กรุงศรี ฟินโนเวต เผยกลยุทธ์ 2564 ตั้งธงผลักดัน ธนาคารกรุงศรี สู่ดิจิทัลแบงก์เต็มตัว

กรุงศรี ฟินโนเวต เผยกลยุทธ์ 2564 ตั้งธงผลักดัน ธนาคารกรุงศรี สู่ดิจิทัลแบงก์เต็มตัว

13 พ.ค. 2021
กรุงศรี ฟินโนเวต Corporate Venture Capital (CVC) ในเครือกรุงศรี
ได้เผยความสำเร็จปี 2563 พร้อมประกาศเดินหน้ากลยุทธ์การดำเนินงานปี 2564
ผ่านงานแถลง ในหัวข้อ “Defining Mission of a Digital Bank”
กลยุทธ์และทิศทางการสร้างความร่วมมือระหว่างสตาร์ตอัปและธนาคาร สู่การเป็นผู้นำด้าน Digital Bank
นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า
“กรุงศรี ฟินโนเวต ได้ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 4 และประสบความสำเร็จเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นที่ส่งเสริมสตาร์ตอัปไทยในด้าน FinTech ขยายสู่สตาร์ตอัปในทุกสาขา
ตั้งแต่ยุค กรุงศรี ฟินโนเวต 1.0 (ปี 2560 - 2562)
ที่ทำความรู้จัก FinTech และอีโคซิสเต็มที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด
ทำโครงการศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัป และได้เข้าลงทุนในสตาร์ตอัป เช่น Finnomena
กรุงศรี ฟินโนเวต 2.0 (ปี 2563 - 2564)
ที่เร่งการทำโปรเจ็กซินเนอร์จี กับสตาร์ตอัปต่าง ๆ ทั้งรายเล็กและใหญ่ ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน
เช่น Shopee, Flash Express, Grap เพื่อมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับธนาคารกรุงศรี และอุตสาหกรรม
และมุ่งสู่ยุค กรุงศรี ฟินโนเวต 3.0
ขับเคลื่อนให้รวดเร็วมากขึ้น ด้วยการเจาะเข้าไปในอีโคซิสเต็มที่สำคัญ ที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของธนาคารกรุงศรีได้
ผ่านการหาสตาร์ตอัป ในอีโคซิสเต็ม ด้านอีคอมเมิร์ซ, Mobility, ที่อยู่บ้านอาศัย รวมถึง Blockchain Defi
ซึ่งกรุงศรี ฟินโนเวต จะเป็นพันธมิตรและเข้าไปลงทุนด้วย เมื่อเห็นว่าสามารถซินเนอร์จี ด้วยกันได้
สำหรับปี 2564 นี้ กรุงศรี ฟินโนเวต ไม่เพียงแต่มีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโต ผ่านการลงทุนในสตาร์ตอัปที่มีศักยภาพ แต่ยังเน้นไปที่การเป็นกุญแจสำคัญ ในการสนับสนุนการปรับตัวของธนาคารกรุงศรี สู่การเป็นดิจิทัลแบงก์อย่างเต็มตัว โดยมุ่งเดินหน้ากลยุทธ์การดำเนินงาน ดังนี้
1)การมุ่งสร้างและสนับสนุนสตาร์ตอัปในทุกระดับ และสร้างอีโคซิสเต็ม ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น (Venture Builder and Ecosystem)
ผ่านโครงการ Meet the Angels, Meet the Angels-Sandbox และ Krungsri Unicorn และการสร้างชุมชนสตาร์ตอัป
-Meet the Angels
ผลกระทบจากโควิด 19 ทำให้บรรดาสตาร์ตอัป ขาดรายได้ และเงินทุนใกล้จะหมด
กรุงศรี ฟินโนเวต จึงอยากจะช่วยเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงระหว่าง สตาร์ตอัป กับ Angel investor
ซึ่งโครงการนี้ เปิดโอกาสให้สตาร์ตอัปไทย ได้นำเสนอแผนธุรกิจ ผ่านทางออนไลน์ ให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ได้ฟัง เพื่อเพิ่มโอกาสในการระดมทุน
โดยโครงการมีสตาร์ตอัปเข้าร่วมโครงการกว่า 56 บริษัท ในเกือบทุกสาขาธุรกิจ และมีนักลงทุน เข้ามาฟังกว่า 170 คน
ทั้งนี้ ผู้ชนะในโครงการ ยังได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก กรุงศรี ฟินโนเวต
ได้ออฟฟิศให้อยู่ฟรีใน True Digital Park และได้รับคำปรึกษา จากทีมกรุงศรี ฟินโนเวต จนกว่าจะระดมทุนได้สำเร็จ
-Meet the Angels-Sandbox
โครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัป ที่ต่อยอดมาจาก Meet the Angels
จัดขึ้นเพื่อติดอาวุธให้กับสตาร์ตอัป โดยกรุงศรี ฟินโนเวต คัดเลือกมา 9 ทีม
เพื่อมาเข้าแคมป์เข้มข้น 3 เดือน โดยมีออฟฟิศให้อยู่ฟรี ที่ True Digital Park
มี Workshop ด้านต่าง ๆ ให้ เช่น กฎหมาย, การบริหาร
ซึ่งทั้งหมดฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือการแลกหุ้นใด ๆ
-Krungsri Unicorn
โครงการส่งเสริมพนักงานในองค์กรของกรุงศรี ให้พัฒนาศักยภาพ
โดยเปิดให้พนักงานนำเสนอไอเดียและแผนธุรกิจ เข้ามาให้พิจารณา
และจะมีทีมงานกรุงศรี ฟินโนเวต อยู่เบื้องหลัง เป็นพี่เลี้ยงพนักงานให้
พอผ่านการคัดเลือก ก็จะเข้าสู่รอบต่าง ๆ ได้แก่
รอบแรก (Pony)
โดยพนักงานจะทำโปรเจ็กสตาร์ตอัปแบบ Part-time หรือก็คือ พนักงานต้องสละเวลาตอนเย็นหรือวันหยุด เพื่อมาทำสตาร์ตอัป
รอบ 2 (Centaur)
มาถึงรอบนี้ พนักงานจะได้ย้ายจากแผนกเดิม ไปแผนก Innovation เพื่อทำสตาร์ตอัปแบบเต็มเวลา
ซึ่งมักเป็นช่วงเวลาที่ต้องพัฒนา Prototype
รอบ 3 (Unicorn)
เป็นขั้นตอนที่สตาร์ตอัป พร้อมออกสู่ตลาดจริง
ซึ่งอาจมีการตั้งสตาร์ตอัปนั้น ๆ เป็นแผนกใหม่ของกรุงศรี
หรือ Spin-off เป็นบริษัทใหม่ โดยมีกรุงศรี ฟินโนเวต เข้าร่วมลงทุน
2)การร่วมทำงานกับสตาร์ตอัป ในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partnership)
โดยกรุงศรี ฟินโนเวต จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงสตาร์ตอัป กับหน่วยธุรกิจภายใต้กรุงศรี กรุ๊ป โดยจะเน้นทำงานร่วมกับสตาร์ตอัป ที่สามารถเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจของกรุงศรี ในเรื่องการลดต้นทุน, การสร้างรายได้, การสร้างนวัตกรรม และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล
ปัจจุบัน กรุงศรี ฟินโนเวต กำลังทำงานร่วมกับสตาร์ตอัปกว่า 57 บริษัท กว่า 97 โปรเจ็ก
และส่งเสริมการทำงานด้านดิจิทัลของกรุงศรีและบริษัทในเครือ ถึง 35 หน่วยธุรกิจ
เช่น โปรเจ็กที่ทำงานร่วมกับบริษัท Baania
เพื่อนำข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาฯ เชิงลึก มาสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อด้านอสังหาฯ ของธนาคาร
ซึ่งช่วยลดขั้นตอนในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และต้นทุนดำเนินงาน
3)การลงทุนต่อเนื่อง (Investment)
ปัจจุบัน เงินกองทุนของ กรุงศรี ฟินโนเวต มีทั้งหมด 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4,710 ล้านบาท)
โดยจะเน้นเพิ่มการลงทุนในสตาร์ตอัปซีรีส์ A ขึ้นไป (อย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ครั้ง/บริษัท)
ในธุรกิจด้าน FinTech, อีคอมเมิร์ซ, โลจิสติกส์, AI, Blockchain, PropTech และ Software-as-a-service ทั้งในไทยและอาเซียน ที่มีศักยภาพ สามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาให้กับบริษัท
และยังเป็นธุรกิจ ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจต่าง ๆ ของกรุงศรี กรุ๊ป ในการพัฒนานวัตกรรมได้
โดยกรุงศรี ฟินโนเวต ได้ลงทุนไปแล้ว 11 การลงทุน
เช่น Finnomena, Omise, Grab, Flash Express, SBI Investment, Baania ฯลฯ
ซึ่งปีนี้ กรุงศรี ฟินโนเวต จะเพิ่มการลงทุนอีก 6 - 8 การลงทุน ด้วยเงินทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,140 ล้านบาท)
โดยตั้งเป้าว่า จะมีโปรเจ็กร่วมกับสตาร์ตอัป ในกลุ่มดังกล่าว รวมไม่ต่ำกว่า 120 โปรเจ็ก ในปี 2021
ทั้งหมดเหล่านี้เอง ทำให้กรุงศรี ฟินโนเวต ได้รับโหวตให้เป็นบริษัทลงทุนที่สตาร์ตอัป อยากร่วมงานด้วยมากที่สุด ภายใต้รางวัล “The Best Startup Synergy Awards 2021” จาก Techsauce ซึ่งถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จที่กรุงศรี ฟินโนเวต ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ ในมุมมองของกรุงศรี ฟินโนเวต
การจะเป็นดิจิทัลแบงก์แบบยั่งยืน และสามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นอย่างดีนั้น จะต้องมี 4 อย่างด้วยกัน
1)ต้องมีจุดขายที่ชัดเจน
เช่น ขั้นตอนการรับสมัครลูกค้าใหม่ ต้องทำได้ง่าย
การปล่อยสินเชื่อ ต้องทำได้อย่างรวดเร็ว และใช้เอกสารน้อยที่สุด
2)ยกระดับรายได้ดอกเบี้ย
รายได้หลักของ ดิจิทัลแบงก์ มาจากดอกเบี้ย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบุคคล และสินเชื่อ SME ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น เพิ่มความสามารถในการปล่อยกู้ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
3)ควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธ์ภาพ
เช่น ลดต้นทุนในการหาลูกค้าใหม่ (CAC) ให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยการใช้ AI มาช่วยหากลุ่มลูกค้าที่ชัดเชน
เอา AI และหุ่นยนต์ มาใช้ในส่วนงานที่ต้องซ้ำ ๆ เพื่อลดต้นทุน
4)มีอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่ง
งานบางอย่างไม่จำเป็นต้องทำเอง แต่สามารถเป็นพันธมิตรกับสตาร์ตอัปที่เก่ง ๆ เพื่อมาต่อยอดธุรกิจและขยายธุรกิจได้
แทนจะที่ต้องเริ่มต้นใหม่เองทั้งหมด ซึ่งจะใช้เวลานานหลายปี และไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.