EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 โตเหลือ 1.9% คาดเศรษฐกิจ จะกลับไปเท่าก่อนช่วงโควิด ปี 2566

EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 โตเหลือ 1.9% คาดเศรษฐกิจ จะกลับไปเท่าก่อนช่วงโควิด ปี 2566

1 มิ.ย. 2021
ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เผยถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย
สำหรับเศรษฐกิจไทย ปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 1.9% (ปรับลดจากประมาณการเดิมที่ 2.0%)
-มูลค่าส่งออกของไทย
มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก มูลค่าการส่งออกที่หักทองคำในช่วง 4 เดือนแรกขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 12.8%YOY และกระจายตัวไปในกลุ่มสินค้าหลักเกือบทุกประเภท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาช่วงที่เหลือของปี แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวดีโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว และราคาสินค้าส่งออกที่เร่งตัวขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภท จึงทำให้คาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ที่จะมีปัจจัยฐานต่ำเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม
ดังนั้น EIC จึงปรับประมาณการมูลค่าการส่งออกขยายตัวที่ 15.0% จากเดิมที่ 8.6% ทั้งนี้การส่งออกที่ปรับดีขึ้น จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในส่วนของการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักร แต่การลงทุนภาคเอกชนด้านการก่อสร้าง ยังมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องตามการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของภาคอสังหาริมทรัพย์
-ในส่วนของภาคท่องเที่ยว
EIC ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 เหลือ 4 แสนคน จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 1.5 ล้านคน โดยแม้ว่าไทยจะมีแผนการผ่อนคลายนโยบายเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว เช่น Phuket sandbox แต่หลายประเทศทั่วโลก ยังมีนโยบายการเปิดประเทศให้คนเดินทางเข้าออกที่ค่อนข้างระมัดระวัง เนื่องจากความกังวลด้านการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่
ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร (UK) ที่แม้จะมีการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศในระดับสูงแล้ว แต่ก็มีนโยบาย การเดินทางเข้าออกประเทศที่รัดกุม โดยจะใช้ระบบ Traffic Light system หรือระบบที่แบ่งประเทศทั่วโลกเป็นสีต่าง ๆ ได้แก่ สีแดง เหลือง และเขียว ตามลำดับ จากความเข้มงวดมากไปน้อย
เพื่อกำหนดว่าคนที่เดินทางกลับเข้า UK จะต้องมีการกักตัวกี่วัน (ไทยถูกจัดอยู่ในประเทศสีเหลืองซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องกักตัวที่บ้าน 10 วันเมื่อกลับถึง UK)
ดังนั้น หากประเทศต่าง ๆ ที่เริ่มมีภูมิคุ้มกันหมู่ก่อน เลือกใช้นโยบายที่รัดกุมคล้าย UK ก็จะทำให้การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกจะยังล่าช้าออกไปอีก ทำให้ EIC ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในรอบนี้
-ด้านเศรษฐกิจในประเทศ
จะได้รับความเสียหายจากการระบาดของ COVID-19 ในประเทศระลอกที่ 3 ที่มากกว่าคาด แม้ทางการจะหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการ lockdown ที่เข้มงวดมาก เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ
แต่การระบาดในระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนมีความกังวลส่งผลให้การเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงค่อนข้างมาก สะท้อนจากเครื่องชี้เร็ว เช่น mobility data ต่าง ๆ
นอกจากนั้น ในคาดการณ์รอบก่อน EIC เคยคาดไว้ว่าการระบาดระลอกที่ 3 จะใช้เวลาควบคุมราว 3 เดือน แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ปรับแย่ลงกว่าเดิม สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อและคลัสเตอร์ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น
จึงทำให้คาดว่าระยะเวลาในการควบคุมการระบาดจะยาวนานขึ้นเป็น 4 เดือน ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนราว 3.1 แสนล้านบาท ซึ่งรวมถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศที่ปรับลดลงอีกด้วย
นอกจากนี้ การระบาดที่ยืดเยื้อยังมีแนวโน้มทำให้แผลเป็นทางเศรษฐกิจ (economic scars) ลึกขึ้น ซึ่งข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าอัตราการว่างงาน กลับมามีทิศทางเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีโดยเพิ่มจาก 1.86% ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.96% คิดเป็นจำนวน ผู้ว่างงาน 7.6 แสนคน ซึ่งสูงกว่าช่วงปิดเมืองรอบแรกเมื่อปีก่อนไปแล้ว
ทั้งนี้อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาในไตรมาสแรกนี้ ยังไม่ได้รวมเอาผลของการระบาดระลอก 3 ซึ่งมีความรุนแรงมากเข้าไปด้วย ตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยจึงมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นได้อีก
ในขณะเดียวกัน จำนวนชั่วโมงทำงานก็ปรับตัวลดลงในไตรมาสแรกที่ -1.8% จากจำนวนคนทำงานต่ำระดับ (ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนเสมือนว่างงานที่ยังไม่ตกงานแต่ไม่มีการทำงานและไม่มีรายได้ที่มีอยู่ถึง 7.8 แสนคน เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจาก 3.6 แสนคน ในไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่จำนวนคนทำงานเต็มเวลาและล่วงเวลาลดต่ำลง
นอกจากนี้ รายได้จากการทำงาน ซึ่งประกอบไปด้วยเงินเดือน โบนัส และค่าแรงโอที ก็ยังหดตัวอย่างมีนัยสำคัญถึง -8.8% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในทุกสาขาธุรกิจสำคัญนอกภาคเกษตร
ทั้งนี้แผลเป็นในตลาดแรงงานที่ลึกขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้และความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน ทำให้การใช้จ่ายฟื้นตัวได้ยากและกระบวนการซ่อมแซมงบดุลของภาคครัวเรือนจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้เป็นไปได้อย่างล่าช้า
โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีตาม GDP ที่ยังคงหดตัว ก่อนที่จะทรงตัวในระดับสูงตลอดปี 2564 ตามมาตรการพักชำระหนี้ที่ยังมีอยู่ ขณะที่รายได้ไม่ได้ฟื้นตัวเร็วนัก ทำให้ปัญหาหนี้สูง (debt overhang) จะเป็นอีกอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะข้างหน้า
-ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจในปี 2564
ผ่านการใช้จ่ายทั้งในและนอกงบประมาณ โดยในส่วนของรายจ่ายในงบประมาณ EIC คาดว่าภาครัฐจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนก่อสร้างในปี 2564 ให้ขยายตัวได้ถึง 9.6% จากการก่อสร้าง หลายโครงการ อาทิ รถไฟความเร็วสูง กทม.-นครราชสีมา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟทางคู่ เป็นต้น
ขณะที่รายจ่ายนอกงบประมาณ ส่วนใหญ่จะมาจากมาตรการภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่มีเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจในปีนี้ราว 5.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2.9 แสนล้านบาท ก่อนการระบาดรอบ 3 และมีการอนุมัติเพิ่มเติมอีกราว 2.4 แสนล้านบาท หลังมีการระบาดรอบ 3 ซึ่งเป็นการใช้เม็ดเงินจนหมดวงเงิน 1 ล้านล้านบาท
โดยมาตรการที่ออกมาใหม่ ได้แก่ การลดค่าน้ำค่าไฟ การขยายมาตรการเราชนะและ ม.33 เรารักกัน การให้เงินผู้ถือบัตรสวัสดิการ คนละครึ่งระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
นอกจากนี้ ล่าสุดภาครัฐยังได้ออก พรก. กู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถใช้วงเงินได้จนถึงช่วงปีหน้า โดยจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาด
ทำให้ EIC คาดว่าภาครัฐมีแนวโน้มใช้เม็ดเงินจากวงเงินใหม่เพิ่มเติมอีกราว 1 แสนล้านบาท เข้าสู่เศรษฐกิจในปี 2564 นี้
ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐดังกล่าว จะเป็นส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้การบริโภคภาคเอกชนจะไม่ปรับลดลงมาก แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 ที่นานกว่าคาด
โดย EIC คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 1.9% ในปีนี้ ปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมเล็กน้อยที่ 2.0%
-สำหรับค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2564
EIC คาดว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากสิ้นปีก่อนมาอยู่ในช่วง 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยนับจากช่วงต้นปีนี้ เงินบาทได้อ่อนค่าลง 4.2% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่มากกว่าค่าเงินสกุลส่วนใหญ่ ในภูมิภาค
ตามแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ชะลอลงจากการระบาดระลอกใหม่ และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดต่ำลงเป็นสำคัญ
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2564 EIC มองว่า ปัจจัยภายในประเทศไทยจะยังคงเป็นแรงกดดันด้านอ่อนค่าต่อเงินบาท ทั้งจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจขาดดุลครั้งแรกในรอบ 8 ปี และเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดการเงินไทยค่อนข้างจำกัด
อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จะไม่อ่อนค่ามากเนื่องจากดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนลงในช่วงครึ่งหลังด้วยเช่นกัน ตามการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ โดยเฉพาะยุโรปที่จะทยอยเร่งตัวขึ้นในระยะข้างหน้า
ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มชะลอลง ประกอบกับในช่วงครึ่งหลังของปีธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลง (ทำ QE taper) ก่อนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มีแนวโน้มดำเนินการในช่วงต้นปี 2565
ทั้งนี้ค่าเงินบาทอาจกลับมาโน้มแข็งขึ้นได้อีกครั้ง ในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า หากไทยมีความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนจนใกล้จะมีภาวะภูมิคุ้มกันหมู่
-สำหรับความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป
ประกอบไปด้วย 1) ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดระลอกที่ 3 ที่อาจนานกว่าคาด รวมทั้งการระบาดรอบใหม่อาจเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ยังมีการฉีดวัคซีนในระดับต่ำ
2) ความล่าช้าในการฉีดวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีนที่อาจมีไม่สูงพอ โดยเฉพาะกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่
3) การกลับมาระบาดหรือการระบาดรอบใหม่ ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชีย อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทย
4) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด เช่น ภาวะหนี้เสียที่อาจปรับเพิ่มขึ้นมาก
-EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้ายังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า
โดยเศรษฐกิจจะต้องรอถึงช่วงต้นปี 2566 จึงจะกลับไปเท่ากับระดับ GDP ก่อนเกิด COVID-19 และมีแนวโน้มที่จะเกิด Permanent Output Loss ขนาดใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคท่องเที่ยวในระดับสูง โดยภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า
ประกอบกับยังมีอีกหลายปัจจัยท้าทายการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น แผลเป็นทางเศรษฐกิจของไทยที่ค่อนข้างรุนแรง, ความเปราะบางที่สะสมมาก่อนหน้าจากหนี้ครัวเรือนที่สูง, SMEs มีปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขันที่รุนแรง
ดังนั้น ภาครัฐซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักในยามวิกฤติ จึงควรออกมาตรการเพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วขึ้นและลดขนาด ของ permanent output loss โดย EIC เห็นว่าการออก พรก. 5 แสนล้านบาทเพิ่มเติมของภาครัฐ เป็นนโยบายที่มีความเหมาะสมเชิงหลักการ
แต่ในทางปฏิบัติควรพิจารณาใช้เงินอย่างคุ้มค่าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดผลกระทบ ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเฉพาะการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีน, การช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบหนัก และการสนับสนุนการจ้างงาน
ควบคู่กับการออกมาตรการเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสำหรับการฟื้นตัวในระยะปานกลาง และยาว อาทิ การปรับทักษะของแรงงาน (Up/Re-skill) ให้ทันต่อยุคสมัย โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล, การส่งเสริม SMEs ให้มีความรู้และสามารถปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ในทางปฏิบัติ และการสนับสนุน New growth industries ที่จะกลายเป็นเครื่องยนต์พัฒนาเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต
สำหรับระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้แม้จะมีแนวโน้มที่จะสูงกว่า 60% ของ GDP ได้ในปีหน้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งช่วยให้สัดส่วนภาระการชำระดอกเบี้ยต่อรายได้ภาครัฐยังไม่สูงนัก
อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า มีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องมีแผนงานเชิงปฏิบัติที่ชัดเจนในการขยายฐานรายได้ภาครัฐและการบริหารจัดสรรค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังต่อไป
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.