ธุรกิจร้านอาหาร กำลังเจอศึกหนัก จากค่า GP มหาโหด

ธุรกิจร้านอาหาร กำลังเจอศึกหนัก จากค่า GP มหาโหด

15 พ.ค. 2021
หนึ่งในความทุกข์ระทม ของเจ้าของร้านอาหารในบ้านเราตอนนี้ ไม่ใช่แค่ผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19
แต่ค่า GP (Gross Profit) หรือ ค่าคอมมิชชัน ที่ร้านอาหารต้องกัดฟันจ่ายให้กับบรรดาแอป​ส่งอาหาร
ในอัตราที่สูงถึง 30% กำลังทำให้ธุรกิจร้านอาหารที่ย่ำแย่อยู่แล้ว
รู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะหากไม่ยอมเสีย ก็ต้องพลาดโอกาสในตลาดดิลิเวอรี
ที่กำลังกลายเป็นทางรอดเดียว ของหลายร้านอาหารในช่วงนี้
รู้หรือไม่ว่า ทุกครั้งที่เรากดสั่งอาหารผ่านแอป 1 ครั้ง
สมมติ ร้านอาหารมีออร์เดอร์เข้ามา 100 บาท
ร้านอาหารจะโดนหัก GP ทันที 30 บาท ซึ่งจะโดน VAT อีก 7% รวมเป็น 32.1 บาท
และจะเหลือเงินเข้ากระเป๋าเพียง 67.9 บาท
สรุปง่าย ๆ คือ ขายอาหารได้ราคาเท่าเดิม แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้น
แล้วถ้าถามว่า ร้านอาหารไปเอาเงินจากไหน มาจ่ายต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
คำตอบ คือ เฉือนจากกำไรที่มี..
อย่าลืมว่า ปกติร้านอาหารมีต้นทุนหลัก ๆ ที่ต้องแบกอยู่แล้ว
สมมติ ขายอาหารจานละ 100 บาท
-30 บาท เป็นค่าวัตถุดิบ
-15 บาท เป็นค่าพนักงาน
-15 บาท เป็นค่าเช่าร้าน
-อีก 5 ถึง 10 บาท เป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะ อย่างค่าสาธารณูปโภค หรือ ค่าทำการตลาด​
รวม ๆ แล้วต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 65-70 บาท และเหลือกำไรอยู่ที่ประมาณ 30-35 บาท​
พอเป็นแบบนี้ เมื่อจู่ ๆ ร้านอาหารต้องเปลี่ยนมาขายออนไลน์ แล้วต้องจ่าย GP ให้กับแอปส่งอาหาร
ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่นอกเหนือจากต้นทุนหลัก ก็เลยทำให้เจ้าของร้านอาหาร ต่างกุมขมับ
ขายไปกำไรแทบไม่เหลือ เพราะต้องเอามาจ่ายเป็นค่า GP หมด
ไม่ต้องคิดว่า ถ้าอยากจะเจียดเงินมาทำการตลาดเพิ่ม บนแอปส่งอาหาร เพื่อหวังเพิ่มยอดขาย ก็ต้องตั้งงบทำการตลาดมาจ่ายเพิ่มอีก จนเรียกว่าถึงจะขายดี แต่ก็ไม่มีกำไรเหลือ..
ครั้นจะตัดใจ ไม่ง้อแอปส่งอาหาร ก็ไม่ต่างจากการฆ่าตัวตายทางอ้อม
ยิ่งช่วงวิกฤติที่คนไม่ออกจากบ้าน แถมรัฐมีคำสั่งไม่ให้นั่งกินอาหารที่ร้านในบางพื้นที่แบบนี้
หลายคนเลือกที่จะใช้บริการฟูด ดิลิเวอรี มากกว่าออกมาหน้าร้าน
ดังนั้น ถ้ายังอยากได้ออร์เดอร์มาต่อลมหายใจ ร้านอาหารส่วนใหญ่ก็ไม่มีทางเลือก
นอกจากยอมจ่าย GP และได้แต่ฝากความหวังว่า บรรดาแอปส่งอาหารที่เรียกเก็บค่า GP
จะยอมลดค่า GP ลง เพื่อกอดคอกันผ่านช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปให้ได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ถ้าจะโทษแอปส่งอาหารฝ่ายเดียว ก็ดูจะใจร้ายเกินไป
เพราะธุรกิจเหล่านี้ ดูผิวเผิน อาจไม่ต่างจาก​ “เสือนอนกิน” ที่ลงทุนสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา
เพื่อเป็น “ตัวกลาง” ให้ลูกค้า​ ร้านอาหาร และคนขับส่งอาหาร มาเจอกันก็จริง​

แต่อย่าลืมว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้ ก็มีต้นทุนที่ต้องแบก
ตั้งแต่ ค่าพัฒนาแพลตฟอร์ม, ค่าพนักงาน, ค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายให้กับไรเดอร์ หรือคนขับที่คอยจัดส่งอาหาร, ค่าการตลาด เพื่อโปรโมตให้ผู้ใช้รู้จัก
แถมยังต้องขยันอัดโปรโมชัน ยอมควักเนื้อ จัดโปรค่าส่งฟรี หรือ คิดค่าส่งในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง เพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้บริการ
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมธุรกิจเหล่านี้ ยอดผู้ใช้งานโตระเบิด​ก็จริง แต่ยังไม่มีเจ้าไหน ที่สามารถทำกำไรได้
ถ้าไปลองดูผลประกอบการในปี 2562 ของแอปส่งอาหาร ในบ้านเรา จะพบว่า
Grab (รวมธุรกิจเรียกรถและส่งอาหาร) มีรายได้ 3,193 ล้านบาท ขาดทุน 1,650 ล้านบาท
Food Panda มีรายได้ 818 ล้านบาท ขาดทุน 1,265 ล้านบาท
Gojek มีรายได้ 133 ล้านบาท ขาดทุน 1,137 ล้านบาท
LINE MAN มีรายได้ 50 ล้านบาท ขาดทุน 157 ล้านบาท
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงพอเห็นภาพแล้วว่า ทำไมแอปเหล่านี้ ถึงต้องคิดค่า GP แพง
เพราะถ้าไม่แพง ตัวเลขการขาดทุนของแอปเหล่านี้ ก็จะยิ่งมากกว่านี้อีก
ถ้าจะโทษ ก็คงต้องโทษการแข่งขัน ที่ทุกแอปต้องเอาใจผู้บริโภค ยอมอัดโปรโมชัน ค่าส่งถูก
ตอนนี้ผู้บริโภคก็มีความเชื่อตรงกันแล้วว่า การสั่งอาหารจากแอป จะต้องจ่ายค่าส่งไม่แพง แอปเจ้าไหนค่าส่งแพงก็เปลี่ยนไปสั่งเจ้าอื่น
ดังนั้นถ้าอยากเป็นแอปที่ครองใจผู้ใช้ โปรโมชันส่งฟรี หรือ ส่วนลดค่าส่งและอาหาร ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น
แล้วจะทำอย่างไรให้ตัวเองบาดเจ็บน้อยที่สุด โดยที่ยังรักษาฐานลูกค้าไว้ได้ และธุรกิจอยู่รอด
คำตอบก็คือ ต้องไปเบียดเบียนเก็บ GP มหาโหดกับร้านอาหาร
สรุปแล้ว ผู้ที่ต้องรับหน้าที่ “เดอะแบก” นอกจากเจ้าของแอป ก็คือ ร้านอาหาร
ที่วันนี้ไม่ได้มีต้นทุนแค่ค่าเช่าหน้าร้าน​ แต่ถ้าอยากมีหน้าร้านบนโลกออนไลน์​
ก็ต้องยอมเฉือนกำไรมาจ่ายค่า GP
ในระยะหลัง จึงมีแอปทางเลือกที่ไม่เก็บ GP แม้แต่บาทเดียว นั่นก็คือโรบินฮู้ด ที่ SCB บอกเลยว่ายอมขาดทุนเพื่อเป็นโครงการ CSR ไม่ได้มุ่งหวังกำไร
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ผู้บริโภคจะย้ายมาสั่งในแอปนี้กันมากขึ้นหรือไม่
ส่วนร้านอาหาร ถ้ายังอยากอยู่ในแอปเดิม ๆ ที่เก็บ GP จะทำอย่างไร ?
ครั้นจะผลักภาระให้ลูกค้า ด้วยการขึ้นราคา หรือ ลดคุณภาพหรือปริมาณอาหารลง ก็ไม่ต่างจากการทุบหม้อข้าวตัวเอง หรือไล่ลูกค้าทางอ้อมอยู่ดี
ใครจะรู้ ไม่แน่ว่า​อนาคต เราอาจจะได้เห็นมิติใหม่ของร้านอาหาร
ที่ต้องตั้งราคาอาหารไว้ 2 ราคา สำหรับหน้าร้านกับหน้าแอป​ ซึ่งคงแปลกดีเหมือนกัน ทั้งที่กินอาหารเมนูเดียวกันแท้ ๆ แต่ต้องจ่ายคนละราคา
แต่ที่รู้ ๆ คือ วันนี้ ธุรกิจร้านอาหาร ที่หลายคนเคยมองว่าหอมหวาน
แต่ตอนนี้โครงสร้างต้นทุนเปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมไม่เหมือนเดิม
และคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะมีร้านอาหารบางราย ยอมยกธงขาว
โบกมือลาจากวงการ ไปอย่างน่าเสียดาย..
อ้างอิง :
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.