“Workday” ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ บริหารทรัพยากรบุคคล มูลค่าล้านล้าน

“Workday” ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ บริหารทรัพยากรบุคคล มูลค่าล้านล้าน

6 มิ.ย. 2021
ถ้าลองนึกถึงซอฟต์แวร์ ที่เราใช้สำหรับการทำงานอยู่ในตอนนี้
ก็คงจะมี Dropbox, Slack, Zoom, Salesforce, Adobe หรือ Office 365 เป็นต้น
ซึ่งซอฟต์แวร์ที่ยกตัวอย่างนี้ ถูกจัดอยู่ในประเภท “SaaS” (Software as a Service)
SaaS พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นกลุ่มซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่ง ที่ผู้ใช้งานสามารถเรียกใช้งานผ่านระบบคลาวด์
ซึ่งจะมีจุดเด่นคือ สามารถเชื่อมต่อได้ทุกที่ ทุกเวลา
และไม่ต้องกลัวว่าข้อมูลจะสูญหาย ถ้าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เสีย เช่น คอมพิวเตอร์, สมาร์ตโฟน เพราะข้อมูลถูกบันทึกไว้ในระบบคลาวด์ทั้งหมด
โดยส่วนใหญ่แล้ว เราจะคุ้นเคยกับซอฟต์แวร์ SaaS ที่ใช้สำหรับการทำงานในชีวิตประจำวัน หรือการติดต่อสื่อสาร
แต่ปัจจุบัน มีซอฟต์แวร์ประเภท SaaS อีกหนึ่งตัว ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจรู้จักกันดีในสายบริหารทรัพยากรบุคคล (HR)
ซอฟต์แวร์ที่ว่านี้ มีชื่อว่า “Workday” ผลิตโดยบริษัท Workday, Inc.
ที่น่าสนใจ คือ บริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์นี้ มีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว
Workday ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2005
โดยคุณ David Duffield และ Aneel Bhusri ร่วมกับบริษัทด้านการลงทุน Greylock Partners
ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากการนัดทานข้าวรำลึกความหลัง ของ 2 ผู้ก่อตั้ง ที่เป็นเพื่อนสนิทกัน
โดยคุณ David ได้ชวนคุณ Aneel พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องบทบาทของเทคโนโลยีคลาวด์ และการหาประโยชน์ จากการใช้เทคโนโลยีแห่งอนาคตตัวนี้
และหลังจากนั้นไม่กี่เดือน
พวกเขาจึงได้เริ่มก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์บริหารทรัพยากรบุคคลแบบคลาวด์ ที่ชื่อ “Workday” ขึ้นมา
ทั้งนี้ ในอดีตคุณ David เคยมีประสบการณ์ตรงด้านธุรกิจมาก่อน โดยก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์บริหารทรัพยากรบุคคล ที่มีชื่อว่า “PeopleSoft” ตอนปี ค.ศ. 1987
ก่อนจะขายกิจการให้กับ Oracle Corporation ในเวลาต่อมา
แต่การเข้าซื้อกิจการของ Oracle เป็นไปในรูปแบบ การครอบงำกิจการอย่างไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover)
และด้วยวิสัยทัศน์ที่ไม่ตรงกัน ระหว่างผู้บริหารของทั้ง 2 บริษัท
จึงทำให้คุณ David กับอดีตผู้บริหารที่เป็นเพื่อนสนิทของเขา อย่างคุณ Aneel
ได้ตัดสินใจแยกตัวออกมา เพื่อก่อตั้งบริษัทของพวกเขาเอง
จากเรื่องราวจุดเริ่มต้นทั้งหมดนี้
อาจกล่าวได้ว่า ซอฟต์แวร์ “PeopleSoft” เป็นต้นแบบการกำเนิดของซอฟต์แวร์บริหารทรัพยากรบุคคล “Workday” ในปัจจุบัน
เพียงแต่ จุดแตกต่างสำคัญของซอฟต์แวร์ Workday คือ มีการพัฒนาการให้บริการ ให้อยู่ในรูปแบบแพลตฟอร์มเว็บไซต์ และสำรองข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ นั่นเอง
หรือก็คือคุณ David ได้เรียนรู้ถึงจุดบอด จากธุรกิจเดิมที่เคยทำ
และนำความทันสมัยของเทคโนโลยีคลาวด์ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดความได้เปรียบ
ซึ่งหลังจากวันที่ก่อตั้ง Workday ได้เพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น
บริษัทก็สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ได้สำเร็จ
แล้วซอฟต์แวร์ของ Workday ทำอะไรได้บ้าง ?
การทำงานของซอฟต์แวร์ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน
ส่วนที่ 1 : Human Capital Management
ในส่วนนี้ จะเป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยจัดการในเรื่องของ กลุ่มพนักงานของบริษัทลูกค้า เช่น
- การจัดองค์กร การจ่ายเงินชดเชย ระบบการลางาน/ขาดงาน
- ตรวจเช็กเวลาการทำงาน และประเมินผลประสิทธิภาพของพนักงาน
- สำรวจและรวบรวม Feedback ระหว่างการทำงาน ของแต่ละบุคคล
- ในส่วนของการจ้างงาน หรือการจัดหาผู้เข้าสมัคร ให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่งานในองค์กร
ส่วนที่ 2 : Financial Management
ในส่วนนี้ ซอฟต์แวร์จะมีการให้บริการที่โฟกัส สำหรับการบริหารทางการเงินขององค์กร
- การจัดการเรื่องการเงินและบัญชี พร้อมการรายงานกระแสเงินสดของบริษัท
- ระบบตรวจสอบค่าใช้จ่ายของบริษัท
- ระบบการออกใบเรียกเก็บเงิน หรือติดตามใบเสนอราคา
- ระบบที่การจัดการเรื่องของ การอนุมัติค่าใช้จ่าย หรืองบประจำเดือน/ปี ของบริษัท
และจุดเด่นที่สร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้งาน ที่เป็นฝ่ายบริหารบุคลากรของบริษัท คือ
- ช่วยประหยัดเวลาการทำงาน ลดเวลาในการทำงานกับเรื่องที่ไม่จำเป็น
- สร้างความยืดหยุ่นและความรวดเร็ว สำหรับเรื่องการจัดทำเอกสารในธุรกิจ
- ไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลสำคัญจะหาย หรือไม่มีที่เก็บเอกสาร เพราะข้อมูลทั้งหมด จะถูกสร้างและสำรองผ่านระบบคลาวด์ ที่มีความปลอดภัยสูง
- เป็นตัวช่วยให้บริษัทสามารถวางแผนในการพัฒนาทักษะและศักยภาพ ของตัวพนักงานได้อย่างมีแบบแผนและมีประสิทธิภาพ
โดยฟังก์ชันและประโยชน์จากการใช้งานทั้งหมด
ก็จะมีความสอดคล้องกับคอนเซปต์ของ Workday ที่คุณ David ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่วันแรกว่า
“Workday จะกลายเป็นนวัตกรรม ซอฟต์แวร์บริหารบุคลากร ที่ใช้พลังของระบบคลาวด์ เพื่อช่วยให้ผู้บริหารสามารถจัดการกับความท้าทายใหม่ ๆ และเติบโตได้อย่างไม่มีขีดจำกัด”
คำถามที่น่าสนใจ คือ
ทำไม Workday ถึงสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ ให้มีการทำงานที่หลากหลาย ได้ขนาดนี้ ?
ส่วนสำคัญก็มาจาก กลยุทธ์การเข้าซื้อบริษัทสตาร์ตอัปต่าง ๆ นั่นเอง
จากนั้น ก็นำฟังก์ชันทุกอย่างมาเสริมความแข็งแกร่ง และรวมกันไว้ที่ซอฟต์แวร์ Workday
ยกตัวอย่างเช่น
ในปี ค.ศ. 2008 ได้เข้าซื้อบริษัท “Cape Clear” บริษัทพัฒนาระบบเครือข่ายแบบเซิร์ฟเวอร์
ในปี ค.ศ. 2015 ได้เข้าซื้อบริษัท “Upshot” บริษัทออกแบบระบบบริหารศักยภาพบุคลากร
ในปี ค.ศ. 2018 ได้เข้าซื้อบริษัท “SkipFlag” บริษัทผู้พัฒนาระบบ AI Machine Learning
ปัจจุบันบริษัท Workday ได้เข้าทำการกว้านซื้อบริษัทสตาร์ตอัป ไปแล้วกว่า 13 บริษัท
หรือคิดเป็นจำนวนเงินในการลงทุน ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
แล้วผลการดำเนินงานของ Workday เป็นอย่างไรบ้าง ?
ปี 2019 รายได้ 88,500 ล้านบาท ขาดทุน 14,500 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 113,700 ล้านบาท ขาดทุน 15,700 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 135,500 ล้านบาท ขาดทุน 7,700 ล้านบาท
(รอบบัญชีปี 2021 ปิดงบเดือนมกราคม 2021)
โดยสัดส่วนรายได้มาจาก
- การเก็บค่าบริการรายเดือนของลูกค้าบริษัท สำหรับการให้บริการซอฟต์แวร์ผ่านระบบคลาวด์ 88%
- การให้บริการฝึกสอน และช่วยเหลืออื่น ๆ 12%
อีกจุดเด่นของธุรกิจคลาวด์ และ Workday คือ
ธุรกิจจะสามารถเติบโตไปพร้อม ๆ กับบริษัทของลูกค้า
เพราะยิ่งลูกค้าขยายองค์กรมากเท่าไร ก็อาจต้องรับพนักงานเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
และ Workday ก็จะสามารถเรียกเก็บค่าบริการรายเดือน ได้มากขึ้นตามจำนวนผู้ใช้งาน นั่นเอง
โดยปัจจุบัน Workday มีกลุ่มลูกค้า ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม
เช่น VISA, Booking Holdings, Johnson & Johnson, FedEx, AIA และ Netflix
สำหรับประเทศไทย Workday ได้เข้ามาขยายสาขาการให้บริการอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018
ซึ่งมีลูกค้าเป็นบริษัทชื่อดัง อาทิ อโกด้า (Agoda), บริษัท ไทยกูลิโกะ, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น เป็นต้น
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.