา
ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น ร้านกึ่งสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เน้นขายสินค้าอุปโภคบริโภค ในราคาประหยัด
ด้วยกลยุทธ์ด้านราคา ซึ่งพยายามทำให้สินค้าภายในร้าน ขายในราคาที่ถูกกว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไป
บวกกับการจัดโปรโมชันลดราคาอยู่บ่อย ๆ
รวมถึงภายในร้าน ยังมีการวางขายสินค้าแบรนด์เล็ก ๆ ซึ่งเป็นสินค้าที่หาซื้อไม่ได้ตามร้านสะดวกซื้ออื่น ๆ
ทำให้กิจการของ CJ Express ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี จากคนในพื้นที่
พร้อมกับได้ขยายสาขา ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
พอดำเนินกิจการมาได้ 8 ปี หรือปี พ.ศ. 2556
CJ Express ก็เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่..
เมื่อคุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง, ประธานกรรมการ และหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของคาราบาวกรุ๊ป เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่ม “คาราบาวแดง”
พร้อมด้วยพันธมิตร ได้เข้ามาซื้อหุ้นส่วนใหญ่ มากกว่า 80% ของบริษัท พี เอส ดี รักษ์ไทย จำกัด
และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด
ซึ่งในตอนนั้น CJ Express มีอยู่ประมาณ​ 200 สาขา
หรือก็คือ CJ Express ได้ถูกเปลี่ยนมือจากเจ้าของเดิม ไปสู่คนที่เป็นเจ้าของคาราบาวกรุ๊ป
อย่างไรก็ดี แม้จะมีเจ้าของเดียวกัน แต่ทั้ง 2 บริษัทนี้ ต่างก็มีการดำเนินงาน ที่แยกออกจากกัน
หลังจากคุณเสถียร เข้ามาบริหาร CJ Express
เขารู้ดีว่า ในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง
หากอยากอยู่รอดในธุรกิจนี้ และต้องต่อกรกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าตลาดอยู่ได้นั้น
ธุรกิจก็ต้องมีการสร้างจุดเด่น หรือความแตกต่าง ขึ้นมา
ซึ่งนอกจากจุดแข็งเรื่องราคา ที่ CJ Express มีความได้เปรียบอยู่แล้ว
CJ Express ก็ได้มีการนำโมเดลการสร้างร้านค้าย่อยภายในร้านค้า เข้ามาปรับใช้
กล่าวคือ ภายในร้าน CJ Express จะมีโซนให้บริการอยู่หลายโซน เช่น โซนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค, โซนร้าน NINE Beauty จำหน่ายสินค้าความงาม และโซน Bao Café ที่เป็นร้านกาแฟ
เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและบริการ ให้กับลูกค้าที่เข้ามาภายในร้าน
ในส่วนของการขยายสาขานั้น
CJ Express จะใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ก็คือ จะเน้นขยายสาขาไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด, รอบนอกกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน ซึ่งทำเลที่ตั้งส่วนใหญ่ จะเน้นทำเลรองหรือถนนรอง
เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันจากคู่แข่งรายใหญ่
จากนั้น เมื่อแบรนด์เป็นที่รู้จักและติดตลาดแล้ว รวมถึงธุรกิจมีรากฐานที่แข็งแกร่ง ยึดพื้นที่รอบนอกได้แล้ว
ก็จะค่อย ๆ ขยายสาขามาสู่ตัวเมืองหรือใจกลางเมืองมากขึ้น เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด
ซึ่งสาขาใหม่ ๆ ของ CJ Express มักจะใช้ชื่อว่า “CJ Supermarket”
ขึ้นชื่อว่าเป็น เชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ สัญชาติไทยแท้ ๆ
แล้วธุรกิจนี้ จะสามารถสร้างรายได้ มากแค่ไหน ?
บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด
ปี 2561 มีรายได้ 11,582 ล้านบาท กำไร 262 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 13,797 ล้านบาท กำไร 358 ล้านบาท
และคุณเสถียร ได้กล่าวว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา
บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 17,000 ล้านบาท และมีกำไรราว 1,000 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับจำนวนสาขา ของร้านสะดวกซื้อชื่อดัง ในประเทศไทย
7-Eleven มีอยู่ 12,432 สาขา
FamilyMart มีอยู่ 901 สาขา
LAWSON 108 มีอยู่ 142 สาขา
ส่วน CJ Express และ CJ Supermarket มีอยู่ 600 สาขา ครอบคลุมมากถึง 29 จังหวัด
ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, กาญจนบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ชุมพร, ชัยนาท, ระยอง, สระบุรี, สิงห์บุรี, นครราชสีมา ฯลฯ
อย่างไรก็ดี คุณเสถียร ได้มองว่า คู่แข่งจริง ๆ ของ CJ Express และ CJ Supermarket
กลับไม่ใช่ 7-Eleven ก็เพราะจำนวนสาขาต่างกันมากเกินไป
และ 7-Eleven มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากสินค้ากลุ่มอาหารเป็นหลัก
ในขณะที่ CJ Express และ CJ Supermarket เน้นขายสินค้าอุปโภคบริโภค ในราคาประหยัดเป็นหลัก เหมือนกับไฮเปอร์มาร์เก็ต
ดังนั้น ถ้าว่าด้วยตำแหน่งทางการตลาด คู่แข่งโดยตรงน่าจะเป็น Mini Big C และ Lotus’s go fresh (รีแบรนด์มาจาก Tesco Lotus Express) เสียมากกว่า
ซึ่งปัจจุบัน Mini Big C มีมากกว่า 1,100 สาขา
ส่วน Lotus’s go fresh มีมากกว่า 1,600 สาขา
จะเห็นว่า ถ้าวัดกันที่จำนวนสาขา CJ Express และ CJ Supermarket จะมีสาขาน้อยกว่าพอสมควร
แต่มองอีกมุม ก็แสดงว่า ธุรกิจยังมีพื้นที่และโอกาส ในการขยายสาขาได้อีกไม่น้อย..
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา
บริษัทได้มีการเปิดตัว “CJ MORE”
Flagship Store รูปแบบใหม่ บนพื้นที่กว่า 1,200 ตารางเมตร ใจกลางย่านสีลม
เพื่อต้องการสร้างร้าน ที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น เอาไว้เป็นโมเดลในการขยายสาขาในอนาคต
โดยยึดคอนเซปต์ การเป็นมากกว่าธุรกิจค้าปลีกทั่วไป
ซึ่งจะเป็นสถานที่ ที่รวบรวมแบรนด์ร้านประเภทต่าง ๆ ของบริษัท มาไว้ในที่เดียวกัน
และแบ่งออกเป็นโซน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ครบครัน เช่น
- CJ Supermarket แบรนด์ค้าปลีกดั้งเดิมของบริษัท เน้นสินค้าด้านอุปโภคบริโภค
- NINE Beauty ร้านค้าปลีกเครื่องสำอางแบบมัลติแบรนด์
เจาะกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง
- Bao Café ร้านคาเฟ ตอบโจทย์หนุ่มสาววัยทำงานยุคใหม่
- UNO โซนสินค้าไลฟ์สไตล์สุดชิก ทั้งเครื่องเขียน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าแฟชั่น
เอาใจกลุ่มลูกค้าทั้งวัยรุ่นและวัยทำงาน
- A-Home รวมสินค้าแต่งบ้านสำหรับคนรักบ้าน มีทั้งอุปกรณ์ในห้องครัว อุปกรณ์ทำสวน อุปกรณ์ไฟฟ้า ฯลฯ
เจาะกลุ่มวัยทำงาน ที่ต้องการอุปกรณ์ภายในบ้าน แต่ไม่สะดวกไปร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างสรรพสินค้า
- CJ MORE Food Hall แหล่งรวมร้านอาหารเด็ด ร้านในตำนานระดับมิชลิน อย่าง เอลวิส สุกี้ คั่วไก่ & ซีฟู้ด
รวมถึงโซน Pop-up ร้านอาหารและร้านขนมหวานชื่อดังทั่วกรุงเทพฯ ที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนมาออกร้าน
สำหรับเส้นทางในอนาคตของ CJ Express
คุณเสถียร ตั้งเป้าว่าจะขยายสาขาให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ 30 จังหวัด
และมีแผนจะนำบริษัท เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2565
เพื่อระดมทุนรองรับการขยายสาขา และรับมือกับการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีก ที่ดุเดือดมากขึ้นทุกวัน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.