“ไม้ขีดไฟ” สินค้าที่ถูกดิสรัปต์ จะเป็นอย่างไรต่อไป

“ไม้ขีดไฟ” สินค้าที่ถูกดิสรัปต์ จะเป็นอย่างไรต่อไป

12 พ.ค. 2021
ใครจะไปคิดว่า ไม้ขีดไฟ ไอเทมที่เคยเป็นของคู่ครัวทุกบ้าน
วันนี้ จะกลายเป็นไอเทม ที่เด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก
ส่วนคนที่เคยใช้อาจจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่า หยิบมาใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อไร
แต่รู้หรือไม่ว่า ถึงจะเป็นของที่ถูกลืม แต่ความต้องการใช้ไม้ขีดไฟ ก็ไม่ได้หายไปซะทีเดียว
คนไทยรู้จัก ไม้ขีดไฟ เป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 4
โดยผู้ที่นำเข้ามาคือ บาทหลวง แต่ไม้ขีดไฟที่ใช้ในเวลานั้น ไม่ได้เป็นของคนไทย
แต่เป็นไม้ขีดไฟของบริษัท Swedish Match จากสวีเดน ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่เข้ามาเปิดการค้าไม้ขีดไฟ ในภูมิภาคเอเชีย หลังจากนั้นจึงมีบริษัทไม้ขีดไฟจากญี่ปุ่น มาตีตลาด
กระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 คนไทยถึงเริ่มมีโรงงานผลิตไม้ขีดไฟ เป็นของตัวเอง
โดยก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2473 ใช้ชื่อบริษัทว่า สยามแมตซ์ แฟ็กตอรี่ จำกัด
เพื่อผลิตไม้ขีดไฟ ภายใต้ชื่อว่า ตราธงไตรรงค์ และ ตราพระยานาค
ผ่านไป 10 ปี จึงเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท ไม้ขีดไฟไทย จำกัด
และจากอาศัยแรงงานคนเป็นหลักในการผลิต พอปี พ.ศ.​ 2525 ถึงเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรแทน
กระทั่งอีก 20 ปีต่อมา จึงเปลี่ยนชื่อบริษัทอีกครั้ง เป็น บริษัท จีไอเอฟ ไทย แมช จำกัด ซึ่งยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ในอดีต ไม้ขีดไฟ เคยเป็นธุรกิจที่รุ่งเรือง เพราะจัดว่าเป็นสินค้าสามัญประจำบ้าน ที่ทุกครัวเรือนต้องมี
สำหรับจุดไฟ เพื่อหุงหาอาหาร ถ้าเป็นวัดวาอาราม ก็ใช้เพื่อจุดเทียน จุดตะเกียง
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ความนิยมในการใช้ไม้ขีดไฟก็ค่อย ๆ น้อยลง
เพราะเจอคู่แข่ง ที่มาดิสรัปต์วงการไม้ขีดไฟ นั่นคือ ไฟแช็ก
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไฟแช็ก ถือกำเนิดมาก่อนไม้ขีดไฟ
แต่ด้วยราคาที่สูง ทำให้ไม่ได้รับความนิยม
จนต่อมา ราคาไฟแช็กเริ่มถูกลง แม้ว่าจะยังมีราคาสูงกว่าไม้ขีดไฟ แต่ด้วยจุดเด่นในเรื่องความสะดวกในการพกพา ไม่ต้องกังวลว่า ถ้าเผลอวางไว้แล้วชื้น จะจุดไม่ติด
ทำให้หลายครัวเรือน หันมาใช้ไฟแช็กกันมากขึ้น
แล้วรายได้ของแบรนด์ไฟแช็กในบ้านเรา เติบโตแค่ไหน
จริง ๆ แล้ว สภาพแวดล้อมของธุรกิจไฟแช็กกับไม้ขีดไฟ ในบ้านเรา
ไม่ได้แตกต่างกัน คือ มีผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย
อย่างธุรกิจไม้ขีดไฟ เคยสงสัยไหมว่า ทำไมต่อให้ ไม้ขีดไฟ ตราพระยานาค ไม่ต้องโฆษณาหรือทำการตลาด
ผู้บริโภคก็รู้จัก และนึกถึงแบรนด์อื่นแทบไม่ออก
เหตุผลก็เพราะ บริษัท จีไอเอฟ ไทย แมช จำกัด เป็นผู้ผลิตไม้ขีดไฟรายหลักเพียงเจ้าเดียว ในประเทศไทย
แถมยังรับผลิตให้กับแบรนด์ต่าง ๆ
ขณะที่ธุรกิจไฟแช็ก ก็มีผู้เล่นรายใหญ่ คือ TAIYO ซึ่งผลิตโดยบริษัท ไทยเมอร์รี่ จำกัด
โดยก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2527 เพื่อผลิตไฟแช็ก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2536 ได้ควบรวมกิจการของบริษัท N.S.B. อินดัสเตรียล จำกัด ซึ่งผลิตแผ่นขัดถู ไบรต์ขัดล้างจานหม้อ ยี่ห้อเมอร์รี่ไบรท์
ปัจจุบัน จึงเป็นผู้ผลิตทั้งไฟแช็กแก๊ส แผ่นใยขัดทำความสะอาด และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
​ซึ่งถ้าไปดูรายได้ของบริษัท ไทยเมอร์รี่ จำกัด จะพบว่ามีรายได้เป็นหลักพันล้าน
กลับมาที่ไม้ขีดไฟ ตราพระยานาค แม้จะถูกดิสรัปต์ด้วยไฟแช็ก ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ไม่ต่างกับไม้ขีดไฟ เพิ่มเติมคือ สะดวกกว่า
แต่เหตุผลที่ทำให้ไม้ขีดไฟยังขายได้ และเป็นธุรกิจที่ทำกำไร
อาจเป็นเพราะจุดเด่นของไม้ขีดไฟ ที่ไฟแช็กไม่อาจทดแทนได้
เช่น คุณสมบัติที่ไร้กลิ่น ทำให้หลายคนยังตัดใจจากไม้ขีดไฟไม่ลง ต้องมีติดบ้าน อย่างน้อยก็ไว้จุดเทียนหอม เพื่อแก้ปัญหา กลิ่นแก๊สของไฟแช็ก ที่อาจจะมาทำลายอรรถรส
หรือบางคนอาจจะรู้สึกถนัดหรืออุ่นใจมากกว่า เวลาใช้ไม้ขีดไฟ ​
อีกกลุ่มที่ดูเหมือนว่า จะเป็นตลาดสำคัญของไม้ขีดไฟ คือ บรรดาแบรนด์ หรือเชนโรงแรมที่มองว่า กล่องไม้ขีดไฟ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการตลาด และของสะสมสุดคลาสสิก
รู้หรือไม่ว่า นอกจากไม้ขีดไฟ ตราพระยานาค จะผลิตไม้ขีดไฟขายแล้ว
ยังรับผลิตกล่องไม้ขีดไฟสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ ไม่ว่าอยากได้ลวดลายกล่อง หัวและแท่งไม้ขีด จะทำเป็นสีไหนก็ได้หมด
ที่สำคัญ ไม่ได้ขายแค่ในประเทศ แต่ยังพร้อมส่งออกไปทั่วโลก​
จะว่าไป ธุรกิจไม้ขีดไฟ ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ท้าทายไม่น้อย
เพราะต่อให้จะไม่มีคู่แข่งในตลาด ให้ต้องปวดหัว
แต่โจทย์ที่ยากที่สุดของธุรกิจเวลานี้ คือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโต หรืออยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ
ซึ่งถ้าเลือกอย่างหลัง ก็น่ากลัวว่า
ไม้ขีดก้านนี้ จะส่องแสงได้อีกนานแค่ไหน..
อ้างอิง :
-http://www.thaimerry.com/iphone/aboutus_th.htm
-http://www.gifthaimatch.co.th/Introduction.htm
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.