กว่าจะเป็น Dairy Queen ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ที่ครองใจคนทั้งโลก

กว่าจะเป็น Dairy Queen ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ที่ครองใจคนทั้งโลก

22 พ.ค. 2021
ถ้าความแตกต่าง คือ หนึ่งในหัวใจของการสร้างแบรนด์
Dairy Queen ไอศกรีมแบรนด์โปรดของใครหลายคน คงเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ตีโจทย์ข้อนี้ ได้แตกกระจุย
ตั้งแต่วันแรกที่วางขาย
เพราะแทนที่จะเปิดร้านขายไอศกรีม เพื่อขายไอศกรีมแบบแช่แข็ง ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย
Dairy Queen เลือกสร้างจุดต่าง ด้วยการฉีกแนวมาขายไอศกรีมแบบซอฟต์เสิร์ฟ (Soft Serve)
ซึ่งมีจุดเด่น คือ รสสัมผัสที่นุ่ม และละมุนลิ้น จนกลายเป็นตำนานความอร่อยหน้าใหม่ มานานถึง 80 ปี
แล้ว Dairy Queen มีที่มาที่ไปอย่างไร
ทำไมถึงขายดี แม้แต่นักลงทุนในตำนานอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังเป็นลูกค้า
แถมเขายังติดใจ จนต้องเข้ามาซื้อกิจการ..
Dairy Queen แจ้งเกิดในโลกของหวาน เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1938
จุดเริ่มต้นมาจากคุณ J.F. McCullough และ Alex ลูกชาย ซึ่งมีไอเดียว่า ไอศกรีมจะอร่อยขึ้น ถ้ามีรสสัมผัสที่นุ่มละมุน ไม่เหมือนไอศกรีมที่แช่แข็งตามร้านทั่วไป
เลยช่วยกันพัฒนาไอศกรีมสูตรใหม่ จนเกิดเป็นไอศกรีมแบบซอฟต์เสิร์ฟ
ถึงจะมั่นใจว่าไอศกรีมที่คิดเอง ชิมเอง อร่อยจริง
แต่สองปาก หรือจะสู้ไปทดลองตลาดจริง
พอคิดได้แบบนี้ สองพ่อลูกเลยไปชักชวนคุณ Sherb Noble ซึ่งเปิดร้านขายไอศกรีมอยู่แล้ว
ให้ลองนำไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ซึ่งถือว่าเป็นรสชาติแปลกใหม่ในสมัยนั้น ไปลองวางขาย
คุณ Sherb เลยเลือกบ่ายวันหนึ่งในฤดูร้อน จัดกิจกรรม “All You Can Eat for 10 Cents” ทดลองนำไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟมาขาย
ปรากฏว่าขายดีมาก แค่ 2 ชั่วโมง ขายได้ถึง 1,600 ถ้วย
ในตอนนั้นคุณ J.F. McCullough และลูกชาย รู้ทันทีว่า เขาไม่ได้เข้าข้างตัวเอง แถมไอศกรีมที่ว่านี้ยังน่าจะต่อยอดธุรกิจได้อีกมาก
ทั้งคู่จึงกลับไปทำการบ้านต่อว่า จะพัฒนาเครื่องทำไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟได้อย่างไร
เพราะกรรมวิธีและส่วนผสมในการผลิตไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ แตกต่างจากไอศกรีมแช่แข็งทั่วไป
ในขณะที่ไอศกรีมปกติ จะมีไขมันอยู่ที่ 10-18% ซึ่งผลิตและเก็บไว้ในเครื่องทำความเย็นที่อุณหภูมิ -15 องศาเซลเซียส ทำให้ไอศกรีมมีเนื้อแข็ง
แต่ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ จะมีไขมันเพียง 3-6% ผลิตที่อุณหภูมิประมาณ -4 องศาเซลเซียส ทำให้มีเนื้อครีมที่เนียนนุ่มกว่า และมีจำนวนแคลอรีที่น้อยกว่าไอศกรีมทั่วไป อย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากนี้ ถ้าเป็นซอฟต์เสิร์ฟ จะบรรจุอากาศเข้าไปน้อยกว่าไอศกรีมทั่วไปถึงครึ่งหนึ่ง
ทำให้ไอศกรีมที่ออกมา มีสีและรสชาติที่เข้มข้นกว่า​​ไอศกรีมปกติ
สองพ่อลูกใช้เวลา 2 ปี จึงสามารถคิดค้นอุปกรณ์ ที่จะใช้ผลิตไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟได้สำเร็จ และกลับมาหาคุณ Sherb อีกครั้ง
นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของร้าน Dairy Queen แห่งแรก ที่รัฐอิลลินอยส์ ของสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1940
โดยเหตุผลที่ตั้งชื่อว่า Dairy Queen เพราะคุณ J.F. McCullough มองว่า
ถ้าแม่วัว เปรียบเสมือนราชินีของการทำอุตสาหกรรมนม
ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟของเขา ก็ไม่ต่างจากราชินีของผลิตภัณฑ์นม หรือ Dairy Queen ซึ่งมีเอกลักษณ์คือไอศกรีมที่เนื้อนุ่ม หอมนม จนใครได้ชิมก็ติดใจ
นอกจากกลยุทธ์ที่เน้นสร้างความแตกต่างให้สินค้าแล้ว
อีกหนึ่งไม้ตายสำคัญในการปั้นแบรนด์ของ Dairy Queen ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว
คือ การบุกเบิกธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่มากในสมัยนั้น
ถ้าถามว่า Dairy Queen ประสบความสำเร็จกับการขยายแฟรนไชส์ขนาดไหน
ลองคิดดูว่า เพียง 15 ปีแรก Dairy Queen ก็ขยายสาขาเพิ่มเป็น 2,600 สาขา ในสหรัฐฯ
และปัจจุบันมีมากกว่า 7,000 สาขา ในสหรัฐฯ, แคนาดา และในอีก 18 ประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม นอกจากซอฟต์เสิร์ฟจะเป็นสินค้าเรือธง
พูดถึง Dairy Queen หลายคนต้องนึกถึง Blizzard ซึ่งนำไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ไปปั่นกับทอปปิงแบบถ้วยต่อถ้วย
ไม่ว่าจะเป็น โอริโอ, คิทแคท, ช็อกโกแลตบราวนี, มอคาอัลมอนด์ฟัดจ์ ฯลฯ
นอกจากจะมีดีที่รสชาติ ยังมีกิมมิก ด้วยการเสิร์ฟแบบคว่ำถ้วย อันเป็นเอกลักษณ์ เพื่อพิสูจน์ว่าไอศกรีมเหนียวแน่น เข้มข้น
รู้หรือไม่ว่า เบื้องหลังการคิดค้น Blizzard แท้จริงแล้ว มาจากคุณ Sam Temperato ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่ซื้อแฟรนไชส์ของ Dairy Queen มาเปิดร้านในสหรัฐฯ
เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งเขาไปเจอร้านค้าท้องถิ่นที่เสิร์ฟเมนู Frozen Custard ซึ่งเป็นไอศกรีมชนิดหนึ่ง ที่มีความโดดเด่น คือ เนื้อไอศกรีมที่เข้มข้นมาก
เพื่อพิสูจน์ว่า Frozen Custard มีเนื้อเข้มข้น เหมือนคอนกรีต ทางร้านก็ใช้เทคนิคคว่ำถ้วยตอนเสิร์ฟให้ลูกค้า
พอเห็นว่าไอเดียนี้เจ๋งสุด ๆ สามารถทำให้ร้านธรรมดา มีลูกค้าประจำมากมายได้
คุณ Sam เลยเอาไอเดียมาเสนอให้ผู้บริหารของ Dairy Queen ลองคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสื่อถึงความเข้มข้น เพื่อที่จะได้นำกิมมิกคว่ำถ้วยมาใช้บ้าง
เลยกลายเป็นที่มาของ Blizzard ซึ่งเริ่มวางขายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1985 ​
ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับถล่มทลาย เพียงปีแรกที่เปิดตัว สามารถทำยอดขายได้เกือบ 100 ล้านถ้วย
​และยังกลายเป็นเมนูที่ขายดีมาจนปัจจุบัน
ด้วยความนิยมของ Dairy Queen ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับโมเดลธุรกิจ ที่สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้ Dairy Queen ไม่เพียงมีลูกค้าคนดังอย่าง คุณวอร์เรน บัฟเฟตต์
นักลงทุนระดับตำนานของโลก และเป็นเจ้าของบริษัท Berkshire Hathaway
แต่ธุรกิจของ Dairy Queen ยังถูกใจคุณบัฟเฟตต์ เข้าอย่างจัง
ทำให้ในปี ค.ศ. 1998 บริษัท Berkshire Hathaway ได้เข้าซื้อกิจการ Dairy Queen ในราคา 18,000 ล้านบาท
และปัจจุบัน บริษัทยังคงเป็นเจ้าของ Dairy Queen แบรนด์ไอศกรีมยอดฮิต ที่ครองใจคนทั้งโลก
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า
แล้ว Dairy Queen เข้ามาเสิร์ฟความอร่อยในบ้านเราได้อย่างไร
สำหรับ Dairy Queen ในประเทศไทย ถูกซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาโดยบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT
ซึ่งเป็นเจ้าของเชนร้านอาหารชื่อดังในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็น The Pizza Company, Swensen's, Sizzler และอีกมากมาย
โดยประเดิมสาขาแรกที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อปี ค.ศ. 1996 หรือเมื่อ 25 ปีก่อน
ก่อนจะขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปี ค.ศ. 2020 Dairy Queen มีสาขาในไทยทั้งหมด 496 สาขา
เป็นสาขาที่ลงทุนเองจำนวน 240 สาขา และสาขาที่อยู่ในระบบแฟรนไชส์ 256 สาขา
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ว่า หากต้องการขอแฟรนไชส์ เพื่อเปิดร้านไอศกรีม Dairy Queen ในบ้านเรา
จะต้องมีเงินลงทุนเริ่มต้นประมาณ 1.8-2.2 ล้านบาทต่อสาขา เลยทีเดียว..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.